กลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid Syndrome)

ความหมาย กลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid Syndrome)

Antiphospholipid Syndrome หรือกลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด เป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดความผิดพลาดในการสร้างแอนติบอดี้ต่อโปรตีนที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือดและช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ตามปกติ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นส่งผลให้เลือดแข็งตัวตามบริเวณต่าง ๆ ในร่างกาย อย่างสมอง ปอด ไต และขา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ เช่น ปวดศีรษะ มีปัญหาด้านความจำหรือการทรงตัว การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป หรือมีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือปัญหาทารกเสียชีวิตในครรภ์ด้วย โดยในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุของกลุุ่มอาการนี้และยังไม่พบวิธีรักษาให้หายขาด แต่ผู้ป่วยอาจใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดแข็งตัวได้

2036 Antiphospholipid Syndrome rs

อาการของ Antiphospholipid Syndrome

ผู้ป่วย Antiphospholipid Syndrome มักมีภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา เช่น

  • ความดันเลือดสูง
  • เกิดจุดสีแดงเล็ก ๆ บริเวณผิวหนัง ซึ่งอาจมีเลือดออก  
  • อาการทางผิวหนังแบบ Livedo Reticularis ซึ่งส่งผลให้ตามผิวหนังมีสีแดงและสีน้ำเงิน และมีลักษณะคล้ายแห โดยมักเกิดขึ้นบริเวณขา
  • มีเลือดออกเป็นระยะ โดยเฉพาะที่จมูกหรือเหงือก
  • มีภาวะสมองเสื่อม
  • เป็นโรคลมชัก
  • เกิดภาวะหลอดเลือดดำตามผิวหนังอักเสบ
  • เป็นโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก
  • เผชิญภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • เป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว
  • เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือแท้งบุตรซ้ำ ๆ

นอกจากนี้ ผู้ป่วย Antiphospholipid Syndrome บางรายอาจรู้สึกเหนื่อยล้า มีปัญหาในการทรงตัวหรือการเคลื่อนไหว มีปัญหาด้านการจดจำและการพูด มองเห็นภาพซ้อน เจ็บแปลบหรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มบริเวณแขนหรือขา ปวดศีรษะหรือมีอาการของโรคไมเกรนเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในขณะที่ผู้ป่วยหลายรายก็อาจไม่มีอาการหรือสัญญาณใด ๆ เลย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากมีเลือดออกจากจมูกหรือเหงือกอย่างไม่ทราบสาเหตุ ประจำเดือนมามากผิดปกติ อาเจียนเป็นสีแดงหรือสีเหมือนเมล็ดกาแฟ อุจจาระมีสีดำเหมือนยางมะตอยหรือมีสีแดงสด และปวดท้องอย่างไม่ทราบสาเหตุ

ทั้งนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการหรือสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น มีอาการเหน็บชา ร่างกายอ่อนแรง เป็นอัมพาตที่หน้า แขน ขา อย่างฉับพลัน มีปัญหาในการพูดหรือการเข้าใจคำพูด มีปัญหาในการมองเห็น หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น หรือมีอาการของโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด เช่น หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก หรือไอเป็นเลือดปนเสมะ เป็นต้น รวมทั้งมีอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก เช่น รู้สึกปวดและมีอาการบวมแดงบริเวณแขนหรือขา เป็นต้น

สาเหตุของ Antiphospholipid Syndrome

กลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิดเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสร้างแอนติบอดี้ที่ผิดปกติอันมีชื่อว่า แอนไทฟอสฟอไลปิด ซึ่งจะไปทำลายโปรตีนที่อยู่นอกเซลล์เลือดและในหลอดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดแข็งตัว อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้นี้ขึ้นมา แต่คาดว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่กระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิดหรือ Antiphospholipid Syndrome เช่น

  • เพศและอายุ มักพบกลุ่มอาการนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หรือพบได้มากในคนที่อยู่ในช่วงวัยทอง  
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ มีภาวะอ้วน ไม่ออกกำลังกาย หรือสูบบุหรี่ เป็นต้น
  • การหยุดเคลื่อนไหวร่างกายในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างการนั่งเครื่องบินหรือนอนพักบนเตียงนอนเป็นเวลานาน
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านชักอย่างเฟนิโทอิน ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด ยาอะม็อกซี่ซิลลิน ยาไฮดราลาซีน ยาควินิดีน ยาลดความดันเลือด ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
  • โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือกลุ่มอาการโจเกรน เป็นต้น
  • การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย เช่น การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส พาร์โวไวรัสบี19 อีโคไล และเอชไอวี โรคฉี่หนู โรคซิฟิลิส โรคไวรัสตับอักเสบซี หรือโรคไลม์ เป็นต้น
  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีความผิดปกติในการสร้างแอนติบอดี้แอนไทฟอสฟอไลปิด อาจเสี่ยงเกิดความผิดปกติในลักษณะดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น เข้ารับการบำบัดฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อรักษาภาวะวัยทอง เข้ารับการผ่าตัด ตั้งครรภ์ มีระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่และเด็กบางรายก็อาจป่วยเป็น Antiphospholipid Syndrome ได้ แม้จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังข้างต้น

การวินิจฉัย Antiphospholipid Syndrome

ส่วนใหญ่การวินิจฉัยเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีภาวะเลือดแข็งตัวหรือแท้งบุตรหลายครั้ง โดยแพทย์อาจตรวจเลือดผู้ป่วยเพื่อตรวจหาแอนติบอดี้แอนไทฟอสฟอไลปิดอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเว้นช่วง 12 สัปดาห์ เนื่องจากแอนติบอดี้ดังกล่าวอาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะ และอาจอยู่ในร่างกายเพียงระยะเวลาสั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม หากแพทย์ตรวจพบแอนติบอดี้แอนไทฟอสฟอไลปิดในครั้งแรก แพทย์จะตรวจเลือดอีกครั้ง เพื่อดูว่าร่างกายของผู้ป่วยยังคงมีแอนติบอดี้ชนิดนี้อยู่หรือไม่ และหากผลตรวจเลือดยืนยันแล้วว่าผู้ป่วยเป็น Antiphospholipid Syndrome แพทย์อาจซักประวัติสุขภาพของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อพิจารณาว่าผู้ป่วยมีอาการใด ๆ ที่อาจเกิดจากกลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิดหรือไม่ ซึ่งหากผู้ป่วยเคยประสบภาวะเลือดแข็งตัว แท้งบุตรโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือคลอดบุตรก่อนกำหนดหลังจากตั้งครรภ์ได้ 34 สัปดาห์เป็นต้นไป ก็อาจเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยกำลังเผชิญกับกลุ่มอาการนี้อยู่  

การรักษา Antiphospholipid Syndrome

แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดแข็งตัว โดยหากแพทย์ตรวจเลือดของผู้ป่วยแล้วพบว่ามีแอนติบอดี้แอนไทฟอสฟอไลปิดแต่ผู้ป่วยไม่เคยมีภาวะเลือดแข็งตัวมาก่อน แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาแอสไพรินในปริมาณน้อย แต่หากผู้ป่วยรับประทานยานี้ไม่ได้ แพทย์อาจให้ยาโคลพิโดเกรลแทน

แต่หากผู้ป่วยมีภาวะ Antiphospholipid Syndrome หรือเคยมีภาวะเลือดแข็งตัวที่เกิดจากโรคหลอดเลือดในสมองหรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก แพทย์อาจให้รับประทานยาวาร์ฟาริน และหากผู้ป่วยมีภาวะเลือดแข็งตัวหรือมีอาการแย่ลง แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดยาเฮพารินเพื่อต้านการแข็งตัวของเลือด โดยผู้ป่วยอาจเข้ารับการฉีดยาที่โรงพยาบาล หรืออาจต้องเรียนรู้วิธีฉีดยาเองด้วย

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน เพราะแพทย์อาจให้เข้ารับการฉีดยาต้านเกล็ดเลือดและรับประทานยาแอสไพรินในปริมาณน้อยตลอดการตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอดบุตร และอาจให้รับประทานยาต่อหลังจากคลอดบุตร โดยแพทย์จะไม่แนะนำให้รับประทานยาวาร์ฟาริน เพราะเด็กที่เกิดมาอาจเสี่ยงพิการแต่กำเนิด

นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาโรคหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดแข็งตัวด้วย เช่น ภาวะความดันเลือดสูง ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ภาวะอ้วน โรคเบาหวาน หรือภาวะแพ้ภูมิตนเอง เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Antiphospholipid Syndrome

ผู้ป่วยอาจเสี่ยงมีเลือดออกเป็นระยะในระหว่างที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด แพทย์จึงอาจตรวจเลือดของผู้ป่วยเพื่อช่วยควบคุมปริมาณยาและให้แน่ใจว่าเลือดจะแข็งตัวได้ดีพอที่จะหยุดไหลหากผู้ป่วยถูกของมีคมบาด หรือมีภาวะเลือดออกใต้ผิวหนังเมื่อเกิดรอยฟกช้ำ และผู้ป่วยอาจมีภาวะ Catastrophic Antiphospholipid Syndrome ซึ่งมักทำให้เลือดแข็งตัวทั่วบริเวณร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะภายในร่างกายทำงานล้มเหลว แต่ก็พบได้น้อย นอกจากนี้ ผู้ที่ตั้งครรภ์อาจแท้งบุตร คลอดบุตรก่อนกำหนด หรือทารกที่เกิดมาอาจมีปัญหาทางพัฒนาการได้  

การป้องกัน Antiphospholipid Syndrome

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกัน Antiphospholipid Syndrome แต่ผู้ป่วยอาจลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดแข็งตัวได้ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น

  • งดสูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสม โดยอาจรับประทานผักหรือผลไม้หลากชนิด รวมถึงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันต่ำ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ และลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐาน

นอกจากนี้ หากกำลังรับประทานยาหรือได้รับการฉีดยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรระมัดระวังไม่ให้มีเลือดออกตามร่างกายหรือได้รับบาดเจ็บ โดยงดเว้นจากการเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดรอยฟกช้ำหรือทำให้หกล้ม ระมัดระวังเมื่อต้องใช้สิ่งของมีคม โกนหนวดด้วยเครื่องโกนหนวดไฟฟ้า รวมทั้งใช้ไหมขัดฟันและแปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม