กำจัดขนด้วยเลเซอร์

การเลเซอร์ขน เป็นวิธีการกำจัดขนที่ไม่พึงประสงค์ด้วยการใช้แสงเลเซอร์พลังความร้อนสูงทำลายต่อมรากขน (Hair Follicle) เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเส้นขนไม่ให้ขึ้นมาอีกในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่การกำจัดขนด้วยเลเซอร์นี้นิยมนำมาใช้กับเส้นขนที่ใบหน้า แขน ขา ใต้วงแขน รวมถึงเส้นขนตามแนวบิกินี่

เลเซอร์

ประโยชน์ของการเลเซอร์ขน

กระบวนการเลเซอร์ขนช่วยกำจัดขนที่ไม่พึงประสงค์บนส่วนใด ๆ ของร่างกาย ยกเว้นแต่บริเวณเปลือกตาหรือรอบดวงตาเท่านั้น เนื่องจากแสงเลเซอร์จะเป็นอันตรายต่อดวงตาได้ นอกจากนี้ทางการแพทย์ยังนำเลเซอร์มาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคบางชนิด ได้แก่ ภาวะขนดก โรคมนุษย์หมาป่า (Hypertrichosis) ซึ่งมีขนยาวปกคลุมทั่วร่างกาย โรครูขุมขนอักเสบหรือขนคุด และขนที่ขึ้นบริเวณแผลที่มีการปลูกถ่ายผิวหนัง

ข้อจำกัดของการทำเลเซอร์ขน

ผลลัพธ์และประสิทธิภาพของการกำจัดขนด้วยเลเซอร์ในแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสีขนและสีของผิว โดยการทำเลเซอร์จะมีประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากับผู้ที่มีผิวขาวและมีเส้นขนสีดำ เพราะลำแสงเลเซอร์จะทำลายรากขนด้วยการตรวจจับสารสีเมลานินซึ่งมีมากกว่าในเส้นขนสีดำ แต่ก็ใช่ว่าคนที่มีผิวคล้ำจะไม่สามารถใช้เลเซอร์กำจัดขนได้ เพราะในปัจจุบันก็เริ่มมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พัฒนาเลเซอร์ให้สามารถใช้ได้ดีกับคนผิวคล้ำได้แล้ว

นอกจากนี้ การกำจัดขนด้วยเลเซอร์บางบริเวณอาจมีราคาค่อนข้างแพงและยังต้องทำหลายครั้ง เช่น แพทย์อาจแนะนำให้ทำ 4-6 ครั้งโดยเว้นระยะแต่ละครั้งประมาณ 4-6 สัปดาห์ ทั้งนี้ผลลัพธ์จากการทำจะคงอยู่เพียงชั่วคราว โดยช่วยหยุดการเติบโตของขนได้ในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ไปจนถึงเป็นเดือน และยังไม่อาจรับประกันว่าจะช่วยกำจัดขนได้ทั้งหมด

เตรียมพร้อมก่อนทำเลเซอร์ขน

การกำจัดขนด้วยเลเซอร์เป็นกระบวนการที่ต้องกระทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ ก่อนทำจึงควรศึกษาข้อมูลและเลือกแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านผิวหนังหรือศัลยกรรมความงามและมีประสบการณ์ในการทำเลเซอร์กำจัดขนมาก่อน

ก่อนการตัดสินใจทำเลเซอร์ แพทย์จะสอบถามประวัติด้านสุขภาพและการใช้ยาของคนไข้ แล้วจึงพูดคุยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการทำเลเซอร์ รวมทั้งถามถึงความคาดหวังต่อผลลัพธ์การรักษา จากนั้นจะชี้แจงว่าเลเซอร์สามารถช่วยตอบสนองความต้องการข้อไหนได้ มีข้อจำกัดใดบ้างที่ไม่อาจทำได้ และมีการอธิบายขั้นตอนการรักษาให้คนไข้ได้ทราบ พูดคุยเรื่องราคาค่าใช้จ่าย และอาจถ่ายรูปขนบริเวณที่จะกำจัดเพื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการรักษา

ผู้ป่วยที่ตัดสินใจเข้ารับการทำเลเซอร์กำจัดขน มีขั้นตอนการเตรียมพร้อมก่อนทำเลเซอร์ที่ควรต้องปฏิบัติคือ ห้ามถอนขน แว็กซ์ขน หรือกำจัดขนโดยใช้กระแสไฟฟ้า (Electrolysis) มาก่อนเป็นเวลา 6 สัปดาห์ เนื่องจากวิธีเหล่านี้เป็นการกำจัดรากขนออกไปชั่วคราว ทำให้เลเซอร์ไม่สามารถตรวจจับและทำลายรากขนได้ กรณีที่จำเป็นต้องกำจัดขนอาจใช้วิธีโกน แต่ควรหยุดโกนขนในช่วง 2-3 วันก่อนทำการรักษา ทั้งนี้การโกนขนมีประโยชน์ในการช่วยให้เลเซอร์ไม่ไปจับโดนเส้นขนเหนือผิวหนัง ซึ่งจะส่งผลให้ผิวหนังแสบร้อนจากการไหม้

นอกจากนี้คนไข้ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดในช่วง 6 สัปดาห์ก่อนและหลังทำเลเซอร์ เพราะจะส่งผลให้ประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์จากการทำลดน้อยลงและเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษามากขึ้นด้วย

กระบวนการทำเลเซอร์ขน

แพทย์จะเล็มขนของคนไข้ออกก่อนเริ่มเลเซอร์ขน หลังจากนั้นทั้งผู้ที่เข้ารับการทำเลเซอร์และแพทย์จะต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันตาที่เหมาะสมกับชนิดของเลเซอร์ที่นำมาใช้ รวมทั้งป้องกันชั้นผิวของคนไข้ด้วยการใช้เจลเย็นหรืออุปกรณ์ให้ความเย็นชนิดพิเศษช่วยให้ผิวของคนไข้สามารถทนความร้อนจากแสงเลเซอร์ และทำให้เลเซอร์สามารถแทรกผ่านผิวหนังได้ หรืออาจใช้ยาชาชนิดทาป้ายบนผิวหนังเพื่อลดการระคายเคืองขณะทำเลเซอร์ร่วมด้วย

ต่อมาแพทย์จะใช้อุปกรณ์เลเซอร์ที่ถูกปรับให้เหมาะกับสีและความหนาของขน สีผิวคนไข้ และตำแหน่งที่จะทำการกำจัดขน จากนั้นใช้แสงเลเซอร์จ่อไปที่บริเวณที่ทำการรักษาและจับตาดูบริเวณดังกล่าวนานหลายนาทีเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องเลเซอร์ถูกปรับค่าไว้อย่างเหมาะสมและไม่มีปฏิกริยาที่น่าวิตกกังวลใด ๆ

แสงเลเซอร์จะทำงานโดยผ่านผิวหนังไปยังต่อมรากขน ส่งความร้อนสูงทำลายรากขนเหล่านี้ให้เส้นขนหยุดการเติบโต การทำเลเซอร์มีความเร็วในการกำจัดเส้นขนได้หลาย ๆ เส้นพร้อมกันภายในเสี้ยววินาที โดยทุก ๆ 1 วินาทีจะสามารถกำจัดขนได้ในพื้นที่ขนาดประมาณเหรียญสิบ การเลเซอร์ขนที่บริเวณเล็ก ๆ เช่น เหนือปากบนอาจใช้เวลาเพียง 2-3 นาที แต่หากเป็นบริเวณกว้างเช่นที่หลังก็อาจต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง ทั้งนี้ในระหว่างได้รับเลเซอร์คนไข้อาจรู้สึกระคายเคืองคล้ายถูกหนังยางดีดที่ผิวหนัง

การกำจัดขนด้วยเลเซอร์อาจทำให้ผิวหนังแดงและบวมได้ในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรก แพทย์อาจใช้แผ่นน้ำแข็งประคบ สเตียรอยด์ชนิดครีมหรือโลชั่นลดการอักเสบ รวมทั้งน้ำเย็นเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองใด ๆ ที่ผิวหนัง และอาจนัดทำเลเซอร์ครั้งต่อไปในอีก 4-6 สัปดาห์ถัดมา ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าขนของคนไข้จะหยุดขึ้น

หลังจากการทำเลเซอร์ขน

ช่วง 1-2 วันหลังจากการทำ บริเวณผิวหนังที่ได้รับเลเซอร์อาจยังแสบร้อนอยู่ ให้ใช้แผ่นประคบเย็นและโลชั่นบำรุงผิวทาช่วยบรรเทาอาการ ส่วนคนไข้ที่เลเซอร์ขนบนใบหน้านั้นสามารถแต่งหน้าได้ตามปกติหากผิวหนังไม่มีอาการพุพองใด ๆ และระหว่างนี้ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด เมื่อรู้สึกดีขึ้น ผิวหนังบริเวณที่ทำการเลเซอร์มีการอักเสบลดลงแล้วจึงออกแดดได้ตามปกติ แต่ต้องทาครีมกันแดดป้องกันทุกครั้ง นอกจากนี้คนไข้บางรายยังอาจพบว่ามีเส้นขนที่ได้รับการรักษาเริ่มหลุดร่วงออกมาหลังจากนี้ได้

ด้านผลการรักษาอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน และยังขึ้นอยู่กับว่าเป็นการรักษาที่บริเวณใด การเลเซอร์ขนหลาย ๆ ครั้งสามารถช่วยยืดเวลาของขนที่จะขึ้นมาใหม่ บางครั้งอาจนานเป็นปี แต่ก็มีโอกาสที่ขนจะขึ้นมาใหม่ในระหว่างนี้ได้เช่นกัน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คนไข้อาจต้องรับการฉายเลเซอร์ทั้งหมด 4-6 ครั้ง ทุก ๆ 6 สัปดาห์ และรับการรักษาเพิ่มเติมเป็นครั้งคราวทุก 6-12 เดือนหากต้องการคงผลลัพธ์ไว้ต่อไป

ผลข้างเคียงจากการเลเซอร์ขน

การกำจัดขนด้วยเลเซอร์ในปัจจุบันยังไม่ทราบถึงผลข้างเคียงระยะยาว มีเพียงผลข้างเคียงชั่วคราวที่อาจเกิดขึ้นได้เล็กน้อย ที่พบได้บ่อยที่สุดคือการระคายเคืองของผิวหนัง ได้แก่ อาการแดงและบวมหลังการทำ ซึ่งมักจะดีขึ้นเมื่อผ่านไปหลาย ๆ ชั่วโมงแล้ว หรือบางรายก็พบว่าสีผิวบริเวณที่ถูกแสงเลเซอร์เข้มขึ้นหรือซีดลง โดยมักเกิดกับผู้ที่มีผิวสีเข้ม และยิ่งมีโอกาสเกิดมากขึ้นหากมีการปรับใช้อุปกรณ์เลเซอร์ที่ไม่เหมาะสมกับคนไข้รายนั้น ๆ

นอกจากนี้ ผลข้างเคียงอื่น ๆ จากการกำจัดขนด้วยเลเซอร์ที่พบได้ไม่บ่อยยังมีดังนี้

  • แผลพุพองหรือสะเก็ดแข็งบนผิวหนัง ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 10 วันจึงจะหาย
  • ผิวหนังบริเวณที่ถูกเลเซอร์มีสีเข้มขึ้นหรืออ่อนลงเป็นเวลาหลายเดือนหลังรับการกำจัดขนด้วยเลเซอร์
  • แผลไหม้แสบร้อนผิว
  • อาการบวมอย่างรุนแรงที่อาจคงอยู่ประมาณ 7 วัน
  • เกิดรอยแผลเป็น
  • รอยฟกช้ำที่อาจคงอยู่นานถึง 15 วัน

ทั้งนี้คนไข้ที่ไม่พอใจต่อผลลัพธ์การรักษาหรือมีปัญหาภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ตามมา ควรปรึกษาแพทย์