ข้อมูลควรรู้ก่อนรับการเจาะปอด

การเจาะปอด (Thoracentesis) เป็นการเจาะระบายของเหลวหรืออากาศออกจากโพรงเยื่อหุ้มปอด (Pleural Cavity) ซึ่งเป็นช่องว่างที่อยู่ระหว่างปอดและผนังหน้าอก ใช้ในการวินิจฉัยหาสาเหตุของน้ำในเยื่อหุ้มปอดและบรรเทาอาการที่เกิดจากการมีของเหลวหรือลมในเยื่อหุ้มปอด 

แพทย์จะใช้วิธีการเจาะปอดทั้งในการวินิจฉัยและการรักษาโรค โดยของเหลวที่ถูกระบายออกมาจะถูกส่งตรวจในห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถหาสาเหตุที่ทำให้มีของเหลวสะสมในเยื่อหุ้มปอด และช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากสาเหตุดังกล่าว เช่น รู้สึกอึดอัด เเน่นหน้าอก หายใจลำบาก โดยปริมาณของเหลวที่ระบายออกจะขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุที่ให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการตรวจ

ข้อมูลควรรู้ก่อนรับการเจาะปอด

การเจาะปอดทำเมื่อใด

การเจาะปอดเพื่อนำของเหลวออกมาตรวจจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุและบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากของการสะสมของเหลวในปอดหรือช่วงอกได้ ตัวอย่างโรคที่อาจจำเป็นต้องรับการเจาะปอดเพื่อการวินิจฉัยหรือรักษา เช่น 

  • ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural Effusion)
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure)
  • โรคปอดอักเสบ
  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism: PE)
  • ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension)
  • โรคฝีในปอดหรือภาวะมีหนองในช่องหุ้มปอด (Empyema)
  • วัณโรค
  • การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) และโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติอื่น ๆ 
  • ภาวะตับอ่อนอักเสบ 
  • ภาวะตับวาย 
  • โรคมะเร็ง
  • อาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาบางชนิด

ขั้นตอนการเจาะปอดและการเตรียมตัวมีอะไรบ้าง

ก่อนเข้ารับการเจาะปอด ผู้เข้ารับการตรวจสามารถรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม หรือใช้ยาได้ตามปกติ แต่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาและอาหารเสริมทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ อาการแพ้ยาชาหรือยาชนิดอื่น อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์หรือมีปัญหาสุขภาพใดหรือไม่ และแพทย์อาจให้ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต และตรวจหาลิ่มเลือดในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ขั้นตอนแรกจะเริ่มจากการจัดท่าให้เหมาะสม โดยมากอาจจะให้ผู้ป่วยนั่งบริเวณขอบเตียงในท่าห้อยขา ฟุบหัวและวางแขนไว้บนโต๊ะด้านหน้าที่เตรียมไว้ จากนั้นแพทย์จะทำความสะอาดบริเวณที่จะเจาะ และฉีดยาชาให้ผู้ป่วย เมื่อยาชาออกฤทธิ์แล้ว แพทย์จะกรีดเปิดแผลเล็ก ๆ เพื่อสอดเข็มเข้าไปในช่องอก อาจทำควบคู่กับการอัลตราซาวด์เพื่อให้เข็มอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและดูดของเหลวออกมา

ในระหว่างการเจาะปอด แพทย์จะให้ผู้ป่วยนั่งให้นิ่งที่สุด และกลั้นหายใจหรือหายใจออกเป็นพัก ๆ เมื่อดูดของเหลวในเยื่อหุ้มปอดเสร็จแล้วถึงจะให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกตามปกติ และผู้ป่วยห้ามไอหรือสูดหายใจลึกในระหว่างนั้น เพราะอาจทำให้ปอดได้รับความเสียหาย เมื่อได้ของเหลวตามปริมาณที่ต้องการ แพทย์จะดึงเข็มออกและปิดบาดแผลด้วยพลาสเตอร์

วิธีดูแลตนเองหลังรับการเจาะปอด

หลังรับการเจาะปอด แพทย์อาจเอกซเรย์บริเวณช่องอกเพิ่มเติมเพื่อดูว่ายังมีของเหลวสะสมอยู่ในเยื่อหุ้มปอดหรือไม่ และตรวจดูว่าปอดทำงานได้ตามปกติหลังการเจาะ ซึ่งขั้นตอนเจาะปอดทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจไออยู่เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงหลังเจาะ อาจมีของเหลวซึมออกมาทางแผลที่เจาะเป็นเวลาประมาณ 3 วัน และอาจรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายภายในช่องอกหรือบริเวณที่ทำการเจาะร่วมด้วย แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและหายไปเองในภายหลัง

การเจาะปอดมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย แต่หากพบอาการผิดปกติหลังการเจาะปอด เช่น มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หายใจลำบากอย่างรุนแรง เกิดรอยแดงหรือบวมบริเวณที่เจาะ เจ็บหน้าอก หนาวสั่น มีเลือดหรือของเหลวไหลจากบาดแผลนานกว่า 3 วัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีภาวะน้ำท่วมปอด ปอดรั่ว หรือมีหนองในช่องหุ้มปอดเป็นภาวะแทรกซ้อนได้