การติดเชื้อแบคทีเรีย CRE (CRE Infection)

ความหมาย การติดเชื้อแบคทีเรีย CRE (CRE Infection)

CRE (Carbapenem Resistant Enterobacteriaceae) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฎิชีวนะหลายชนิด พบได้ในอุจจาระหรือลำไส้ สามารถแพร่กระจายได้จากการสัมผัสกับสิ่งของที่มีการปนเปื้อนสารคัดหลั่งหรือบาดแผลของผู้ติดเชื้อ หากเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย CRE จะทำให้ยากต่อการรักษา โดยผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการที่แตกต่างกันไป  

เชื้อแบคทีเรีย CRE สามารถอยู่ในร่างกายของผู้ที่มีสุขภาพดีได้โดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ แต่หากเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ตัวเขียวจากการขาดออกซิเจน มีไข้ ปอดอักเสบ ความดันโลหิตต่ำหรือติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

Deep,Blue,Colony,Of,Klebsiella,Pneumoniae,On,Chromogenic,Media,,Litel

อาการติดเชื้อแบคทีเรีย CRE

การติดเชื้อแบคทีเรีย CRE จะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดอาการที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ส่วนใหญ่แล้วการติดเชื้อแบคทีเรีย CRE ไม่มีอาการที่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน และอาการที่เกิดขึ้นก็อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้ออื่น ๆ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจสงสัยว่าผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย CRE หากมีอาการต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • แบคทีเรียในอวัยวะต่าง ๆ ดื้อยาปฏิชีวนะและยาในกลุ่มคาร์บาพีเนม (Carbapenem)
  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • ไอหรือหายใจลำบาก
  • อ่อนแรงหรือเหนื่อย
  • เกิดผื่น บวมแดงบริเวณผิวหนัง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ไม่อยากอาหาร 
  • มีอาการตัวเขียวจากการขาดออกซิเจน
  • ปอดติดเชื้ออย่างรุนแรง
  • ปัสสาวะขุ่น เจ็บขณะปัสสาวะหรือปัสสาวะลำบาก มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะอย่างรุนแรง
  • มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis)
  • ภาวะความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

สาเหตุของการติดเชื้อแบคทีเรีย CRE

เชื้อแบคทีเรีย CRE จะแพร่กระจายจากคนสู่คนโดยการสัมผัสกับอุจจาระ บาดแผล ผิวหนัง สิ่งของ หรือเครื่องมือที่ใช้ในโรงพยาบาล อย่างการส่องกล้องภายในลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenoscope) โดยเชื้อแบคทีเรีย CRE จะเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและผู้ที่ใส่ท่อทางการแพทย์ แต่ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงอาจได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายโดยไม่แสดงอาการและสามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ 

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย CRE เช่น

  • การอยู่ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับบุคคลที่ติดเชื้อ
  • การใช้เครื่องมือที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย เนื่องจากไม่ได้รับการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม
  • ผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะหลายชนิดมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
  • ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล อาทิ ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด 

การวินิจฉัยการติดเชื้อแบคทีเรีย CRE

แพทย์จะวินิจฉัยการติดเชื้อแบคทีเรีย CRE ได้หลายวิธี ได้แก่ การตรวจเลือดและปัสสาวะ การเพาะเชื้อจากเลือด การตรวจฝี การเพาะเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อ การทดสอบการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมด้วยเทคนิค (Polymerase chain reaction: PCR) เพื่อระบุชนิดของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ หรือการทดสอบความไวต่อยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยให้แพทย์เห็นได้ถึงการดื้อยาปฏิชีวนะของอวัยวะต่าง ๆ  

หากพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อ แพทย์จะตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อดูปฏิกิริยาของเชื้อต่อยาปฏิชีวนะ ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถเลือกใช้ยาปฏิชีวนะในการกำจัดแบคทีเรียที่แตกต่างกันในร่ายกายของแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม

การรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย CRE

เชื้อแบคทีเรีย CRE เป็นเชื้อที่ดื้อยาเกือบทุกชนิด เชื้อดังกล่าวจะผลิตเอนไซม์ที่ทำลายยาปฏิชีวนะก่อนจะออกฤทธิ์ ในบางกรณีแพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะหลายชนิดร่วมกันเพื่อกำจัดหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย CRE 

ตัวอย่างยาที่อาจใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย CRE ได้ในบางกรณี ได้แก่ ยาอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) ยาฟอสโฟมัยซิน (Fosfomycin) กลุ่มยาโพลิมิกซิน (Polymyxins) ยาไทกีไซคลีน (Tigecycline) และยาเทโมซิลลิน (Temocillin) 

ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อแบคทีเรีย CRE 

การติดเชื้อแบคทีเรีย CRE อาจมีความเกี่ยวข้องกันสารบางตัวหรือยาบางชนิดที่ผู้ป่วยเคยมีประวัติดื้อยามาก่อน จึงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการดื้อยาในอนาคต

การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย CRE 

การป้องกันการแพร่กระจายและการสัมผัสเชื้อแบคทีเรีย CRE หรือเชื้อดื้อยาอื่น ๆ ทำได้โดยการล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยสบู่และน้ำเปล่า หากไม่สะดวกให้ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทดแทน โดยให้ล้างทั้งก่อนหรือหลังการประกอบอาหาร การรับประทานอาหาร การสัมผัสปาก จมูกหรือตา การสัมผัสเครื่องมือทางการแพทย์หรือท่อที่ต่อเข้าสู่ร่างกาย การทำแผล การใช้ห้องน้ำ และการไอ สั่งน้ำมูกหรือจาม หากเป็นผู้ที่เคยรักษาตัวในโรงพยาบาลควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ

นอกจากนี้ การลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • นอนหลับอย่างเพียงพอ
  • ใช้ยาปฏิชีวนะตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดยาแม้จะมีอาการที่ดีขึ้นแล้ว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะเกิดขนาดหรือผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์ต้านการติดเชื้อแบคทีเรีย รา หรือปรสิตบางชนิดเท่านั้น แต่ไม่สามารถต้านการติดเชื้อไวรัสได้