ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจเสริมหน้าอก

การเสริมหน้าอก หรือการทำนม เป็นวิธีการผ่าตัดที่ทำได้โดยใส่ถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือเข้าไปที่ใต้หน้าอก ผลลัพธ์ที่ได้คือขนาดของหน้าอกที่ใหญ่ขึ้น รูปร่างของหน้าอกที่สวยงามและเท่ากัน รวมถึงช่องอกที่ชัดเจนกว่าเดิม ส่งผลให้ผู้รับการผ่าตัดมีความมั่นใจในรูปร่างมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลบางอย่างที่ผู้ที่สนใจการผ่าตัดเสริมหน้าอกควรทราบก่อน เช่น ช่วงอายุที่เหมาะสมของผู้เข้ารับการผ่าตัด ขั้นตอนการผ่าตัด ข้อควรระวัง ข้อห้าม ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาเพื่อเข้ารับการผ่าตัดเสริมหน้าอกต่อไป

ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจเสริมหน้าอก (ทำนม)

สิ่งที่ควรทราบก่อนตัดสินใจเสริมหน้าอก

ผู้ที่สนใจการทำหน้าอกควรทราบข้อมูลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ก่อนการตัดสินใจเสริมหน้าอก

ช่วงอายุที่เหมาะสมในการเสริมหน้าอก

การเสริมหน้าอกอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อความสวยความงามหรือเป็นการทำหน้าอกภายหลังการผ่าตัดเต้านมในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมก็ได้

การเสริมหน้าอกเพื่อความงามนั้นมีข้อกำหนดอายุของผู้เข้ารับการเสริม เนื่องจากขนาดหน้าอกของผู้หญิงจะยังสามารถเพิ่มขึ้นได้จนถึงช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือประมาณอายุ 20 ปีต้น ๆ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกากำหนดให้ผู้ที่เสริมหน้าอกด้วยการใช้ถุงน้ำเกลือได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ส่วนการเสริมหน้าอกประเภทใช้ถุงเจลซิลิโคนต้องมีอายุ 22 ปีขึ้นไป

สำหรับการผ่าตัดเสริมสร้างหน้าอกในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำเป็นต้องตัดเต้านมออกไป เพื่อให้กลับมามีหน้าอกทั้งสองข้างเป็นปกติจะไม่มีข้อกำหนดอายุ สามารถทำได้ไม่ว่าผู้ป่วยอายุเท่าใดก็ตาม

ข้อห้ามของการทำหน้าอก

ในบางกรณี การทำหน้าอกมีความเสี่ยงสูงและไม่คุ้มกันเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับ ผู้ที่มีอาการติดเชื้อบริเวณใด ๆ ของร่างกาย ป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ยังไม่ได้รับการรักษาจนหายดี และหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะไม่ได้รับการแนะนำให้รับการเสริมหน้าอก 

เหตุผลคือกระบวนการผ่าตัดที่ใช้อาจมีผลต่อการรักษาอาการติดเชื้อหรือโรคมะเร็ง และเป็นข้อคำนึงด้านความปลอดภัยของหญิงกำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร นอกจากนั้น ภาวะเหล่านี้ยังส่งผลถึงการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดด้วย สำหรับผู้ป่วยเหล่านี้ การผ่าตัดเสริมหน้าอกจึงทำได้ในกรณีที่เป็นการรักษาตามคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น

ข้อควรระวังของการทำหน้าอก

การทำหน้าอกอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น ผู้ที่ต้องการเสริมหน้าอกที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

  • ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ตนเอง 
  • ะบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ รวมถึงการรับประทานยาที่ทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลงด้วย
  • มีภาวะที่ส่งผลต่อการรักษาแผลหรือกระบวนการหยุดเลือดของร่างกาย
  • ภาวะที่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อที่หน้าอกน้อยลง
  • ต้องทำเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัดภายหลังจากการเสริมหน้าอก
  • มีภาวะซึมเศร้าหรือความผิดปกติทางสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยที่คิดว่าตนเองมีรูปร่างผิดปกติ มีโรคการกินผิดปกติ มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล หรือภาวะสุขภาพทางจิตทั้งหลาย ควรได้รับการรักษาให้หายดีหรือมีอาการทรงตัวก่อนเข้ารับการศัลยกรรมเสริมหน้าอก

ประเภทของการทำหน้าอก

การเสริมหน้าอกมีหลายประเภท แบ่งตามวัสดุที่นิยมใช้ใส่เข้าไปเสริมในหน้าอกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ 

การใช้ถุงซิลิโคนเจล และการใช้ถุงน้ำเกลือซึ่งมีใช้น้อยกว่า โดยแพทย์อาจพูดคุยแนะนำถึงรูปร่างและประเภทของการเสริมเต้านมที่เหมาะสมกับแต่ละคน ซึ่งแต่ละวิธีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างกันไป

การใช้ถุงซิลิโคนเจล 

เป็นการเสริมหน้าอกด้วยถุงซิลิโคนที่ภายในประกอบด้วยซิลิโคนเจล มีหลายขนาดให้เลือก และมีทั้งพื้นผิวเรียบและผิวทราย ซิลิโคนที่ใช้อาจเป็นชนิดอ่อนนุ่มหรือชนิดแข็งก็ได้ โดยภายในมีการเติมซิลิโคนเจลชนิดหนาแน่นไว้ นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีถุงซิลิโคนชนิดที่เคลือบด้วยยางโพลียูรีเธนด้วย

การเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนเจลนี้อนุญาตให้ใช้ในหญิงอายุ 22 ปีขึ้นไป หรืออายุเท่าใดก็ได้ในกรณีที่ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมแทนเต้านมที่ถูกตัดเท่านั้น

ข้อดีของซิลิโคนเจลคือมีโอกาสเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้น้อยกว่าการใช้ถุงน้ำเกลือ และหากเป็นชนิดอ่อนนุ่มก็จะให้ความรู้สึกเหมือนหน้าอกธรรมชาติ ส่วนซิลิโคนชนิดที่เคลือบด้วยยางโพลียูรีเธนนั้นมีการอ้างถึงคุณสมบัติในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดพังผืดรัดรอบเต้านมเทียมและการเคลื่อนที่ของซิลิโคนด้วย

ส่วนข้อเสียก็มีเช่นกัน ถุงซิลิโคนเจลแบบอ่อนนุ่มที่เกิดฉีกขาดอาจส่งผลให้ซิลิโคนแพร่กระจายไปยังเต้านม ซึ่งจะตรวจเจอได้จากการสแกนเต้านมเท่านั้น และจำเป็นต้องผ่าตัดเอาซิลิโคนที่เสริมหน้าอกออกมา ปัญหานี้สามารถหลีกเลี่ยงด้วยการใช้ซิลิโคนชนิดหนาแน่นแทน แต่ซิลิโคนชนิดนี้อาจให้ความรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ ส่วนซิลิโคนแบบเคลือบยางโพลียูรีเธนก็มีข้อเสียที่อาจไปทำปฏิกิริยากับผิวหนังได้ชั่วคราวเช่นกัน

การใช้ถุงน้ำเกลือ 

เป็นถุงซิลิโคนเหมือนประเภทแรก แต่ภายในเติมด้วยสารละลายน้ำเกลือแทน อาจมีการเติมไว้ก่อนผ่าตัด หรือเติมเข้าไปในระหว่างการผ่าตัดก็ได้ มีหลายขนาดให้เลือกและมีทั้งเปลือกซิลิโคนแบบเรียบหรือมีพื้นผิว การเสริมหน้าอกด้วยถุงน้ำเกลือนี้ทำได้เฉพาะในผู้หญิงที่อายุ 18 ปีขึ้นไป แต่หากเป็นการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ตัดเต้านมออกไปจะสามารถทำเมื่ออายุเท่าใดก็ได้

การเสริมหน้าอกด้วยถุงน้ำเกลือมีข้อดีคือ หากเต้านมที่เสริมฉีกขาด น้ำเกลือภายในจะค่อย ๆ ถูกร่างกายดูดซึมไปหรือถูกขับออกจากร่างกาย จึงทำให้ปลอดภัยต่อร่างกาย ส่วนข้อเสียของการใช้ถุงน้ำเกลือคือเรื่องความคงทน ้เพราะอาจฉีกขาดได้เร็วกว่าถุงแบบซิลิโคนเจล เนื่องจากถุงน้ำเกลือจะแฟบลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป และยังเสี่ยงต่อการเกิดรอยเหี่ยวย่นอีกด้วย

ขั้นตอนการทำหน้าอก

การเสริมหน้าอกมีขั้นตอนต่างๆ ดังต่อไปนี้

การเตรียมตัว

ศัลยแพทย์อาจส่งตรวจสแกนแมมโมแกรมหรือเอกซเรย์เต้านมก่อนผ่าตัดเสริมหน้าอกเพื่อตรวจดูว่าเต้านมมีความผิดปกติหรือไม่ และยังเป็นการช่วยให้เห็นภาพของเนื้อเยื่อเต้านมของคนไข้ก่อนการผ่าตัดจริง นอกจากนี้อาจมีการพูดคุยอธิบายเกี่ยวกับการผ่าตัด วัสดุที่ใช้เสริมหน้าอก เวลาที่จะใช้โดยประมาณ รวมทั้งการรักษาที่จะใช้หากมีผลข้างเคียงเป็นอาการบาดเจ็บหรือคลื่นไส้ตามมา เป็นต้น

ในคืนก่อนการผ่าตัดเสริมหน้าอก ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องงดรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำหลังผ่านเที่ยงคืนไปแล้ว นอกจากนั้น ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรเตรียมเสื้อผ้าและยกทรงหลวม ๆ ที่ไม่มีโครงเพื่อใช้ใส่หลังการผ่าตัด และหากต้องการกลับบ้านในวันเดียวกันก็ควรมีผู้ที่คอยดูแลเพื่อความปลอดภัย

การผ่าตัด

หลังจากแพทย์ให้ยาระงับความรู้สึกและรอจนยาเริ่มออกฤทธิ์แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการผ่าตัด การเลือกตำแหน่งของการผ่าตัดสามารถส่งผลถึงลักษณะการเกิดรอยแผลเป็นและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากผ่าตัดเสริมหน้าอก ซึ่งบริเวณที่อาจเลือกผ่าตัดอาจเป็นตำแหน่งต่าง ๆ ดังต่อไป

  • บริเวณใต้เต้านม เป็นตำแหน่งที่นิยมผ่ากันมากที่สุด เนื่องจากผิวหนังส่วนนี้จะมีความย่นเป็นปกติ แต่รอยแผลเป็นที่เกิดขึ้นอาจเห็นได้ชัดกว่าบริเวณอื่นเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนอายุน้อยที่ผอมและยังไม่เคยมีบุตรมาก่อน
  • บริเวณใต้ข้อพับรักแร้จะช่วยเลี่ยงการเกิดแผลเป็นบริเวณรอบเต้านม และไปมีแผลเป็นที่ใต้รักแร้แทน 
  • บริเวณรอบ ๆ หัวนม ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ผ่าตัดเสริมเต้านมให้ผู้ป่วยที่ถูกตัดเต้านมออกไป อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดที่ตำแหน่งนี้อาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการชาหรือการรับความรู้สึกของหัวนมลดลงได้ 

ทั้งนี้ คนไข้ควรพูดคุยปรึกษาถึงข้อดีข้อเสียและความเหมาะสมของการผ่าตัดใส่ถุงซิลิโคนแต่ละตำแหน่งที่ยังต้องขึ้นอยู่กับร่างกายของคนไข้ ประเภท และขนาดของถุงซิลิโคนด้วย

สำหรับการใส่ถุงซิลิโคน สามารถใส่ได้ 2 ตำแหน่ง คือ 

  • ด้านหลังชั้นกล้ามเนื้อหน้าอก เป็นตำแหน่งตามธรรมชาติที่สุด ช่วยให้รู้สึกสบายหลังการผ่าตัดมากกว่า และไม่เป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อหน้าอก 
  • ชั้นกล้ามเนื้อหน้าอกหรือใต้เนื้อเยื่อหน้าอก การใส่ซิลิโคนตำแหน่งนี้จะช่วยปกป้องเนื้อเยื่อและลดความเสี่ยงต่อการกระเพื่อมและการเกิดพังผืดรัดรอบถุงซิลิโคนเจลได้

ถุงซิลิโคนเสริมหน้าอกประเภทเจล จะมีซิลิโคนเจลอยู่ภายในก่อนแล้ว สามารถใส่เข้าไปได้ทันที แต่หากเป็นการเสริมด้วยถุงน้ำเกลือ อาจมีการเติมน้ำเกลือไว้ก่อนหรือเติมขณะผ่าตัดก็ได้ โดยแพทย์จะสอดเปลือกซิลิโคนเข้าไปแล้วจึงเติมน้ำเกลือเข้าไปตามขนาดที่คนไข้ต้องการ

เมื่อใส่ถุงซิลิโคนเรียบร้อยจึงตามด้วยการเย็บแผลผ่าตัด ก่อนปิดแผลอาจทำการวางท่อระบายผ่านผิวหนังไว้เพื่อช่วยป้องกันการสะสมของเลือดหรือของเหลว ซึ่งท่อระบายนี้จะถูกนำออกไปในการนัดตรวจหลังการผ่าตัดครั้งต่อไป

การพักฟื้นหลังผ่าตัด

หลังการผ่าตัดจะเป็นการพักฟื้นและเฝ้าดูอาการของผู้ป่วย ระหว่างนี้อาจใช้ผ้าก๊อซพันไว้ที่หน้าอกหรือให้ใส่เสื้อยกทรงสำหรับใส่หลังการผ่าตัดเสริมหน้าอก การผ่าตัดเสริมเต้านมมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไป โดยอาจทำให้มีอาการปวด บวม แผลฟกช้ำ ซึ่งอาจคงอยู่เป็นเดือน แต่จะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ 

นอกจากนี้ยังอาจตามมาด้วยแผลเป็นซึ่งเป็นธรรมดาของการผ่าตัด แผลเป็นเหล่านี้สามารถจางลงเป็นเส้นบางไปตามระยะเวลา แต่แผลเป็นที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะเด่นชัดกว่าหากเกิดในผู้ที่มีผิวคล้ำ

ก่อนกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน แพทย์อาจสั่งจ่ายยาสำหรับบรรเทาอาการปวดและคลื่นไส้ และอธิบายวิธีดูแลรักษาแผลด้วยตนเอง ทั้งนี้ หากต่อมามีอาการรุนแรงต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ที่ผ่าตัดทราบทันที

  • เลือดไหล 
  • มีไข้ ตัวร้อน 
  • เต้านมแดง 
  • อาการของการติดเชื้ออื่น ๆ 

ในช่วงพักฟื้น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใส่เสื้อชั้นในสำหรับการผ่าตัดเสริมหน้าอก ผ้าพันหน้าอกหรือยกทรงสำหรับออกกำลังกายเพื่อให้รองรับแผลผ่าตัดไว้ เป็นไปได้ว่าจะสามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 1–2 สัปดาห์ และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงทั้งหลายที่จะส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใและความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

หากมีการใส่ท่อระบายก้อนเลือดหรือของเหลว แพทย์จะนำออกให้ใน 1–2 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด และส่วนใหญ่มักกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ใน 6 สัปดาห์ จนผ่านไปสัก 2–3 เดือน หน้าอกจะเริ่มดูเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น ถึงระยะนี้จึงสามารถหยุดใส่ยกทรงรองรับเต้านม

ผู้ที่เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนเจลนั้นแนะนำให้ตรวจ MRI เพื่อดูว่ามีการฉีกขาดของซิลิโคนหรือไม่หลังผ่าตัดเสริมหน้าอก 3 ปี หลังจากนั้นจึงตรวจทุก 2 ปี นอกจากนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมอย่างสม่ำเสมอ และแจ้งให้ผู้ที่ตรวจทราบถึงการทำศัลยกรรมหน้าอก เนื่องจากถุงซิลิโคนอาจทำให้มองเห็นเนื้อเยื่อเต้านมได้ยากหากใช้การตรวจแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียว จึงต้องใช้วิธีอื่นร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเสริมหน้าอก

การผ่าตัดเสริมเต้านมที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้ต้องรักษาหรือมีการผ่าตัดเพิ่มเติม ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้มีดังนี้

  • มีเลือดสะสมบริเวณแผลผ่าตัดจนทำให้บวมและเจ็บปวด มักเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดไม่นาน หรืออาจเกิดได้หากเต้านมได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ก้อนเลือดสะสมที่มีขนาดใหญ่จนร่างกายไม่สามารถดูดซึมกลับได้จะต้องรับการรักษาด้วยการใส่ท่อระบายเลือด
  • มีของเหลวสะสมรอบ ๆ ซิลิโคนเสริม อาจส่งผลให้มีอาการบวม เจ็บ และฟกช้ำ ของเหลวก้อนเล็กอาจถูกร่างกายดูดซึม แต่หากมีขนาดใหญ่แพทย์จำเป็นต้องใช้ท่อระบายออก
  • เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อเต้านมหรือซิลิโคนเสริมเต้านมเนื่องจากการผ่าตัด
  • เกิดการติดเชื้อ กรณีที่แผลผ่าตัดสัมผัสกับแบคทีเรียหรือเชื้อรา โดยจะสามารถแสดงอาการติดเชื้อได้ตั้งแต่ในวันแรก ๆ ไปจนถึงเป็นสัปดาห์ ทำให้มีอาการอักเสบ ระคายเคือง เจ็บ บวมแดง เป็นไข้ หรือร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งหากคนไข้ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะก็อาจต้องนำเอาซิลิโคนเสริมหน้าอกออก
  • อาการเจ็บหน้าอกบริเวณหัวนมหรือเต้านม
  • อาการแดงหรือฟกช้ำจากการมีเลือดออกระหว่างผ่าตัดที่อาจทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดงได้ชั่วคราว
  • แผลผ่าตัดหายช้า
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
  • ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อรอบ ๆ เต้านมอาจตาย เนื่องจากการติดเชื้อ การใช้สเตียรอยด์ในการผ่าตัด การสูบบุหรี่ การทำเคมีบำบัด การรักษาด้วยรังสี และการบำบัดด้วยความร้อนหรือความเย็นจัด
  • มีความรู้สึกที่หัวนมหรือเต้านมเพิ่มขึ้นหรือลดลง อาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร และอาจส่งผลต่อการตอบสนองทางเพศหรือการให้นมบุตร ทำให้ไม่สามารถให้นมหรือมีผลิตน้ำนมได้น้อยลง
  • เต้านมหลังการผ่าตัดอาจมีขนาด รูปร่าง หรืออยู่ในระดับที่ไม่เท่ากัน
  • คนไข้หรือศัลยแพทย์อาจไม่พอใจกับรูปร่างหรือขนาดของหน้าอกใหม่หลังการเสริม
  • ผิวหนังบริเวณเต้านมบางและเหี่ยวย่นลง
  • เต้านมหย่อนคล้อยที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติจากอายุที่มากขึ้น การตั้งครรภ์ หรือมีน้ำหนักตัวลดลง
  • สามารถสัมผัสหรือมองเห็นรอยย่นของซิลิโคนเสริมหน้าอกได้ผ่านผิวหนัง
  • ผิวหนังฉีกขาดและเห็นซิลิโคนโผล่ออกมา
  • ผนังหน้าอกหรือกระดูกซี่โครงด้านใต้ผิดรูป
  • มีก้อนแข็งใต้ผิวหนังบริเวณรอบเต้านมเสริม ซึ่งในการตรวจมะเร็งเต้านมอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งและนำไปสู่การผ่าตัดเพิ่มเติมได้
  • เกิดผังผืดซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อแผลเป็นที่ถูกสร้างขึ้นรอบ ๆ มารัดถุงซิลิโคน ส่งผลให้หน้าอกแข็งและแน่นหน้าอก
  • ระหว่างผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด ซิลิโคนเสริมหน้าอกอาจเคลื่อนที่ไปอยู่ผิดตำแหน่ง ทั้งนี้อาจมีสาเหตุจากแรงโน้มถ่วง การได้รับการกระทบกระเทือน หรือเกิดจากเนื้อเยื่อผังผืดที่มารัด
  • ถุงน้ำเกลือแฟบจนรั่วซึม มักรั่วจากลิ้นปิดหรือรอยฉีกที่เปลือกซิลิโคนชั้นนอก ทำให้ถุงน้ำเกลือบางส่วนหรือทั้งหมดแฟบลงได้
  • เกิดรอยฉีกขาดหรือหลุมที่ถุงซิลิโคนชั้นนอก

อย่างไรก็ตาม ซิลิโคนเสริมหน้าอกไม่สามารถอยู่ไปได้ตลอดชีวิต ยิ่งผ่านการผ่าตัดเสริมหน้าอกมานานเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น และอาจต้องมีการผ่าตัดเพิ่มเติมเพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อน ซึ่งการผ่าตัดเพิ่มเติมที่ศัลยแพทย์อาจนำมาใช้มีดังนี้

  • การนำเอาซิลิโคนเสริมหน้าอกออก โดยอาจใส่หรือไม่ใส่กลับเข้าไปดังเดิม
  • การนำเอาเนื้อเยื่อแผลเป็นรอบ ๆ ซิลิโคนออก
  • การผ่าตัดเพื่อนำเอาแผลเป็นที่มากเกินไปออก
  • การใส่เข็มหรือท่อผ่านผิวหนังเพื่อระบายเลือด
  • การเปิดแผลผ่าตัดออกอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งของซิลิโคน
  • การตัดก้อนซีสต์ด้วยการสอดเข็มผ่านผิวหนังหรือการผ่าผิวหนังเพื่อนำเอาก้อนเนื้อออก