คนท้องเป็นโควิด ความเสี่ยงต่อสุขภาพและวิธีการรับมือ

รู้หรือไม่ คนท้องอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคโควิดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เพราะระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์ ซึ่งการที่คนท้องเป็นโควิดอาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตัวผู้ที่ตั้งครรภ์เองและทารกในครรภ์ได้หลายประการเลยทีเดียว เช่น การเกิดอาการของโรคโควิดที่รุนแรง ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือการคลอดก่อนกำหนด

โรคโควิด (COVID-19) เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ แต่มักมีอาการรุนแรงกว่าและมีความอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่ตั้งครรภ์จึงถูกจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงอันดับแรก ๆ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด และทำให้อัตราการเกิดโรคโควิดของผู้ที่ตั้งครรภ์ลดต่ำลงมากในปัจจุบัน

คนท้องเป็นโควิด

4 ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อคนท้องเป็นโควิด

หากผู้ที่ตั้งครรภ์เป็นโรคโควิด อาจส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ที่ตั้งครรภ์เองและต่อเด็กทารกในครรภ์ได้ ดังนี้

1. อาจทำให้อาการของโรคโควิดมีความรุนแรง

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคโควิดมักเกิดอาการของโรคที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป โดยอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) ในโรงพยาบาล ไปจนถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

โดยเฉพาะคุณแม่ทั้งครรภ์ที่มีปัจจัยสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 หรือมีอายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ มีอายุมากกว่า 35 ปี มีน้ำหนักเกิน มีโรคประจำตัวอื่น ๆ อย่างโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหอบหืด และโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดด้วย

2. อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ 

หากคนท้องเป็นโควิดจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย เช่น การคลอดก่อนกำหนด การเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือการเกิดภาวะทารกตายคลอด (Stillbirth) ซึ่งคือการที่เด็กทารกเสียชีวิตในครรภ์ โดยเฉพาะในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 34 สัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดได้มากถึง 7 เท่าเลยทีเดียว

3. อาจทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล

การเป็นโรคโควิดในขณะที่ตั้งครรภ์สามารถสร้างความกังวลใจให้แก่คุณแม่ได้ไม่น้อย เพราะกลัวว่าจะเกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์ และในบางกรณีอาจทำให้คุณแม่เกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ไปจนถึงเกิดภาวะซึมเศร้าได้เลยทีเดียว ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาการเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลกระทบด้านจิตใจอย่างรุนแรง หรือเกิดปัญหาในการคลอดบุตรได้

4. อาจทำให้เด็กทารกเกิดภาวะพิการแต่กำเนิด

หนึ่งในอาการของโรคโควิดคือการมีไข้สูง ซึ่งการมีไข้สูงในระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะพิการแต่กำเนิดให้แก่เด็กทารกได้ คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรระมัดระวังไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่อาจทำให้มีไข้สูงได้ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโรคโควิดด้วย

วิธีการดูแลตัวเองที่เหมาะสมสำหรับคนท้องเป็นโควิด 

หากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นโรคโควิดก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะสามารถดูแลตัวเองด้วยวิธีการเหล่านี้เพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ วิธีการดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคโควิด มีดังนี้

  • กักตัวแยกจากบุคคลอื่นในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเป็นเวลาประมาณ 5–10 วัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แต่อาจจำเป็นต้องมีบุคคลอื่นอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่กักตัว เพราะคนท้องไม่ควรอยู่ตามลำพัง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูจากอาการป่วยได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
  • รักษาของเหลวภายในร่างกายด้วยการดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ หรืออาจเลือกดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาลหรือมีน้ำตาลในปริมาณน้อยก็ได้เช่นกัน
  • รับประทานยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาพาราเซตามอล (Paracetamol)เมื่อมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรืออาจปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานยา
  • ตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือดด้วยเครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ววันละประมาณ 2–3 ครั้ง โดยควรมีระดับออกซิเจนในเลือดสูงกว่า 94%
  • หากผู้ที่ตั้งครรภ์มีอายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ มีอายุมากกว่า 35 ปี มีน้ำหนักเกิน หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหอบหืด และโรคความดันโลหิตสูง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
  • หากผู้ที่ตั้งครรภ์มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก เจ็บหน้าอก หายใจถี่หรือหายใจลำบากเมื่อนอนราบ รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างรุนแรง หรือรู้สึกวิตกกังวลมาก ควรรีบไปพบแพทย์
  • หากมีสัญญาณที่ผิดปกติของเด็กทารกในครรภ์ เช่น ลูกดิ้นน้อยกว่าปกติ ลูกดิ้นมากผิดปกติ หรือลูกไม่ดิ้น รวมถึงการมีเลือดออกจากช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์

การที่คนท้องเป็นโควิดนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งต่อตัวคุณแม่เองและต่อทารกในครรภ์ แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ที่ตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือช่วยลดความรุนแรงของอาการลง ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดนั้นปลอดภัยต่อเด็กทารกในครรภ์ และอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิดให้แก่เด็กทารกแรกคลอดในช่วง 6 เดือนแรกได้ด้วย