ข้อควรรู้เกี่ยวกับการรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ

การรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบตั้งแต่เนิ่น ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่กำลังมีภาวะนี้ เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้ ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงบางชนิดได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปัสสาวะปนเลือด โรคลำไส้แปรปรวน หรือในบางกรณี อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในไตได้

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ โดยภาวะนี้มักพบได้มากในกลุ่มผู้หญิง เนื่องจากท่อปัสสาวะของเพศหญิงจะมีลักษณะที่ค่อนข้างสั้น แบคทีเรียที่อาจส่งผลให้เกิดโรคจึงสามารถเดินทางเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่าย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ

สาเหตุของภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ในการรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนตามสาเหตุ ดังนั้น ก่อนจะไปทำความรู้จักกับวิธีการรักษา มาทำความรู้จักกันก่อนว่า ภาวะนี้สามารถเกิดได้จากสาเหตุอะไรบ้าง

กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นภาวะที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อ Escherichia coli สาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย โดยกลไกการติดเชื้อจะเริ่มจากการที่เชื้อเข้าสู่ท่อปัสสาวะและไปแพร่กระจายในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้ติดเชื้อก็เช่น การใช้สายสวนทางการแพทย์ การใช้ยาฆ่าอสุจิ การมีเพศสัมพันธ์ และการที่ผู้หญิงเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยทอง 
  • การฉายรังสีรักษา (Radiation Treatment) บริเวณกระดูกเชิงกราน แม้การรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยรักษาโรคบางชนิด เช่น ช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง หรือลดขนาดของเนื้องอก แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง อย่างการเกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้
  • เกิดจากโรคหรือภาวะผิดปกติชนิดอื่น ผู้ที่มีโรคหรือภาวะผิดปกติชนิดอื่นอยู่แล้ว อาจเสี่ยงเกิดภาวะนี้ตามมาได้ โดยตัวอย่างโรคที่มักพบได้ก็เช่น เบาหวาน ต่อมลูกหมากโต และนิ่วในไต
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) ในผู้ป่วยมะเร็ง
  • สารเคมีบางชนิดในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

วิธีรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ

วิธีรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เช่น 

กรณีที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 

การติดเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย แพทย์จะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะเป็นหลัก ซึ่งชนิดของยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และชนิดของเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและไม่หยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ายากำจัดเชื้อแบคทีเรียไปหมดแล้ว

กรณีที่เกิดจากการทำเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีสาเหตุมาจากการทำเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี แพทย์จะเน้นไปที่การให้ยาเพื่อช่วยควบคุมหรือบรรเทาอาการเจ็บจากภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบแทน

กรณีที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ 

ส่วนการรักษาในกรณีอื่น ๆ ก็เช่น การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิดส่งกระแสไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาท หรือการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นต้นเหตุ อย่างผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือยาฆ่าอสุจิ

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่กล่าวมาข้างต้น แพทย์อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบดื่มน้ำให้เพียงพอร่วมด้วย แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยกำจัดสารต่าง ๆ ในร่างกายที่อาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคือง รวมถึงอาจแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น

  • ประคบร้อนบริเวณท้องและหลังเพื่อบรรเทาอาการปวด
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อบรรเทาอาการปวด
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดและน้ำผลไม้ เนื่องจากอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้อาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคืองได้
  • อาจรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติก (Probiotics) เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อใหม่ ๆ ที่กระเพาะปัสสาวะ
  • หลีกเลี่ยงการอั้นปัสสาวะ เพื่อป้องกันกระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคืองและลดความเสี่ยงต่อการที่เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตในกระเพาะปัสสาวะ

การรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบตั้งแต่เนิ่น ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้ป่วยภาวะนี้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ผู้ที่เริ่มพบอาการผิดปกติดังต่อไปนี้จึงควรรีบไปพบแพทย์ ได้แก่ ปวดปัสสาวะบ่อยแต่ปัสสาวะแต่ละครั้งมีปริมาณเพียงเล็กน้อย รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะส่งกลิ่นเหม็นผิดปกติ ปัสสาวะมีสีเข้ม แน่นท้อง หรือปัสสาวะปนเลือด