ควินัว ประโยชน์เต็มเมล็ดกับคุณสมบัติต้านโรค

หลายคนอาจคุ้นหูกับเมล็ดพืชที่ชื่อ ควินัว เพราะมักจะเห็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีควินัวเป็นส่วนประกอบ เช่น สลัดควินัว ข้าวผัดควินัว หรือกระทั่งโปรตีนเชคผสมควินัว เป็นต้น โดยควินัวกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพขณะนี้ แต่คงมีคนอีกจำนวนไม่น้อยสงสัยว่าควินัวคืออะไร และมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร ?

1705 ควินัว rs

ควินัว คือ อะไร ?

หลายคนอาจสับสนว่าควินัวจัดเป็นธัญพืชเต็มเมล็ดหรือไม่ ที่จริงแล้วควินัวเป็นเมล็ดพืชของต้น Chenopodium Quinoa ที่นิยมปลูกกันในประเทศเปรูและโบลิเวีย ซึ่งควินัวแตกต่างจากธัญพืชอื่น ๆ อย่างข้าวโอ๊ตหรือข้าวบาร์เลย์ที่เป็นเมล็ดพืชตระกูลหญ้า แต่ด้วยวิธีการบริโภคและคุณค่าทางสารอาหารของควินัวที่คล้ายคลึงกับธัญพืชทั่วไปมาก ควินัวจึงถูกจัดอยู่ในธัญพืชประเภทเทียม (Pseudo-Cereal) หรือพืชที่สามารถนำเมล็ดมารับประทานได้เหมือนธัญพืช แต่ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทหญ้า

สารอาหารสำคัญในควินัว

ควินัวอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญหลากชนิด ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการเมื่อเปรียบเทียบกับธัญพืชที่ผ่านกระบวนการขัดสี และมีโปรตีนสูงแต่มีไขมันต่ำ โดยควินัวที่สุกแล้ว 1 ถ้วย จะให้พลังงาน 222 แคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 39 กรัม โปรตีน 8 กรัม ไขมัน 6 กรัม เส้นใยอาหาร 5 กรัม น้ำตาล 1 กรัม และมีสารอาหารสำคัญอื่น ๆ เช่น แมงกานีส แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โฟเลต ทองแดง และธาตุเหล็ก เป็นต้น นอกจากนี้ ควินัวยังปราศจากโปรตีนกลูเตน การเลือกรับประทานควินัวจึงดีต่อสุขภาพและยังเหมาะกับผู้ที่แพ้กลูเตนอีกด้วย

ควินัวกับประโยชน์ต่อสุขภาพ

นอกจากควินัวจะมีประโยชน์ในเชิงโภชนาการแล้ว การรับประทานควินัวอาจส่งผลดีต่อสุขภาพได้อีกด้วย โดยมีข้อมูลทางการแพทย์บางส่วนที่ศึกษาคุณประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของควินัวไว้ ดังนี้

ควินัวอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

การรับประทานควินัวอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีงานวิจัยหนึ่งพบว่า การบริโภคเส้นใยอาหารจากควินัวปริมาณ 16 กรัมต่อวัน อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้

นอกจากนั้น งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทดสอบคุณสมบัติด้านเดียวกันนี้ในหนูทดลองก็พบว่าควินัวอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดผลกระทบอื่น ๆ ที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็ก จึงควรมีการค้นคว้าเพิ่มเติมกับกลุ่มคนจำนวนมากต่อไป เพื่อยืนยันประสิทธิผลดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ควินัวอาจช่วยลดน้ำหนัก

ควินัวอาจมีคุณสมบัติช่วยลดน้ำหนักได้ เนื่องจากควินัวมีโปรตีนปริมาณมากเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารที่คล้ายคลึงกันอย่างข้าว ข้าวโพด และธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งงานวิจัยหนึ่งพบว่าโปรตีนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลดน้ำหนัก โดยจะช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย ช่วยลดความหิว และอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนและโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ควินัวยังมีเส้นใยอาหารสูง หากรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงอย่างควินัวจะช่วยให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ดีต่อสุขภาพลำไส้และการขับถ่ายอีกด้วย

ควินัวอาจช่วยลดระดับไขมันในเลือด

การรับประทานควินัวอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่เผชิญภาวะไขมันในเลือดสูง โดยมีงานวิจัยที่พบว่าการรับประทานควินัววันละ 50 กรัมติดต่อกันนาน 6 สัปดาห์ อาจช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และไขมันไตรกลีเซอไรด์ด้วย อย่างไรก็ตาม ระดับไขมันต่าง ๆ ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และการรับประทานควินัวอาจไปลดระดับของไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีอีกด้วย

ควินัวอาจช่วยต้านการอักเสบ

มีความเชื่อว่าอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอาจช่วยต้านการอักเสบในร่างกายได้ ซึ่งควินัวก็ขึ้นชื่อว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระสูงเช่นกัน โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวว่าสารซาโปนิน (Saponin) ในควินัวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และอาจช่วยยับยั้งการผลิตสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบของเซลล์ในร่างกายได้ถึง 25-90 เปอร์เซ็นต์

รับประทานควินัวอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ ?

ก่อนนำควินัวมาปรุงอาหารทุกครั้ง ควรล้างควินัวด้วยน้ำสะอาดเพื่อกำจัดสารตกค้างและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออก จากนั้นนำควินัวใส่ลงในตะแกรงแล้วล้างโดยให้น้ำไหลผ่าน สะเด็ดน้ำออกแล้วนำควินัวลงไปคั่วในกระทะประมาณ 5 นาที ก่อนนำไปต้มหรืออบเพื่อรสชาติและกลิ่นหอมเหมาะแก่การรับประทาน

เคล็ดลับต่อไปนี้ อาจช่วยเพิ่มความอร่อยและเพิ่มคุณค่าทางสารอาหารในควินัวได้

  • ผัดควินัวกับผักต่าง ๆ เช่น พริกหวาน และใบโหระพา เป็นต้น
  • ใส่ควินัวลงในสลัดพร้อมกับเกรปฟรุต อัลมอนด์ และใบสะระแหน่
  • ทำของหวานที่มีควินัวเป็นส่วนประกอบ เช่น พุดดิ้ง และแพนเค้ก เป็นต้น

การรับประทานควินัวมีผลข้างเคียงหรือไม่ ?

ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ใด ๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการรับประทานควินัวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานควินัวในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ เพราะสารไฟเตต (Phytates) ในควินัวอาจยับยั้งการดูดซึมแร่ธาตุสำคัญบางชนิดอย่างธาตุเหล็กและสังกะสีได้ นอกจากนี้ การรับประทานควินัวอาจมีส่วนทำให้แร่ธาตุต่าง ๆ รวมตัวกันจนเกิดเป็นนิ่วในไตได้

ส่วนการรับประทานควินัวในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตรนั้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุถึงด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพได้อย่างแน่ชัด ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรก็ควรรับประทานธัญพืชชนิดนี้ด้วยความระมัดระวัง