Work-Life Balance โซลูชั่นสำหรับคนวัยทำงาน

Work-Life Balance คำคุ้นหูที่หลายคนได้ยินกันบ่อย และอาจสงสัยว่ามันคืออะไรกัน Work-Life Balance คือแนวคิดที่พูดถึงการปรับสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวเพื่อลดผลกระทบจากการทำงานที่มากเกินไป ซึ่งอาจมีประโยชน์สำหรับคนยุคใหม่ ทั้งที่ทำงานประจำและฟรีแลนซ์

แม้ว่าการทุ่มเทให้กับงานจะเป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชม แต่การขาดสมดุลระหว่างงานและชีวิตอาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพและความสัมพันธ์ คนที่จริงจังกับงานหรือทำงานตลอดเวลาอาจเสี่ยงมีชีวิตขาดสมดุลทั้งสองด้าน บทความนี้จะมาช่วยเช็กว่าคุณขาดสมดุลระหว่างงานกับชีวิตหรือไม่ และ Work-Life Balance มีแนวทางอย่างไร 

Work-Life Balance โซลูชั่นสำหรับคนวัยทำงาน

ชีวิตแบบไหนที่ควรปรับ Work-Life Balance?

Work-Life Balance อาจช่วยให้หลายคนมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น เพราะการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องอาจสร้างผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน หากคุณพบว่าคุณมีอาการหรือพฤติกรรมต่อไปนี้อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว

  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ป่วยบ่อย นอนไม่หลับ และพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • รู้สึกกดดันและเครียดเป็นประจำ ทั้งจากงานและจากตัวเอง
  • เอางานกลับมาทำที่บ้านเป็นประจำหรือต้องทำงานจนดึกดื่นอยู่ตลอด
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนฝูง
  • สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เพื่อผ่อนคลายอยู่บ่อยครั้ง และมีแนวโน้มที่หนักขึ้น

นอกจากนี้งานศึกษาจำนวนหนึ่งยังชี้ว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมบ้างานมักมีความเสี่ยงของโรคเรื้อรังสูงกว่าคนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง และคนกลุ่มนี้ก็มักมีความคาดหวังกับผลงานของตนเองค่อนข้างสูง จึงมักรู้สึกเครียดและกดดัน เมื่อผลตอบรับไม่เป็นไปตามคาดก็มักเกิดความรู้สึกล้มเหลว ขาดความมั่นใจในตนเอง และมีอารมณ์ทางลบในด้านอื่น ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น โรควิตกกังวล และกลุ่มอาการเบิร์นเอาต์ (Burnout Syndrome) หรือความรู้สึกหมดไฟในการทำงาน

นอกจากนี้ ตัวช่วยในการผ่อนคลาย อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ก็สามารถทำลายสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจได้ในระยะยาวเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากพบผลกระทบหรือสัญญาณเหล่านี้ก็จำเป็นจะต้องคิดถึงการปรับสมดุลของชีวิตทั้งสองด้านให้ดำเนินควบคู่กันไปอย่างเหมาะสม

Work-Life Balance สร้างอย่างไร?

โดยส่วนใหญ่การปรับ Work-Life Balance มักเป็นการพูดถึงวิธีหาสมดุล จุดกึ่งกลาง และเส้นแบ่งของงานกับชีวิตส่วนตัวอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เราใช้ชีวิตเทไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ซึ่งอาจทำได้ดังนี้

1. ตั้งเป้าหมายในแต่ละวัน

การทำงานที่มีปริมาณหรือรายละเอียดเยอะที่มาก ๆ อาจทำให้เราทำงานต่อเนื่องกันไปจนหลงลืมเวลา ทั้งงานเก่างานใหม่ปนเปกันจนไม่มีเวลาให้กับตัวเอง ดังนั้นการตั้งเป้าหมายและสร้างลิสต์งานที่ต้องทำในแต่ละวันอาจช่วยจัดการเวลาได้ดีขึ้น

2. เรียนรู้ที่จะปฏิเสธและต่อรอง

แม้ว่าการเป็นคนเอาการเอางานจะแสดงถึงความรับผิดชอบและมีน้ำใจ แต่หากไม่เรียนรู้ที่จะปฏิเสธงานที่ถูกไหว้วานหรืองานที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง ทั้งที่งานยังล้นมืออยู่ก็อาจทำงานเหล่านั้นออกมาไม่ดี ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อคุณภาพของงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชีวิตส่วนตัวด้วย 

ถึงแม้ว่าคุณเป็นคนทำงานดีและเต็มใจที่จะทำงาน แต่การขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานเพื่อแบ่งเบาภาระงานออกไปบ้างก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะจะช่วยให้คุณโฟกัสกับคุณภาพงานได้มากขึ้น นอกจากเรื่องปริมาณงานแล้วคุณอาจพูดคุยถึงเรื่อง ๆ ที่ต้องการตกลงเพื่อสร้าง Work-Life Balance ที่ดี อย่างเวลาเข้าทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น หรือความต้องการอื่น ๆ ที่จะช่วยรักษาสมดุลระหว่างงานกับชีวิต และไม่ส่งผลต่อคุณภาพของงาน

3. เคารพเวลาพักผ่อนของตัวเอง

คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องแบกงานกลับมาทำที่บ้านหรือแม้แต่ในวันหยุด บ้างก็ต้องคอยรับโทรศัพท์กลางดึก ซึ่งสิ่งเหล่านี้รบกวนเวลาพักผ่อน แถมยังบั่นทอนจิตใจ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาพักผ่อน ควรหยุดคิดถึงเรื่องงาน ไม่นำงานกลับมาทำที่บ้าน ปิดโทรศัพท์มือถือ และใช้เวลาเหล่านั้นพักผ่อนเพื่อเป็นรางวัลให้กับความอดทนและตั้งใจในแต่ละวัน

4. ใส่ใจกับตัวเองมากขึ้น

การจะฝ่าฟันอุปสรรคจากในการทำงานไปให้ได้อาจต้องอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจ การใส่ใจกับตัวเอง ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจก็ล้วนสำคัญ ดังนั้น ควรแบ่งเวลาสำหรับการดูแลตนเอง เช่น ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และทำกิจกรรมที่ชื่นชอบเพื่อผ่อนคลายความเครียด สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรง พร้อมสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิต

5. ใช้เวลากับคนรอบตัวให้มากขึ้น

หลายครั้งที่เราทำงานจนหลงลืมการให้ความสำคัญกับคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรัก ทั้งที่คนเหล่านี้อาจเป็นแรงผลักดันและพลังงานบวกในชีวิตของเรา ซึ่งแน่นอนว่าการแบ่งเวลาให้กับคนรอบตัวย่อมส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ และช่วยบรรเทาความเครียด ความทุกข์ในจิตใจของเราได้ด้วย หากพอมีเวลาว่างจากงาน การใช้เวลากับคนที่เรารักจึงเป็นหนึ่งสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การ Work-Life Balance ไม่มีสูตรสำเร็จหรือวิธีการที่แน่นอน แนวคิดนี้สามารถปรับได้ตามความพอใจหรือเหมาะสมในแต่ละคน

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าคุณจะรักงานของคุณแค่ไหน ร่างกายของคุณก็ยังคงต้องการการพักผ่อนอยู่เสมอ ดังนั้นอย่าฝืนตนเองมากเกินไป และอย่าละเลยเสียงเรียกร้องอันเหนื่อยล้าของร่างกาย หมั่นรักษาสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถทำงานที่คุณรักต่อไปได้อย่างเต็มที่