Sheehan Syndrome

ความหมาย Sheehan Syndrome

Sheehan Syndrome หรือกลุ่มอาการชีแฮน เป็นความผิดปกติของต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) ที่มีหน้าที่ควบคุมฮอร์โมน ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ความดันโลหิตต่ำ ไม่มีขนรักแร้ และในหญิงที่เพิ่งคลอดบุตรอาจมีปริมาณน้ำนมน้อย เป็นต้น

กลุ่มอาการชีแฮนพบได้ค่อนข้างน้อยมาก ส่วนมากมักเกิดกับหญิงตั้งครรภ์ที่เสียเลือดมากหลังคลอดบุตร โดยสาเหตุมาจากต่อมใต้สมองได้รับบาดเจ็บหรือขาดออกซิเจนไปเลี้ยงชั่วขณะจนทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มอาการนี้อาจจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทนตลอดชีวิต

Sheehan Syndrome

อาการของ Sheehan Syndrome

ต่อมใต้สมองมีหน้าที่ส่วนหนึ่งในการควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อให้ผลิตฮอร์โมนตามปกติ เมื่อได้รับความเสียหายจึงกระทบต่อต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ เช่น ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (Thyroid-stimulating Hormone) ลูทิไนซิงฮอร์โมน (Lutinizing Hormone) ฮอร์โมนกระตุ้นฟอลลิเซิล (Follicle Stimulating Hormone) โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) โปรแลคตินฮอร์โมน (Prolactin) แอดรีโนคอร์ติโคทรอพิกฮอร์โมน (Adrenocorticotropic Hormone) เป็นต้น 

การขาดฮอร์โมนหรือเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนี้ 

  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • ร้อนวูบวาบ
  • ขี้หนาว
  • น้ำหนักขึ้น
  • เวียนศีรษะ
  • ผิวแห้ง  
  • หน้าอกยาน
  • มีรอยย่นบนใบหน้า บริเวณรอบดวงตาและริมฝีปาก
  • ขนรักแร้และขนบริเวณอวัยวะเพศลดลงและไม่งอกขึ้นใหม่
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาด
  • ในสตรีตั้งครรภ์อาจมีน้ำนมน้อยหรือไม่มีน้ำนม
  • ปวดตามข้อ
  • อารมณ์ทางเพศลดลง
  • คิดช้ากว่าปกติ
  • ความผิดปกติบางอย่างที่อาจทราบเมื่อไปพบแพทย์ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม อาการจากการขาดฮอร์โมนเหล่านี้อาจเกิดขึ้นทันทีหลังคลอด แต่ถ้าต่อมใต้สมองได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยอาจใช้เวลาหลายเดือนไปจนถึงหลายปีจึงจะแสดงอาการออกมา หากอาการข้างต้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายในระยะยาว

สาเหตุของ Sheehan Syndrome

กลุ่มอาการชีแฮนเป็นอาการที่พบได้ในเพศหญิงเท่านั้น เนื่องจากต่อมใต้สมองจะมีขนาดใหญ่ขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ และในระหว่างคลอดบุตรหากมีการเสียเลือดปริมาณมากอาจส่งผลให้มีเลือดไปเลี้ยงบริเวณต่อมใต้สมองไม่เพียงพอ บางครั้งก็อาจมีสาเหตุมาจากความดันเลือดลดต่ำลงในระหว่างหรือหลังคลอดจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปยังบริเวณต่อมใต้สมองได้ ส่งผลให้ต่อมใต้สมองไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ภาวะครรภ์ผิดปกติบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียเลือดมากระหว่างการคลอด เช่น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะรกเกาะต่ำ ทารกตัวใหญ่เกินหรือคลอดทารกแฝด ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น รวมไปถึงเทคนิคหรือเครื่องมือที่ใช้ในระหว่างการทำคลอด อย่างคีมหนีบหรือเครื่องดูดทารก ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของเลือดออกมากได้เช่นกัน 

การวินิจฉัย Sheehan Syndrome

การวินิจฉัยกลุ่มอาการชีแฮนค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา เนื่องจากฮอร์โมนหลายชนิดได้รับผลกระทบจนทำให้เกิดอาการที่ซับซ้อน โดยในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามอาการที่ผู้ป่วยพบ ตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณของโรค พร้อมทั้งตรวจดูประวัติการรักษาทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการเสียเลือดมากระหว่างคลอดบุตร ไม่มีน้ำนมหรือประจำเดือนไม่มาหลังการคลอด 

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณฮอร์โมนในร่างกาย การตรวจภาพในสมองด้วยเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือซีทีสแกน (CT Scan) ว่าสมองส่วนไหนได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นเข้าไปภายในร่างกายเพื่อดูการตอบสนองของต่อมใต้สมองในกรณีที่ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติทางด้านฮอร์โมน เป็นต้น

การรักษา Sheehan Syndrome

ความเสียหายบริเวณต่อมใต้สมองนั้นส่งผลให้เกิดภาวะฮอร์โมนต่ำหรือขาดฮอร์โมน การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาด้วยฮอร์โมนในระยะยาวหรือตลอดชีวิต โดยแพทย์จะพิจารณาจากชนิดของฮอร์โมนที่ผู้ป่วยขาดไป ดังนี้

รักษาการทำงานของระบบสืบพันธุ์

ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเป็นฮอร์โมนเพศที่กระตุ้นให้เกิดประจำเดือนและช่วยให้ระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิงทำงานได้อย่างปกติ ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้จะถูกควบคุมโดยลูทิไนซิงฮอร์โมนและฟอลลิเซิลสติมิวเลติงฮอร์โมนที่กระตุ้นจากต่อมใต้สมองอีกทีหนึ่ง โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน

การให้ฮอร์โมนทดแทนทั้ง 2 ชนิดอาจหยุดได้หลังจากเข้าสู่ช่วงวัยทอง ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายหยุดผลิตฮอร์โมนเหล่านี้แล้ว โดยผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดนำมดลูกออกแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว

รักษาการทำงานของระบบเผาผลาญ

ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ในการหลั่งฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นกลไกของร่างกายในการเผาผลาญพลังงานและควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย โดยแพทย์อาจจ่ายยากลุ่มเลโวไทรอกซีน (Levothyroxine) เพื่อเพิ่มระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งอาจช่วยให้การเผาผลาญและการดึงพลังงานมาใช้เป็นไปอย่างปกติ

รักษาความหนาแน่นของกระดูก กล้ามเนื้อ และไขมัน

โกรทฮอร์โมนมีหน้าที่กระตุ้นการเติบโตและการซ่อมแซมร่างกาย ซึ่งจะช่วยรักษาความหนาแน่นของมวลกระดูก ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รักษาความสมดุลระหว่างกล้ามเนื้อและไขมันในร่างกาย รวมถึงช่วยลดระดับไขมันภายในร่างกาย

รักษาการทำงานของต่อมหมวกไต

แพทย์อาจจ่ายยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เพื่อช่วยให้ต่อมหมวกไตซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการเผาผลาญพลังงาน ความดันโลหิต และการไหลเวียนของเลือดสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ จึงอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนอย่างอาการช็อกได้

ในระหว่างการรักษาด้วยฮอร์โมน ผู้ป่วยอาจต้องไปพบแพทย์เป็นระยะเพื่อตรวจระดับของฮอร์โมนในร่างกาย นอกจากนี้ การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนชนิดหรือยี่ห้อยา และไม่ปรับปริมาณหรือหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงหรือลดประสิทธิภาพของยาลง

ภาวะแทรกซ้อนของ Sheehan Syndrome

กลุ่มอาการชีแฮนอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างตามชนิดของฮอร์โมนที่ขาดไป ซึ่งอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่สิ่งที่อันตรายและควรระวัง คือ ภาวะที่ต่อมหมวกไตไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ (Adrenal Crisis) เพราะโดยปกติต่อมหมวกไตมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมความดันโลหิตและการสูบฉีดเลือด เมื่อฮอร์โมนเหล่านั้นไม่สามารถผลิตได้จะทำให้ขาดฮอร์โมนและส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำจนช็อก โคม่า หรือเสียชีวิต

การป้องกัน Sheehan Syndrome

กลุ่มอาการชีแฮนเป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด การลดความเสี่ยงของอาการเลือดออกมากระหว่างการคลอดและความดันโลหิตต่ำหลังคลอดจึงอาจทำได้ด้วยการเข้ารับการทำคลอดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ อาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการทำคลอดที่เสียเลือดน้อย และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด