ขาเทียมกับเรื่องที่ควรรู้

ขาเทียม (Prosthetic Leg) คือ กายอุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีกลไกและการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับขาจริง เพื่อคอยช่วยเหลือประคับประคองการทรงตัว การเดิน และการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยที่ต้องเสียขาไปจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยต่าง ๆ โดยขาเทียมอาจทำมาจากวัสดุที่แตกต่างหลากหลาย บ้างก็ถูกผลิตให้มีลักษณะคล้ายกับขาจริง โดยทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตและทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองต่อไปได้แม้หลังการสูญเสียขา

ขาเทียม

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องใส่ขาเทียม

  • ความเจ็บป่วยในระบบหมุนเวียนโลหิต จนแพทย์พิจารณาว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดนำขาออกไป เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ เช่น การติดเชื้อรุนแรงจากแผลที่เท้าและขาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
  • การบาดเจ็บที่ทำให้บริเวณขาเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน หรือการออกรบในสงครามของเหล่าทหาร
  • ผู้ป่วยมะเร็งที่เซลล์มะเร็งลุกลามจนต้องตัดขา
  • ผู้ที่มีร่างกายพิการแต่กำเนิด

ประเภทของขาเทียม

  • ขาช่วงบนกับเข่า เป็นขาเทียมสำหรับผู้ที่ถูกผ่าตัดขาตั้งแต่เหนือเข่าขึ้นไป โดยขาเทียมชนิดนี้จะมีกลไกข้อต่อที่ยึดทั้งช่วงหัวเข่ากับช่วงข้อเท้า โดยผู้ป่วยอาจควบคุมขาเทียมด้วยระบบความดันน้ำหรือน้ำมัน (Fluid หรือ Hydraulic Controlled) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเดินหรือเคลื่อนไหวขาได้เร็วขึ้น หรืออาจเป็นขาเทียมแบบควบคุมด้วยกลไกคอมพิวเตอร์ ที่ช่วยให้สามารถปรับระดับและควบคุมการเดินให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น
  • ขาช่วงล่างกับเท้า เป็นขาเทียมสำหรับผู้ที่ถูกผ่าตัดขาตั้งแต่ใต้เข่าลงมา โดยขาเทียมที่ถูกสวมจะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของข้อเท้าและเท้า ซึ่งอาจควบคุมด้วยระบบไมโครโปรเซสเซอร์ (Microprocessor) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประมวลผลอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ที่ใช้เซ็นเซอร์ควบคุมปรับการเคลื่อนไหวของข้อต่อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้คล่องตัวขึ้น และมีความเสี่ยงจากการพลาดหกล้มลดลง

การเลือกใช้ขาเทียม

หากคุณเป็นผู้ที่ต้องการหรือจำเป็นต้องใช้ขาเทียม แพทย์และนักกายอุปกรณ์จะพิจารณาจากหลาย ๆ องค์ประกอบ เพื่อเลือกอุปกรณ์ขาเทียมที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้งาน

โดยปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้ขาเทียม และประสิทธิผลหลังจากการใช้ขาเทียม อาจขึ้นอยู่กับประเด็นเหล่านี้

  • ตำแหน่งที่ขาถูกตัดออกไปหรือพิการ และระดับความรุนแรงในการเสียขาไป
  • ลักษณะของขาที่เหลืออยู่
  • ระดับความจำเป็นในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ขา
  • จุดประสงค์เฉพาะบุคคลของผู้ป่วย
  • อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย
  • ชนิดและรูปแบบของขาเทียมที่เลือกใช้
  • ความแข็งแรงทนทาน ความเสถียรมั่นคง และความสบายจากการใส่ขาเทียมนั้น

ผู้ป่วยจะใส่ขาเทียมได้เมื่อใด ?

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใส่ขาเทียมขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ป่วยและความพร้อมในตำแหน่งที่ต้องการใส่ขาเทียม โดยทั่วไป แพทย์จะใส่ขาเทียมให้ผู้ป่วยประมาณ 2-6 เดือนหลังการผ่าตัดขา เมื่่อแพทย์พิจารณาว่าแผลสมานตัวดีแล้ว ไม่มีอาการบวมในบริเวณนั้น และผู้ป่วยได้รับการเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสมแล้ว

การเตรียมความพร้อมก่อนใส่ขาเทียม

ด้านจิตใจ: หลังจากการสูญเสียขาซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญส่วนหนึ่งไป ผู้ป่วยแต่ละรายย่อมมีการตอบสนองทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากผู้ป่วยประสงค์ที่จะใส่ขาเทียม ควรเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจก่อนพอสมควร ปรับสภาพจิตใจให้ยอมรับและอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบันให้ได้ พร้อมวางแผนการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตใหม่ เพื่อให้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แม้ต้องใส่ขาเทียม

ด้านร่างกาย:

  • หมั่นออกกำลังกาย บริหารกล้ามเนื้อ เพื่อปรับสมดุลการทรงตัวและการเคลื่อนไหวร่างกาย
  • เตรียมความพร้อมและดูแลอวัยวะส่วนที่ต้องต่อเข้ากับขาเทียมให้อยู่ในสภาพที่ดี
  • ฝึกท่าทางการเคลื่อนไหวตำแหน่งต่าง ๆ และฝึกยืดกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อยึดตึง
  • ควบคุมและรักษาโรคประจำตัวหรืออาการป่วยที่อาจก่อปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตรายได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ อัมพาต เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน เป็นต้น

ขั้นตอนการใส่ขาเทียม

แพทย์และนักกายอุปกรณ์จะดำเนินการใส่ขาเทียมให้ผู้ป่วยเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม โดยอาจมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • แพทย์จะประเมินสภาพช่วงปลายขาที่ต้องต่อเข้ากับขาเทียม
  • เลือกวัสดุ ลักษณะ และชนิดของขาเทียม โดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
  • ทำแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ให้เข้ากับลักษณะขาของผู้ป่วย
  • สร้างขาเทียมและกลไกข้อต่อต่าง ๆ ที่ควบคุมการทำงานของขาเทียม
  • ติดตั้งอุปกรณ์ส่วนที่ต้องต่อเข้ากับอวัยวะส่วนที่เหลือ และใส่ขาเทียมให้แก่ผู้ป่วย
  • นักกายอุปกรณ์จะสอนวิธีการใช้ เคลื่อนไหว ควบคุมขาเทียม และแนะนำวิธีการดูแลรักษาขาเทียม

การดูแลขาเทียม

หลังใส่ขาเทียม ผู้ป่วยต้องดูแลสุขภาพของตน รวมทั้งดูแลรักษาขาเทียมให้อยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมใช้งาน โดยผู้ที่ใส่ขาเทียมอาจมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • ถอดขาเทียมก่อนเข้านอน
  • ตรวจสอบการชำรุดเสียหายในส่วนต่าง ๆ ของขาเทียมอยู่เสมอ
  • ทำความสะอาดข้อต่อของขาเทียมด้วยสบู่และน้ำสะอาด
  • เฝ้าสังเกตอาการที่เกิดขึ้นบริเวณขาที่ต่อกับขาเทียม ว่ารู้สึกเจ็บปวด มีรอยช้ำ มีบาดแผล หรือมีสัญญาณอาการแพ้ใด ๆ หรือไม่ หากพบอาการเจ็บป่วย ให้รีบติดต่อหรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
  • หมั่นทำความสะอาด ทาโลชั่น และนวดบริเวณขาที่ต่อกับขาเทียม
  • ให้พันผ้าพันแผลไว้บริเวณขาที่ต่อกับขาเทียม เพื่อลดอาการบวมในขณะที่ถอดขาเทียมออก
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมอยู่เสมอ เพื่อให้ขาเทียมเข้ากับขาได้พอดี
  • ออกกำลังกายเพื่อฝึกยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ ฝึกการเคลื่อนไหว ฝึกท่าทางการทรงตัว และความแข็งแรงของขาตามที่แพทย์หรือนักบำบัดแนะนำ
  • ฝึกทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ โดยให้ขาเทียมเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตทดแทนขาที่เสียไป
  • ฝึกเดินด้วยขาเทียมให้คล่อง และหัดเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมสันทนาการด้วยการใช้ขาเทียมบ้าง
  • หัดเดินในสภาพพื้นผิวที่แตกต่างกัน เช่น พื้นดินที่ขรุขระ เดินขึ้นบันได เป็นต้น
  • สวมถุงเท้าที่แห้งและสะอาดแม้ใส่ขาเทียม ใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้า และไม่ปรับเปลี่ยนความสูงของส้นรองเท้า
  • เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างการหกล้ม แล้วพยายามฝึกลุกขึ้นให้ได้ด้วยตนเอง
  • ไปพบแพทย์และนักกายอุปกรณ์ เพื่อตรวจสอบสภาพและการทำงานของขาเทียมอย่างน้อยปีละครั้ง

หากต้องการใส่ขาเทียม จะติดต่อหรือรับคำปรึกษาได้ที่ไหน ?

ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในปัจจุบัน ทั้งผู้ป่วยที่ถูกตัดขา หรือผู้ที่พิการแต่กำเนิดก็สามารถใส่ขาเทียมที่มีประสิทธิภาพ ช่วยปรับการเคลื่อนไหว การทรงตัว การทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้หลังการสูญเสียครั้งสำคัญ

ดังนั้น หากคุณเป็นผู้ที่สนใจ ต้องการใส่ขาเทียม หรือกำลังลังเลใจเกี่ยวกับการใช้ขาเทียม ลองขอรับคำปรึกษาได้จากแพทย์ นักบำบัด และนักกายอุปกรณ์ตามสถานพยาบาลต่าง ๆ

นอกจากนั้น ในส่วนของประเทศไทย มีมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่จัดตั้งขึ้น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการทำขาเทียม ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พิการและผู้ป่วยยากไร้ที่จำเป็นต้องใส่ขาเทียม โดยศึกษาข้อมูลหรือปรึกษาเกี่ยวกับการขอรับขาเทียมได้ รวมไปถึงผู้ที่มีจิตศรัทธา ก็สามารถบริจาคทุนทรัพย์หรือวัสดุพื้นฐานในการทำขาเทียมได้ด้วยเช่นกัน