Work From Home อย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพ

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้บริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ นั่นคือ Work From Home (WFH) หรือทำงานที่บ้าน ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน การรักษาประสิทธิภาพการทำงานควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพร่างกายจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การระบาดของโควิด-19อาจก่อให้เกิดความเครียดจากการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตจนกระทบต่อคุณภาพชีวิต ยิ่งมีการปรับเปลี่ยนจากการทำงานในออฟฟิศมาเป็นการทำงานที่บ้านอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลในการทำงานเพิ่มมากขึ้น บางคนอาจรู้สึกโดดเดี่ยวมากกว่าปกติเพราะต้องแก้ปัญหาในการทำงานด้วยตนเองเพียงลำพัง หรือบางคนอาจยากที่จะจดจ่อกับงานจนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ดังนั้น การวางแผนและการจัดการที่ดีอาจช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบลื่น มีความสุข และมีประสิทธิภาพโดยไม่ทำลายสุขภาพไปในเวลาเดียวกัน

2604-Work From Home

เทคนิค Work From Home ให้ได้งาน สุขภาพไม่พัง

เคล็ดลับต่อไปนี้จะช่วยให้คุณสามารถดำเนินวิถีชีวิตในช่วงที่จะต้องทำงานจากที่บ้านได้ดียิ่งขึ้น

การทำงาน

เรื่องแรกคงหนีไม่พ้นการจัดสรรการทำงานที่บ้านให้ลงตัว มาดูเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างการทำงานให้มีประสิทธิภาพไม่แพ้กับการเข้าออฟฟิศกัน

  • จัดพื้นที่เพื่อการทำงานโดยเฉพาะ เพื่อช่วยให้ร่างกายและสมองพร้อมกับการทำงาน และสามารถจดจ่อกับการทำงานได้ เช่น เลือกนั่งทำงานบนเก้าอี้หรือโต๊ะทำงานที่จัดเป็นสัดส่วนแทนการนั่งทำงานที่โซฟา
  • ตื่นนอนและทำกิจกรรมตอนเช้าตามเดิม อาบน้ำแต่งตัวและเปลี่ยนจากชุดนอนไปใส่เสื้อผ้าอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นร่างกายให้พร้อมกับการทำงาน
  • จัดตารางการทำกิจกรรมหรือจดบันทึกสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน และเขียนใส่ลงในกระดาษ 
  • กำหนดเวลาการเริ่มงานและการเลิกงาน เพื่อป้องกันการทำงานหนักหรือการทำงานล่วงเวลา
  • พูดคุยติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นและเพื่อนร่วมงานเป็นระยะ โดยอาจสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ การโทรแบบวิดีโอ หรือการส่งข้อความอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เพื่อลดความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือลดความวิตกกังวลลง รวมถึงยังช่วยรักษามาตรฐานของการทำงานไปพร้อมกันอีกทาง
  • ในกรณีที่มีลูกหรือเด็กเล็กอยู่ที่บ้าน หากต้องมีการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า ควรแจ้งอีกฝ่ายให้ทราบก่อนและจัดสรรตารางเวลาของตนเองให้พร้อมกับการพูดคุยงาน โดยอาจจะใช้เวลาในช่วงที่เด็กงีบหลับระหว่างวัน 
  • ครอบครัวที่มีเด็กโตพอจะสื่อสารได้ คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องทำงานที่บ้านอาจจะกำหนดขอบเขตหรือสร้างข้อตกลงกับลูกให้ชัดเจน เช่น พูดคุยกับลูกว่าห้องนี้ห้ามเข้าในช่วงนี้ หรือกำหนดช่วงเวลาที่สามารถพูดคุยกับลูกได้ เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไป เป็นต้น 
  • ระหว่างการทำงานอาจมีการผ่อนคลายเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เช่น ลุกขึ้นเดิน ทำสมาธิในช่วงสั้น ยืดเส้นยืดสายเมื่อนั่งทำงานติดต่อกันนาน เป็นต้น
  • หลังหมดเวลางานควรออกจากพื้นที่การทำงาน และเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ตามปกติ โดยอาจใช้เวลาร่วมกับครอบครัวหรือคนใกล้ชิด

การรับมือกับความเครียด

การระบาดของโคโรนาไวรัสหรือโรคโควิด-19 รวมไปถึงข่าวสารข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระอาจส่งผลให้ความกลัว วิตกกังวล และความเครียดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจกระทบต่อการทำงานและการพักผ่อนร่างกาย ดังนั้น จึงควรลดการรับข้อมูลข่าวสารในแต่ละวันและใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมอื่น ๆ ให้มากขึ้นเพื่อเป็นผ่อนคลายจิตใจ หันมาพูดคุยกับครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนบ้านโดยยังคงรักษาระยะห่างทางสังคมอยู่เสมอ หากเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังไม่ให้อาการของภาวะที่เป็นอยู่มีความรุนแรงมากขึ้น

การดูแลสุขภาพ

นอกเหนือจากการดูแลงานและสุขภาพจิตใจ อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงควบคู่ไปด้วย ฉะนั้น หากต้องทำงานที่บ้านเป็นเวลานานก็อย่าลืมเรื่องต่อไปนี้ 

  • รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อเพื่อกระตุ้นการทำงานและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน โดยอาจวางแผนการรับประทานแต่ละมื้อ มีการกำหนดช่วงเวลาการรับประทานขนมอย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน และไม่ควรรับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากเกินไป 
  • ควรจัดพื้นที่การทำงานให้อยู่ห่างจากห้องครัว และไม่ควรรับประทานอาหารไปพร้อม ๆ กับการทำงาน  
  • จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในแต่ละวัน และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอในแต่ละวัน 
  • ควรแบ่งเวลาออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกายและไม่ทำให้ง่วงระหว่างวัน

เคล็ดลับง่าย ๆ เหล่านี้อาจช่วยให้คุณสามารถดูแลสุขภาพร่างกายและรักษาประสิทธิภาพในการทำงานไปพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเอง ครอบครัว เพื่อน ผู้ใกล้ชิดอย่างถูกวิธีและการทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงของโควิด-19 อาจจะช่วยบรรเทาความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี