โรคไลม์ (Lyme Disease)

ความหมาย โรคไลม์ (Lyme Disease)

Lyme Disease หรือโรคไลม์ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจากการโดนเห็บกัด ซึ่งทำให้มีผื่นเป็นวงสีแดงซ้อนกัน 2 วงเกิดขึ้นบริเวณที่โดนกัด และอาจทำให้มีอาการคล้ายเป็นหวัด เช่น หนาวสั่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ เมื่อยล้า หรือปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น สามารถรักษาได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ หากได้รับการรักษาเร็ว ผู้ป่วยก็จะยิ่งมีโอกาสฟื้นตัวเร็วมากขึ้น

1558 Lyme Disease Resized

อาการของโรคไลม์

ในระยะแรก หลังจากโดนเห็บกัดประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีผื่นแดงลักษณะคล้ายเป้ายิงปืนเป็นวงสีแดงซ้อนกัน 2 วงบริเวณที่โดนกัด แต่ไม่รู้สึกปวดหรือคัน ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดเพิ่มจำนวนขึ้น แต่อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนที่โดนเห็บกัด โดยบางคนอาจเป็นผื่นแดงแข็ง ๆ หรือมีลักษณะคล้ายแผลฟกช้ำในผู้ที่มีผิวสีคล้ำ

หลังจากนั้นหลายสัปดาห์ เชื้อแบคทีเรียจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย แล้วอาจทำให้มีอาการคล้ายเป็นหวัด ดังนี้

  • หนาวสั่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ
  • การมองเห็นไม่ชัดเจน
  • เมื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ
  • มีผื่นแดงเกิดขึ้นนอกบริเวณที่โดนเห็บกัด
  • มีอาการทางระบบประสาท เช่น ชา หรือปากเบี้ยว เป็นต้น

หากเชื้อแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้วไม่ได้รับการรักษา เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนหรือเป็นปี อาจทำให้มีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยได้ ซึ่งควรไปพบแพทย์โดยด่วนหากพบอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ข้ออักเสบ ปวดข้อกระดูก
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • มีอาการชาที่มือ แขน เท้า และขา
  • มีอาการทางสมอง เช่น สมองตื้อ ความจำสั้น สมาธิลดลง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงภายในบ้านก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ซึ่งสุนัขที่ติดเชื้ออาจใช้เวลาประมาณ 2-5 เดือนกว่าจะแสดงอาการป่วย โดยมีข้อสังเกต เช่น ข้ออักเสบที่มักเกิดขึ้นบริเวณข้อศอกและข้อเข่าอาจทำให้เดินขากะเผลกสลับจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง มีไข้สูง เป็นต้น แม้ส่วนใหญ่สัตว์ที่ติดเชื้อมักมีอาการดีขึ้นเอง แต่ในบางกรณีอาจมีอาการป่วยเป็นเวลานาน อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับไตหรือหัวใจ และอาจทำให้ตายได้ในที่สุด

สาเหตุของโรคไลม์

Lyme Disease เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Borrelia จากเห็บชนิด Backlegged หรือ Deer Tick ในแถบเอเชีย โรคนี้มักมีสาเหตุมาจากเชื้อ Borrelia Garinii เมื่อโดนเห็บกัดและดูดเลือดเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง เห็บจะมีตัวบวมและปล่อยเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางผิวหนัง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจำไม่ได้ว่าโดนเห็บกัดมาตั้งแต่เมื่อใด

ทั้งนี้ ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่ปกปิดผิวหนังขณะทำกิจกรรมในบริเวณที่มีเห็บชุกชุมอย่างในป่า ทุ่งหญ้า ในสวน หรือบริเวณที่มีหญ้าขึ้นสูง และผู้ที่ไปเรียน ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศแถบยุโรป ประเทศจีน ญี่ปุ่น และบางพื้นที่ของประเทศรัสเซียก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้

การวินิจฉัยโรคไลม์

แพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย แล้วตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดี้ต่อเชื้อแบคทีเรียด้วยวิธี ELISA (Enzyme-Linked Immunosorbent Assay) จากนั้นแพทย์อาจตรวจด้วย Western Blot Test เพื่อยืนยันผลการตรวจ ELISA อีกครั้ง ซึ่งผลเลือดที่เชื่อถือได้มากที่สุดจะเป็นช่วง 2-3 สัปดาห์หลังจากโดนเห็บกัด นอกจากนี้ อาจตรวจด้วย PCR (Polymerase Chain Reaction) จากน้ำในกระดูกสันหลังและข้อกระดูก เพื่อประเมินผู้ป่วยที่มีอาการข้ออักเสบและอาการทางระบบประสาทที่เป็นผลมาจากโรคนี้ด้วย

การรักษาโรคไลม์

การรักษาหลักสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระยะแรกทำได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น

ยารับประทาน

  • ยาด็อกซิไซคลินสำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป
  • ยาอะม็อกซีซิลลินหรือยาเซฟูรอกซิมสำหรับผู้ใหญ่ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร โดยให้รับประทานยาต่อเนื่องจนหมดเป็นเวลา 14-21 วัน

ยาฉีด

แพทย์อาจฉีดยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 14-28 วัน ในกรณีที่อาการส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ ท้องเสีย หรืออาจทำให้เกิดการติดเชื้อในอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดกลุ่มอาการหลังการรักษาโรคไลม์ (Post-Treatment Lyme Disease Syndrome: PTLDS) ซึ่งจะมีอาการเมื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หรือมีอาการทางระบบประสาทหลงเหลืออยู่ ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอาจไม่สามารถรักษากลุ่มอาการนี้ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการดีขึ้นเอง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไลม์

Lyme Disease เป็นโรคที่ยิ่งรักษาเร็ว ผู้ป่วยก็จะยิ่งฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่หากปล่อยไว้แล้วไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ดังนี้

  • ข้ออักเสบเรื้อรัง ปวดข้อกระดูกโดยเฉพาะบริเวณข้อเข่า
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการทางระบบประสาท เช่น มีอาการปวดและชา หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว มีปัญหาด้านการมองเห็น เป็นต้น
  • มีอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น มีไข้ คอแข็ง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ในระยะหลังอาจพบอาการอื่น ๆ ได้ เช่น ความจำเสื่อม สมาธิลดลง ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ หรือเส้นประสาทของแขนและขาได้รับความเสียหาย เป็นต้น

การป้องกันโรคไลม์

  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีเห็บชุกชุม
  • สวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว รวมทั้งใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงทุกครั้งที่ไปเที่ยวป่าหรือทำกิจกรรมใกล้บริเวณที่มีหญ้าขึ้นสูง
  • เก็บกวาดสนามหญ้าและกำจัดเศษซากใบไม้แห้งที่อาจเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเห็บและแมลงอื่น ๆ
  • หมั่นดูแลสัตว์เลี้ยงและกำจัดเห็บออกจากสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากเห็บสู่คน
  • หากโดนเห็บกัดให้ใช้แหนบดึงออกโดยเร็ว ไม่ควรให้มีชิ้นส่วนหรืออวัยวะใดของเห็บหลงเหลืออยู่ตามผิวหนัง จากนั้นใช้น้ำเปล่า น้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์สำหรับล้างแผลล้างในบริเวณที่โดนกัด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้