โพรไบโอติก (Probiotics) จุลินทรีย์มีประโยชน์

โพรไบโอติก (Probiotics) เป็นที่รู้จักจากการเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวและโยเกิร์ตที่วางขายในท้องตลาด แต่คุณทราบหรือไม่ว่า โพรไบโอติกคืออะไร สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ ก่อผลเสียกับร่างกายหรือไม่ แล้วถ้าโพรไบโอติกไม่สมดุลจะเกิดอะไรขึ้น บทความนี้จะพาคุณมาทำความรู้จักกับจุลินทรีย์ตัวจิ๋วกับเรื่องที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน 

หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า สุขภาพดีเริ่มต้นได้จากภายในสู่ภายนอก ซึ่งการบริโภคโพรไบโอติกถือเป็นวิธีหนึ่งที่เสริมสุขภาพให้แข็งแรงสอดคล้องกับคำกล่าวในข้างต้น โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน เพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าจุลินทรีย์พวกนี้มีส่วนช่วยปรับสมดุลภายในลำไส้ จึงอาจลดปัญหาท้องผูก ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย เสริมภูมิคุ้มกัน และลดความรุนแรงของโรคเรื้อรังบางชนิด

นอกจากนี้ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในปัจจุบันอาจส่งผลให้จุลินทรีย์ในร่างกายอยู่ในภาวะไม่สมดุล ทั้งในแง่ของอาหารการกิน การออกกำลังกาย หรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ จนอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับลำไส้และระบบภูมิคุ้มกันตามมา อีกทั้งมลพิษและปัญหาสุขภาพอาจส่งผลต่อความสมดุลภายในร่างกายด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็อาจเกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่าย ๆ ทั้งนั้น

Probiotics

โพรไบโอติก คืออะไร ?

เมื่อได้ยินคำว่า จุลินทรีย์ อาจทำให้นึกถึงเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่พบได้ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นดิน น้ำ พืช สัตว์ หรือแม้แต่ในร่างกายคนเรา จุลินทรีย์มีทั้งชนิดที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ ซึ่งโพรไบโอติกจัดเป็นเชื้อจุลินทรีย์และยีสต์ในกลุ่มที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อมีอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ระบบในร่างกายทำงานเป็นปกติ โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกันที่มีส่วนช่วยในการป้องกันหรือรักษาโรคบางชนิด

ในปัจจุบันมีการผลิตโพรไบโอติกออกมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงอาหารเสริมหลายชนิด โดยปกติแล้ว จุลินทรีย์แบ่งออกได้หลายกลุ่ม แต่จะมีเพียงบางสายพันธุ์ในบางกลุ่มเท่านั้นที่เป็นโพรไบโอติก

ตัวอย่าง Probiotics ที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และค่อนข้างปลอดภัยในการรับประทาน เช่น

  • Lactobacillus

    แลคโตบาซิลลัสเป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในระบบย่อยอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะเพศ มีมากกว่า 50 สายพันธุ์ การศึกษาพบว่าแลคโตบาซิลลัสบางสายพันธุ์สามารถบรรเทาหรือป้องกันปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับลำไส้ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) ท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ท้องเสียจากติดเชื้อ Clostridium Difficile ท้องเสียจากการเดินทาง (Traveler's Diarrhea) ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนมหรือไม่ทนทานต่อน้ำตาลแล็กโทส (Lactose Intolerance)

    นอกจากนี้ แลคโตบาซิลลัสอาจส่งผลดีต่อปัญหาสุขภาพด้านอื่น เช่น การติดเชื้อรา ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือความผิดปกติทางผิวหนังอื่น ๆ อย่างเริมริมฝีปาก ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือแผลร้อนใน

  • Bifidobacteria

    บิฟิโดแบคทีเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่อยู่อาศัยในบริเวณลำไส้ใหญ่ มีอยู่ประมาณ 30 สายพันธุ์ โดยพบในระบบทางเดินอาหารของทารก โดยเฉพาะทารกที่ดื่มนมมารดา บิฟิโดแบคทีเรียถือว่าเป็นชนิดที่มีประโยชน์กับทารกอย่างมาก การศึกษาพบว่าเชื้อบิฟิโดแบคทีเรียบางสายพันธุ์ช่วยควบคุมน้ำตาลและไขมันในเลือด บรรเทาโรคลำไส้แปรปรวนและอาการของโรค เช่น ปวดแน่นท้อง ท้องอืด และความผิดปกติเกี่ยวกับการย่อยอาหาร

  • Saccharomyces Boulardii

    จุลินทรีย์ชนิดนี้เรียกสั้น ๆ ว่า S. Boulardii เป็นโพรไบโอติกชนิดเดียวที่จัดอยู่ในกลุ่มยีสต์ การศึกษาบางส่วนพบว่าเชื้อนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาโรคท้องเสียจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะ โรคท้องเสียจากการท่องเที่ยว (Traveler’s Diarrhea) การติดเชื้อซ้ำจากคลอสตริเดียมดิฟฟิไซล (C. Difficile) การติดเชื้อเชื้อเอชไพโลไร (H. Pylori) และอาจส่งผลดีต่อการรักษาสิวด้วย

  • Streptococcus Thermophilus

    สเตปค็อกคัสเธอร์โมฟิลัส เป็นจุลินทรีย์ที่มีส่วนในการสร้างเอนไซม์แล็กเทส (Lactase Enzyme) ที่ช่วยในการย่อยน้ำตาลแล็กโทสในน้ำนมสำหรับผู้ที่มีภาวะไม่ทนทานต่อน้ำตาลแล็กโทส (Lactose Intolerance) ซึ่งภาวะนี้มักทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง และท้องอืด

อาหารที่พบโพรไบโอติกมีอยู่หลายประเภท แต่ที่รู้จักกันดีจะเป็นผลิตภัณฑ์นมที่มีรสชาติเปรี้ยวหรืออาหารที่ผ่านการหมักบางชนิด เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ นอกจากนี้ ยังมีอาหารหมักอื่น ๆ ที่อุดมไปด้วยโพรไบโอติก แต่ยังไม่มีการศึกษามากนัก เช่น มิโซะหรือเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น (Miso) เทมเป้หรือถั่วเหลืองหมัก (Tempeh) กะหล่ำปลีดอง (Sauerkraut) ขนมปังเปรี้ยว (Sourdough Bread) และแตงกวาดอง

นอกจากการรับประทานโพรไบโอติกแล้ว เราควรรับประทานพรีไบโอติก (Prebiotics) ที่เป็นอาหารของโพรไบโอติกควบคู่กันไปด้วย โดยพรีไบโอติกจัดเป็นใยอาหาร (Fiber) ประเภทหนึ่งที่พบมากในผักและผลไม้ หากเรารับประทานอาหารที่มีทั้งโพรไบโอติกและพรีไบโอติกร่วมกันเป็นประจำก็อาจช่วยให้ลำไส้เกิดความสมดุล ทำงานได้ดีขึ้น และลดปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ได้มากขึ้นด้วย

ในปัจจุบันจึงมีการผลิตซินไบโอติก (Synbiotics) หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ประกอบไปด้วยโพรไบโอติกและพรีไบโอติกรวมไว้ด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารทั้งสองประเภท แต่อาจไม่มีเวลาในการรับประทาน ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ซินไบโอติกก็อาจช่วยให้ร่างกายได้ประโยชน์ อีกทั้งยังสะดวกและประหยัดเวลาอีกด้วย แต่ผู้ซื้อก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้เพื่อความปลอดภัย

บทบาทของโพรไบโอติกในการดูแลสุขภาพ

การรับประทานผลิตภัณฑ์ประเภทโพรไบโอติกจะส่งผลดีต่อสุขภาพ ด้วยการเข้าไปทดแทนจุลินทรีย์ดีที่ร่างกายสูญเสียไปจากการย่อยอาหารและสาเหตุอื่น เช่น รับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ความเครียด พักผ่อนน้อย การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไป การใช้ยาบางชนิด และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ

เดิมที ระบบการย่อยอาหารในสภาพปกติสามารถกำจัดแบคทีเรีย สารพิษ สารเคมี และของเสียอื่น ๆ ออกจากร่างกายได้เอง แต่เมื่อจุลินทรีย์ชนิดดีลดลง จุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายจึงออกฤทธิ์ได้มากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารลดลงและทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย และอาการอื่น ๆ ตามมาได้

นอกจากนี้ โพรไบโอติกยังมีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นด่านแรกที่ช่วยต่อต้านสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกร่างกาย เมื่อร่างกายเสียสมดุลระหว่างจุลินทรีย์ชนิดดีและชนิดที่เป็นอันตราย ทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานไม่เป็นไปตามปกติ เชื้อไม่ดีและสิ่งแปลกปลอมจึงก่อสารพิษในขณะที่อยู่ในร่างกายได้ง่ายขึ้น จึงส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและเสี่ยงต่ออาการแพ้มากขึ้น เช่น ท้องเสีย ติดเชื้อที่ผิวหนังหรือในช่องคลอด

ดังนั้น การรับประทานโพรไบโอติก (Probiotics) จึงอาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหรือความผิดปกติได้หลายอย่าง เช่น

  • ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ เช่น ท้องเสียจากการติดเชื้อหรือการใช้ยาปฏิชีวนะ โรคลำไส้แปรปรวน และกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) 
  • กลุ่มโรคภูมิแพ้ เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ 
  • ฟันผุ โรคปริทันต์ หรือปัญหาเกี่ยวกับช่องปากอื่น ๆ
  • อาการโคลิคในเด็กเล็ก
  • โรคตับ
  • ไข้หวัด
  • ภาวะลำไส้เน่าในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

นอกจากประโยชน์ต่อสุขภาพภายในแล้ว โพรไบโอติกอาจช่วยเสริมความแข็งแรงและลดปัญหาผิวหนัง โดยจากการศึกษาที่ใช้โพรไบโอติกเป็นการรักษาเสริม ทั้งรูปแบบรับประทานและแบบทาในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนัง อย่างเป็นสิว โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) โรคสะเก็ดเงิน และเป็นแผลเรื้อรัง พบว่าการอักเสบของผิวหนังที่เกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติและปัจจัยอื่น ๆ ทุเลาลง และยังอาจช่วยให้ผิวดูอ่อนกว่าวัยได้อีกด้วย

ด้วยสรรพคุณสุขภาพเหล่านี้ เราจึงควรใส่ใจในการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติก (Probiotics) ให้มากขึ้น รวมทั้งอาหารที่มีประโยชน์ประเภทอื่น ๆ โดยเฉพาะผักและผลไม้ เพื่อเพิ่มใยอาหารที่ช่วยเสริมการทำงานของเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ซึ่งการบริโภคอย่างต่อเนื่องเป็นประจำอาจช่วยให้ร่างกายแข็งแรงจากภายในสู่ภายนอก เมื่อภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้สมดุลก็อาจช่วยบรรเทาอาการผิดปกติต่าง ๆ ทั้งยังช่วยเสริมภูมิต้านทาน ลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคบางชนิด

ความปลอดภัยของโพรไบโอติก

ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกในรูปแบบอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมค่อนข้างมีความปลอดภัยต่อผู้ที่รับประทาน คนที่มีสุขภาพแข็งแรงจึงไม่ค่อยเกิดผลข้างเคียงรุนแรง ส่วนใหญ่มักเป็นอาการในระบบทางเดินอาหารเพียงเล็กน้อย เช่น มีแก๊สในระบบทางเดินอาหารมาก แต่ก็ยังพบรายงานผลข้างเคียงร้ายแรงอย่างการติดเชื้อรุนแรงในรายที่มีปัญหาด้านสุขภาพซ่อนอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด เด็กเล็กที่ป่วยหนัก หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ 

เนื่องจากที่ผ่านมามีการศึกษาเฉพาะ Probiotics บางกลุ่มและบางสายพันธุ์เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่ม Lactobacillus และ Bifidobacterium ที่ค่อนข้างใช้กันอย่างแพร่หลาย และการติดตามผลการใช้ในระยะยาวยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอ ซึ่งโพรไบโอติกบางกลุ่มอาจก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์และแต่ละบุคคล อีกทั้งสรรพคุณและความปลอดภัยในการใช้โพรไบโอติกยังต้องการการศึกษาในแง่มุมอื่น ๆ เพิ่มเติม

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก (Probiotics) ใด ๆ ก็ตามที่ยังไม่ผ่านการรับรองทางการแพทย์จึงไม่ควรนำมารับประทาน และหากมีปัญหาด้านสุขภาพก็ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์เสริมเหล่านี้ทดแทนการรักษา เพราะผลิตภัณฑ์หรืออาหารที่มีโพรไบโอติกไม่ใช่ยารักษาโรค จึงควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

ด้วยเหตุนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือภาวะสุขภาพ อย่างผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัด ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอด้วยสาเหตุบางอย่าง ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนการใช้หรือรับประทานผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก

สุดท้ายนี้ นอกจากการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกและพรีไบโอติก เพื่อรักษาสมดุลลำไส้ ระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันแล้ว การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่น ๆ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียด ก็มีส่วนช่วยรักษาสมดุลของโพรไบโอติกภายในร่างกายได้อีกทาง ซึ่งส่งผลให้สุขภาพแข็งแรงจากภายในสู่ภายนอกอย่างแท้จริง