ขึ้นฉ่าย และประโยชน์ต่อสุขภาพ

ขึ้นฉ่าย เป็นพืชที่มีขนาด สี และรสชาติแตกต่างกันไปแต่ละสายพันธ์ุ นิยมนำมาปรุงอาหาร รับประทานสด ๆ หรือคั้นเป็นน้ำดื่ม นอกจากนี้ บางส่วนของต้นยังใช้เป็นยารักษาโรค เช่น ผลนำไปอบแห้ง เมล็ดนำไปสกัดเป็นน้ำมัน เป็นต้น โดยกล่าวกันว่าขึ้นฉ่ายมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน

ขึ้นฉ่าย

การรับประทานขึ้นฉ่ายเชื่อกันว่าอาจมีส่วนช่วยรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น โรคเก๊าท์ โรคฮิสทีเรีย อาการปวดประจำเดือน น้ำหนักลดจากภาวะทุพโภชนาการ ปวดศีรษะ ปวดตามข้อ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย รวมทั้งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและหลับสบาย ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย เสริมการทำงานของระบบขับถ่าย ลดอาการท้องอืด กระตุ้นความต้องการทางเพศ ลดการหลั่งของน้ำนม ขจัดสารพิษในเลือด เป็นต้น

การศึกษาเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของขึ้นฉ่ายที่รวบรวมไว้ในฐานข้อมูลเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) นั้นพบได้ค่อนข้างน้อย ทำให้ยากที่จะยืนยันถึงประสิทธิภาพในแต่ละด้าน อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ทางสุขภาพของขึ้นฉ่ายที่พอจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กล่าวถึง มีดังนี้

ประโยชน์ทางโภชนาการของขึ้นฉ่ายที่อาจดีต่อสุขภาพ

บรรเทาอาการปวดประจำเดือน สารสกัดจากเมล็ดขึ้นฉ่ายใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือนในการแพทย์อายุรเวทมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากเมล็ดขึ้นฉ่ายมีสารพฤกษเคมีบางตัวที่ช่วยปรับระดับสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ให้สมดุล ซึ่งสารดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น อาการบวมและอักเสบ ความดันเลือด รวมถึงอาการปวดประจำเดือน

จากงานวิจัยที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพของการรับประทานยาสมุนไพรจากสารสกัดของเมล็ดขึ้นฉ่ายและสมุนไพรชนิดอื่นอีก 4 ชนิด เพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือนในอาสาสมัครหญิงอายุ 18-27 ปี จำนวน 180 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม และให้รับประทานตัวยาที่แตกต่างกัน ได้แก่ ยาสมุนไพรวันละ 500 มิลลิกรัม ยาเมฟานามิค (Mefenamic Acid) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดชนิดหนึ่ง และยาหลอก แต่ละกลุ่มรับประทานวันละ 3 ครั้ง ในช่วงที่มีประจำเดือน 3 วันแรก เพื่อดูความรุนแรงและระยะเวลาของการปวดประจำเดือนเป็นเวลา 2-3 เดือน ผลพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่รับประทานยาสมุนไพรมีคะแนนด้านอาการปวดและระยะเวลาในการปวดประจำเดือนลดลงมากที่สุด ซึ่งพอจะชี้ให้เห็นได้ว่าขึ้นฉ่ายอาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลุ่มการทดลองในงานวิจัยมีจำนวนจำกัด และคาดว่าสมุนไพรตัวอื่น ๆ ที่ใช้อาจมีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวดได้เช่นกัน ทำให้ต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของขึ้นฉ่ายในด้านนี้อย่างเฉพาะเจาะจงต่อไป

ทาป้องกันยุง ผลการศึกษาในห้องทดลองระบุว่าองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเฮกเซน ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในขึ้นฉ่าย อาจเป็นตัวเลือกที่ใช้ทดแทนสารเคมีในผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงได้ จึงมีการค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติในด้านนี้

จากการทดสอบฤทธิ์ไล่ยุงของสารละลายเอทานอลที่สกัดจากขึ้นฉ่ายในอาสาสมัคร เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่มีสารไล่ยุงมาตรฐาน (DEET) และสารไล่ยุงตามท้องตลาดอีก 15 ชนิด ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ ผลพบว่าสารละลายเอทานอลจากขึ้นฉ่ายและสารไล่ยุงมาตรฐานมีฤทธิ์ไล่ยุงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์และสารวานิลิน (Vanillin) ความเข้มข้น 5% ที่เติมเข้าไป โดยสารละลายเอทานอลจากขึ้นฉ่ายที่มีความเข้มข้น 10-25% และไม่มีสารวานิลิน ช่วยป้องกันยุงกัดได้นาน 2-5 ชั่วโมง และมีฤทธิ์ไล่ยุงมากยิ่งขึ้นเมื่อเพิ่มสารวานิลินเข้าไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับสารไล่ยุงมาตรฐาน หากใช้ในปริมาณความเข้มข้นเท่ากัน ส่วนสารไล่ยุงชนิดอื่น ๆ นั้นมีฤทธิ์ไล่ยุงต่ำกว่าสารละลายเอทานอลจากขึ้นฉ่ายผสมสารวานิลิน 5% ทั้งนี้ สารละลายเอทานอลจากขึ้นฉ่ายไม่ก่อให้เกิดอาการแสบร้อนหรือระคายเคืองตามผิวหนังและส่วนอื่นของร่างกาย จากการศึกษาครั้งนี้ คาดว่าขึ้นฉ่ายอาจเป็นสารสกัดจากธรรมชาติอีกตัวเลือกหนึ่งที่นำมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ไล่ยุงแทนสารเคมีในอนาคตได้

บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อ ขึ้นฉ่ายและเมล็ดขึ้นฉ่ายมีสารประกอบหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในร่างกาย ซึ่งกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นนี้มักก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดตามมา ทั้งยังเชื่อมโยงกับการเกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคข้ออักเสบ โรคกระดูกพรุน เป็นต้น

จากการศึกษากับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย จำนวน 13 คน โดยทดลองให้รับประทานผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีส่วนประกอบของขึ้นฉ่ายและสมุนไพรอื่น ๆ ในปริมาณ 350 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งหลังอาหาร จำนวน 2 แคปซูล เป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งในระหว่างนี้ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม จากนั้นวัดผลโดยให้ผู้ป่วยทำแบบทดสอบและสัมภาษณ์หลังจบการทดลอง รวมทั้งติดตามผลอีกครั้งเมื่อผ่านไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ผลจากการวิเคราะห์อาการปวดและการเคลื่อนไหวบริเวณที่มีอาการปวดในแต่ละตำแหน่ง พบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดลดลงและเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นหลังการติดตามผล ทั้งยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงจากการใช้สมุนไพรดังกล่าว

การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าขึ้นฉ่ายและสมุนไพรต่าง ๆ อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกชนิดเรื้อรัง แต่เนื่องจากเป็นการทดลองในกลุ่มคนจำนวนน้อยและมีระยะเวลาค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่อาจสรุปผลต่อการรักษาได้ในทันที และจำเป็นต้องรอให้มีงานวิจัยเพิ่มเติมในอนาคตที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพด้านนี้ของขึ้นฉ่ายโดยตรง

ดีต่อการทำงานของกระเพาะอาหาร เพคติน (Pectin) เป็นไฟเบอร์หรือเส้นใยธรรมชาติที่กล่าวกันว่ามีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร งานวิจัยในสัตว์พบว่าสารประกอบในกลุ่มเพคตินช่วยเสริมการทำงานของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ลดการหลั่งกรดและการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งขึ้นฉ่ายเองก็มีเพคตินเป็นส่วนประกอบ จึงเชื่อว่าการรับประทานขึ้นฉ่ายน่าจะมีส่วนช่วยเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร และลดความเสี่ยงจากโรคกระเพาะอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ควรต้องมีการศึกษาทดลองกับมนุษย์โดยตรงเพื่อยืนยันประโยชน์ข้อนี้  

อุดมไปด้วยกากใยชื่อกันว่าขึ้นฉ่ายเป็นอาหารประเภทแคลอรี่เชิงลบหรือพลังงานติดลบ (Zero-Calorie Food/Negative-Calorie Foods) เพราะมีกากใยอาหารสูง แต่ร่างกายไม่สามารถย่อยกากใยได้เหมือนสารอาหารประเภทอื่น ทำให้ไม่ได้รับพลังงานจากการรับประทานกากใย ทั้งยังต้องนำพลังงานออกมาใช้ในกระบวนการย่อย คนส่วนใหญ่จึงมีแนวคิดว่าการรับประทานอาหารกากใยสูงอย่างขึ้นฉ่าย น่าจะมีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนักได้

สำหรับข้อเท็จจริงในด้านนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่าอาจเป็นไปได้ แต่ก็ต้องรับประทานในปริมาณมาก จึงจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน ทั้งยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขึ้นฉ่ายมีแคลอรี่น้อย มีกากใยอาหารสูง และมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยให้อิ่มท้องได้นานและเสริมการทำงานของระบบการย่อยอาหาร การเสริมเมนูที่มีขึ้นฉ่ายในมื้ออาหารจึงอาจเป็นตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพ

ความปลอดภัยในการรับประทานขึ้นฉ่าย

การรับประทานขึ้นฉ่ายหรือใช้ทาผิวหนังเพื่อรักษาโรคในเวลาสั้น ๆ ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง ส่วนขึ้นฉ่ายในรูปแบบอื่นอย่างเช่นเมล็ดหรือน้ำมันที่สกัดจากขึ้นฉ่ายนั้น ควรรับประทานในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหาร อย่างไรก็ตาม การรับประทานขึ้นฉ่ายอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในบางราย เช่น ผิวหนังอักเสบหรือไวต่อแสงแดดมากขึ้น นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้หรือรับประทานขึ้นฉ่ายตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขึ้นฉ่ายในปริมาณมากทุกรูปแบบ เพราะอาจทำให้มดลูกหดตัวและเสี่ยงต่อภาวะแท้ง 
  • หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรรับประทานเมล็ดหรือน้ำมันที่สกัดจากขึ้นฉ่าย เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย
  • ผู้ที่มีอาการแพ้พืชผักบางชนิดอาจมีอาการแพ้จากการรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของขึ้นฉ่ายได้เช่นกัน
  • ขึ้นฉ่ายอาจเพิ่มความเสี่ยงให้มีเลือดออกง่ายขึ้นเมื่อรับประทานในปริมาณมาก ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติจึงควรหลีกเลี่ยง
  • ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรรับประทานหรือใช้ขึ้นฉ่ายในปริมาณมาก เพราะอาจก่อให้เกิดการอักเสบตามมา
  • การรับประทานขึ้นฉ่ายในปริมาณมากอาจทำให้ความดันเลือดลดต่ำลง ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำจึงควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง
  • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดรับประทานขึ้นฉ่ายอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนหน้า เพราะขึ้นฉ่ายอาจทำปฏิกิริยากับยาสลบหรือยาชนิดอื่นที่ใช้ในระหว่างหรือหลังการผ่าตัด และส่งผลให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานช้าลง
  • ยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับขึ้นฉ่าย เช่น ยาเลโวไทรอกซีน ยาลิเทียม ยาบางชนิดที่ไวต่อแสง ยาระงับประสาทหรือยาที่ออกฤทธิ์ให้เกิดอาการง่วงซึม เป็นต้น ผู้ที่รับประทานยาเป็นประจำหรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานขึ้นฉ่ายเป็นยารักษาโรคทุกครั้ง