ขี้ลืม กับสาเหตุง่าย ๆ ที่หลายคนไม่เคยรู้

ขี้ลืม เป็นอาการทั่วไปที่พบได้ในคนทุกช่วงวัย แต่หากเกิดขึ้นบ่อยก็อาจทำให้หงุดหงิดรำคาญใจได้ ส่วนใหญ่แล้วอาการขี้หลงขี้ลืมอาจไม่ใช่อาการของโรคทางสมองเสมอไป บางครั้งสามารถเกิดได้จากสาเหตุทั่วไปที่หลายคนไม่รู้มาก่อน อย่างการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือการดื่มแอลกอฮอล์

การรู้ถึงสาเหตุและพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุของอาการขี้ลืมอาจช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาด้านความจำชั่วคราวสามารถหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงได้มากขึ้น โดยในบทความนี้ได้รวบรวมสาเหตุของอาการขี้ลืมที่มาจากชีวิตประจำวัน วิธีการรับมือ ไปจนถึงวิธีสังเกตอาการที่รุนแรงขึ้นมาให้ได้อ่านกัน

ขี้ลืม

สาเหตุของอาการขี้ลืมจากชีวิตประจำวัน

สาเหตุและพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่างที่หลายคนทำเป็นประจำอาจเป็นสาเหตุของปัญหาด้านความทรงจำได้ โดยเฉพาะสาเหตุต่อไปนี้

1. พักผ่อนไม่เพียงพอ

ในการทำสิ่งต่าง ๆ ในแต่ละวัน สมองเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนเกิดความเหนื่อยล้าได้ ซึ่งการนอนหลับจะช่วยลดความเหนื่อยล้าและฟื้นฟูประสิทธิภาพในการทำงานของสมอง อีกทั้งระหว่างนอนหลับ สมองบางส่วนยังคงทำหน้าที่ในการจัดเรียงความทรงจำของวันที่ผ่านมาด้วย แต่เมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอก็อาจทำให้สมองเกิดความเหนื่อยล้าสะสมและทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดอาการขี้ลืม เบลอ หรือไม่มีสมาธิ รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอารมณ์ทางด้านลบ อย่างความเครียดหรือความรู้สึกหงุดหงิดได้อีกด้วย

ดังนั้น การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอก็อาจช่วยลดเสี่ยงของอาการดังกล่าวได้ เราจึงควรฝึกนิสัยการนอนหลับที่ดีอย่างการนอนเป็นเวลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดคาเฟอีนในช่วงบ่ายและช่วงเย็น และงดอาหารก่อนเวลานอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม หากนอนไม่หลับติดต่อกันนานหรือรู้ว่าอาการนอนไม่หลับมีสาเหตุความเจ็บป่วย ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง

2. อารมณ์และความรู้สึกด้านลบ

อารมณ์และความรู้สึกด้านลบ อย่างความเครียด ความรู้สึกวิตกกังวล ความเศร้า อาจทำให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) บางชนิดออกมามากกว่าปกติ จึงทำให้สมองทำงานผิดไปจากเดิมจนส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความจำและการเรียนรู้ โดยเฉพาะภาวะเครียดระยะเรื้อรัง อีกทั้งความรู้สึกเหล่านี้มักทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย

เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเครียดและอารมณ์ด้านลบ ควรหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดในแบบของคุณเอง อย่างการออกกำลังกาย ดูหนัง และนั่งสมาธิ หากบางคนต้องเผชิญกับความเครียดและความเศร้าเป็นประจำ ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการรับมือ

3. การขาดวิตามินบี 12

วิตามินบี 12 หรือโคบาลามีน (Cobalamin) เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง จากการศึกษาพบว่าการขาดวิตามินบี 12 อาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง อย่างอาการขี้ลืม ปัญหาด้านการเรียนรู้ อาการชาตามกล้ามเนื้อ ไปจนถึงภาวะซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์

ดังนั้น การได้รับวิตามินบี 12 อย่างเพียงพออยู่เป็นประจำก็อาจช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งวิตามินชนิดนี้สามารถพบได้ในอาหารประเภทไข่ ปลา และเนื้อสัตว์ โดยในแต่ละวัน วัยผู้ใหญ่ควรได้รับวิตามินบี 12 ในปริมาณ 2.4 ไมโครกรัมต่อวัน

4. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทราบกันดีว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างผลเสียให้กับสุขภาพร่างกาย ทำให้เกิดอาการมึนเมาและหมดสติ เพราะแอลกอฮอล์ที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือดจะลดการทำงานของสมองในส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการและรักษาความทรงจำ เมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการหลงลืมในระยะสั้นได้ โดยเฉพาะในช่วงที่แอลกอฮอล์ยังออกฤทธิ์อยู่ จึงอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายคนไม่สามารถจดจำเรื่องราวในคืนปาร์ตี้ได้

นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำอาจส่งผลต่อระบบการดูดซึมสารอาหาร ทำให้ร่างกายและสมองไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ จึงอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและสมอง รวมถึงปัญหาด้านความจำในระยะยาวได้เช่นกัน ฉะนั้น ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมและไม่บ่อยจนเกินไป

5. น้ำหนักเกิน

ภาวะอ้วน (Obesity) หรือมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ในหลายด้าน และอาจรวมถึงอาการขี้หลงขี้ลืมด้วย จากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ทดสอบประสิทธิภาพด้านความจำในคนที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ที่แตกต่างกัน ซึ่งค่าดัชนีมวลกายนี้ใช้เป็นเกณฑ์ในการระบุสถานะน้ำหนัก อย่างผอม สมส่วน หรืออ้วน โดยผลการศึกษาชี้ว่า ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์สูงหรือผู้ที่มีน้ำหนักมากมีผลการทดสอบเกี่ยวกับความจำในบางด้านน้อยกว่ากลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า ดังนั้น น้ำหนักตัวเยอะก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการขี้ลืมได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

นอกจากการศึกษาชิ้นนี้แล้ว ภาวะอ้วนมักมาพร้อมกับภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea) โดยภาวะความดันโลหิตสูงอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบของร่างกายและสมอง จึงอาจส่งผลต่อการทำงานของสมองและระบบความจำได้ ส่วนภาวะหยุดหายใจขณะหลับมักส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจทำงานหนักระหว่างนอนหลับ ทำให้ร่างกายไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ และยังทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับ ซึ่งก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของอาการขี้ลืมได้

ด้วยเหตุนี้ การควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างการออกกำลังกาย การคุมอาหาร หรือการเข้ารับการรักษาภาวะอ้วนจากแพทย์ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาด้านความจำที่เกิดจากน้ำหนัก ไปจนถึงโรคร้ายแรงชนิดอื่นที่เกิดจากภาวะอ้วน

6. การใช้ยา

การใช้ยารักษาโรคบางชนิดอาจไม่ได้ส่งผลต่ออาการของโรคนั้น ๆ เพียงอย่างเดียว แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างปัญหาทางด้านความจำได้โดยผู้ป่วยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งตัวอย่างกลุ่มยาต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงเกี่ยวกับความทรงจำจากการใช้ยาได้  

  • ยานอนหลับ
  • ยาแก้แพ้และยาแก้หวัด
  • ยาคลายเครียด
  • ยาต้านเศร้า
  • ยาแก้ปวด
  • ยาลดไขมันในเลือด
  • ยารักษาโรคเบาหวาน

หากผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและคาดว่าเกิดผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและวิธีการรับมือ ซึ่งแพทย์อาจปรับเปลี่ยนปริมาณหรือชนิดของยาเพื่อป้องกันผลข้างเคียง

7. อายุที่เพิ่มขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาการขี้หลงขี้ลืมนั้นเป็นสัญญาณของอายุที่เพิ่มขึ้น โดยอาจเริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 45-49 ปี อาการที่เกิดนี้ไม่ได้หมายถึงการเป็นโรคความจำเสื่อมหรือโรคทางสมองที่ร้ายแรง แต่อาจเป็นเพียงปัญหาทางด้านความทรงจำเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ลืมชื่อของผู้ที่เพิ่งเจอกัน ลืมรายชื่อสิ่งของที่ต้องการจะซื้อ หรือนึกคำที่จะพูดไม่ออกเท่านั้น เป็นต้น 

โดยอาการเหล่านี้ แม้ในคนอายุน้อยก็อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงอาจไม่มีความจำเป็นต้องกังวลอะไรตราบใดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เพียงแต่ควรหมั่นดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับช่วงวัย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และเข้ารับการตรวจสุขภาพตามความเหมาะสมของช่วงวัย

ผู้ที่มีอาการขี้ลืมไม่รุนแรงและไม่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในข้างต้นก็อาจเป็นอีกทางที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น บางคนอาจมีปัญหาทางด้านความจำได้จากสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอื่น ดังนั้น หากเจอกับปัญหาด้านความจำที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ร่วมกับอาการอื่น อย่างพบปัญหาในการตัดสินใจ หลงทาง หรือถามคำถามเดิมซ้ำ ๆ ควรไปพบแพทย์เพราะอาการนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคสมอง อย่างโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมได้