Ventricular Fibrillation

ความหมาย Ventricular Fibrillation

Ventricular Fibrillation (ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว) คือ ภาวะความผิดปกติของหัวใจส่งผลให้จังหวะการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป โดยหัวใจจะมีอัตราการเต้นค่อนข้างเร็วและไม่เป็นจังหวะ ซึ่งภาวะนี้ถือว่าอันตรายและต้องได้รับการรักษาแบบฉุกเฉิน เนื่องจากหากหัวใจเต้นเร็วมากเกินไปอาจทำให้เสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้

Ventricular Fibrillation

อาการ Ventricular Fibrillation

อาการเกิดจากการที่หัวใจ 2 ห้องล่างไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เป็นปกติ ทำให้เลือดไม่ไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ จนทำให้เป็นลม หรือหมดสติได้ แต่ก่อนหน้าที่อาการเหล่านี้จะปรากฏ ผู้ป่วยมักมีอาการบางแสดงนำมาก่อน อันเป็นสัญญาณของ Ventricular Fibrillation เช่น

  • เจ็บหน้าอก
  • วิงเวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หายใจถี่
ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการข้างต้นควรรีบโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเพื่อนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากล่าช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของ Ventricular Fibrillation

Ventricular Fibrillation เกิดจากการกระตุกหรือการสั่นของใยกล้ามเนื้อหัวใจในหัวใจห้องล่าง ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการสั่นไหวหรือกระตุกซึ่งพบได้บ่อยคือ

  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย เพราะเมื่อหัวใจเกิดภาวะขาดเลือด จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และหัวใจเต้นผิดปกติ
    • อุบัติเหตุจากไฟฟ้าช็อต หรืออาการบาดเจ็บโดยตรงที่หัวใจ
  • ความพิการแต่กำเนิด ซึ่งส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติ
  • โรคที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ หย่อนยาน หรือหนาขึ้นจนส่งผลต่อการบีบคลายของหัวใจ
  • การผ่าตัดหัวใจ ที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • การหยุดเต้นของหัวใจเฉียบพลัน อันเกิดจากการถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงบริเวณหน้าอก
  • การใช้ยาบางชนิด ที่อาจทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป อันส่งผลต่อการทำงานของหัวใจโดยตรง
ทั้งนี้ ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวอาจไม่เคยมีอาการของโรคหัวใจมาก่อน แต่อาจเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ อันได้แก่
  • การสูบบุหรี่
  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • อยู่ในพื้นที่หรือต้องทำงานที่เสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าช็อต
การวินิจฉัย Ventricular Fibrillation

ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัวนั้นเป็นอาการที่ต้องได้รับการรักษาแบบฉุกเฉิน ดังนั้น การวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยต้องรีบทำอย่างเร่งด่วนเช่นกัน โดยเบื้องต้นผู้ป่วยไม่สามารถระบุอาการได้เอง แต่จะตรวจพบได้ด้วยการวินิจฉัยเบื้องต้นดังวิธีต่อไปนี้

  • การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ช่วยให้แพทย์ทราบว่าหัวใจของผู้ป่วยมีจังหวะการเต้นเป็นปกติหรือไม่
  • วัดชีพจร หากผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าวจะไม่สามารถวัดชีพจรได้
ทั้งนี้ หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีอาการของ Ventricular Fibrillation แพทย์จะสั่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ตรงจุดมากขึ้น โดยวิธีที่ใช้ได้แก่
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นวิธีที่จะช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ และวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่
  • การตรวจเลือด ในกรณีฉุกเฉินแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูการรั่วไหลของเอ็นไซม์ที่มาจากหัวใจ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • การเอกซเรย์ทรวงอก เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ทำให้แพทย์เห็นว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจโต หรือหัวใจและหลอดเลือดมีความผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) คือการตรวจวินิจฉัยโดยใช้คลื่นเสียงสะท้อนเพื่อจำลองภาพของหัวใจ ทำให้แพทย์เห็นการทำงานของหัวใจได้ชัดเจนขึ้น
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นทีเวฟ (T-wave Alternans) วิธีนี้จะค่อนข้างละเอียดมากขึ้น เพราะจะช่วยให้แพทย์เห็นความเปลี่ยนแปลงของหัวใจได้ชัดเจนขึ้น
  • การสอดสายสวนหัวใจ (Coronary Catheterization) หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์จะสอดสายสวนและฉีดสารทึบแสงเพื่อเอกซเรย์ดูการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจแบบซีทีสแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) จะช่วยใช้แพทย์เห็นภาพของหัวใจ และการทำงานของหัวใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถระบุภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้อีกด้วย
  • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study) เป็นการตรวจเพื่อดูการทำงานของหัวใจ และคลื่นหัวใจไฟฟ้าโดยแพทย์จะสวนหัวใจเพื่อเก็บข้อมูลคลื่นหัวใจได้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น
  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Holter Monitoring) แพทย์จะติดเครื่องบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจบริเวณหน้าอก เพื่อเก็บข้อมูลในระยะสั้น ๆ
  • การทดสอบสมรรถภาพของหัวใจ (Stress Test) เป็นวิธีการวินิจฉัยโดยการติดตามอัตราการเต้นของหัวใจรวมถึงรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะที่มีการออกแรง เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบสามารถทำได้แม่นยำมากขึ้น
การรักษา Ventricular Fibrillation

การรักษาในเบื้องต้นมักเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อช่วยให้หัวใจกลับมาทำงานได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด เพราะส่งผลต่อการสูบฉีดเลือดของหัวใจ หากล่าช้าจะยิ่งทำให้อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้รับผลกระทบไปด้วย โดยวิธีที่แพทย์ใช้ในกรณีนี้ ได้แก่

  • การทำซีพีอาร์ เป็นการกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นได้ตามปกติ วิธีนี้บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ แต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี มิฉะนั้นอาจทำให้ยิ่งอาการหนักมากขึ้นได้
  • การกระตุกหัวใจ (Defibrillation) แพทย์จะใช้เครื่องกระตุกหัวใจส่งคลื่นไฟฟ้าไปเพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบรุนแรงเท่านั้น การรักษานี้จะช่วยให้หัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติได้
นอกจากนี้ เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวได้แล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับการรักษาเพิ่มเติมเพื่อป้องกันอาการกำเริบ หรืออาการรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
  • การใช้ยา ยาที่แพทย์ใช้จะเป็นยาช่วยป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาที่มักใช้คือยาเบต้าบล็อกเกอร์ ซึ่งจะช่วยลดอาการที่เกิดขึ้นในระยะยาวได้
  • การฝังเครื่องกระตุกหัวใจ (Implantable Cardioverter-Defibrillator: ICD) เป็นวิธีการรักษาเพื่อช่วยให้หัวใจมีภาวะการเต้นคงที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวจะทำงานอัตโนมัติเมื่อพบว่าอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ โดยจะช่วยช็อกหัวใจเพื่อให้หัวใจกลับมาทำงานได้ตามปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบรุนแรง ซึ่งอุปกรณ์จะถูกฝังไว้ใต้กระดูกไหปลาร้า และสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ได้ เมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน
  • การสอดสายสวนและใส่ขดเลือดหัวใจ (Coronary Angioplasty and Stent Placement) วิธีการรักษานี้จะใช้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนไปที่หัวใจ ช่วยลดความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
  • การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Bypass Surgery) เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดอย่างเพียงพอ ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงภาวะหัวใจเต้นแผ่วระรัวลดลงได้
อย่างไรก็ตาม การรักษาภาวะดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุและความพร้อมของผู้ป่วยในการรักษา ซึ่งแพทย์จะต้องประเมินสุขภาพผู้ป่วยหลังจากการรักษาอย่างฉุกเฉินอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงแนะนำวิธีการรักษาในขั้นต่อไปได้

ภาวะแทรกซ้อนของ Ventricular Fibrillation

ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง อาจทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะโคม่า หรือเกิดผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวได้ รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ในผู้ป่วย Ventricular Fibrillation ซึ่งได้แก่

  • ความเสียหายที่ระบบสมองส่วนกลาง
  • อาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจ
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหลังการกระตุกหัวใจ
  • ภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก
  • อาการบาดเจ็บจากการช็อกไฟฟ้า
  • อาการบาดเจ็บจากการทำซีพีอาร์
  • ผิวหนังไหม้
  • เสียชีวิต
การป้องกัน Ventricular Fibrillation

ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัวสามารถป้องกันได้เบื้องต้น ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
  • ลดปริมาณการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและเซลล์อื่น ๆ ในร่างกายโดยรวม
  • หมั่นตรวจสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ โดยควรมีน้ำหนักตัว ความดันโลหิต และระดับคอเลสเตอรอลอยู่ในระดับปกติ จะช่วยลดความเสี่ยง Ventricular Fibrillation ได้อีกทาง
นอกจากนี้ หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจ หรือมีปัญหาหัวใจอยู่แล้ว ผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้แพทย์สามารถรับมือได้กับภาวะสุขภาพได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดความผิดปกติขึ้น