ทำความรู้จักฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนสำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) หรือที่รู้จักกันในชื่อฮอร์โมนคนท้องนั้นเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญในการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ผลิตจากรังไข่ บางส่วนผลิตจากต่อมหมวกไต และในช่วงที่ตั้งครรภ์ก็จะถูกผลิตจากรกด้วย โดยปกติแล้วฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะทำงานควบคู่กับฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อให้ระบบในร่างกายของเพศหญิงดำเนินไปอย่างเป็นปกติ

นอกจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์แล้ว ยังมีการใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในรูปแบบของฮอร์โมนทดแทน เพื่อรักษาอาการของวัยหมดประจำเดือนด้วย บทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ทำความรู้จักฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนสำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

ความสำคัญของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

เหตุผลที่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนถูกเรียกว่าฮอร์โมนคนท้องเพราะว่าหน้าที่ของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์เป็นส่วนใหญ่ โดยช่วยให้ร่างกายของเพศหญิงพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์มากที่สุด เช่น

  • กระตุ้นให้เยื่อบุมดลูกพร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว
  • ช่วยลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกเพื่อให้ไข่ฝังตัวได้ง่ายขึ้น
  • ช่วยให้หลั่งเมือกเหนียวบริเวณปากมดลูก เพื่อป้องกันสเปิร์มตัวอื่นว่ายเข้าไปผสมกับไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว

โดยระหว่างการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เคยผลิตจากต่อมคอร์ปัสลูเทียม (Corpus Luteum) ในรังไข่จะถูกผลิตจากรกเป็นหลักแทน เพื่อช่วยให้การตั้งครรภ์เป็นไปตามปกติ เช่น

  • ช่วยให้ร่างกายไม่ผลิตไข่เพิ่มในระหว่างการตั้งครรภ์
  • ช่วยยับยั้งการบีบตัวของมดลูกเพื่อปกป้องตัวอ่อน
  • ช่วยกระตุ้นเยื่อบุมดลูกให้สร้างสารอาหารไปเลี้ยงตัวอ่อน
  • ช่วยในการเจริญของเต้านมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนม 

ส่วนในกรณีที่ไม่เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น คอร์ปัสลูเทียมที่อยู่ในรังไข่จะสลายตัว ทำให้ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายลงลด ส่งผลให้เยื่อบุมดลูกที่เตรียมไว้สำหรับการฝังตัวของไข่หลุดลอกออกมากลายเป็นประจำเดือน 

การใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อรักษาโรค

เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือที่เรียกกันว่าวัยทอง ร่างกายจะมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทั้งทางด้านร่างกายและอารมณ์ เช่น ช่องคลอดแห้ง รู้สึกร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน นอนไม่หลับ และอารมณ์แปรปรวน บางรายจึงอาจต้องใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมนให้อยู่ในระดับปกติ

การรักษาอาการของวัยหมดประจำเดือนในคนทั่วไปที่ไม่ผ่านการผ่าตัดเอามดลูกออกมักใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในการรักษา เนื่องจากการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เยื่อบุมดลูกหนาจนเกินไป และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ 

แต่ถ้าหากใช้ร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะช่วยให้เยื่อบุมดลูกหนาตัวเหมาะสมและลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

นอกจากนี้ยังมีการใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก ภาวะประจำเดือนขาด หรือภาวะฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนในร่างกายต่ำ เนื่องจากรังไข่ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอหรือเนื่องจากการรับประทานยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้ระดับฮอร์โมนต่ำ

อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีหลายประเภทสำหรับใช้รักษาอาการที่แตกต่างกันออกไป และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ ผู้ที่เข้ารับการบำบัดควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ฮอร์โมนทดแทนและควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ร่างกายผลิตจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามสถานการณ์ โดยปกติแล้วระดับฮอร์โมนจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงตกไข่หรือช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

แต่กรณีที่กระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายต่ำอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์อาจเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก ส่วนผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งได้ง่าย

ฉะนั้น หากมีความกังวลเกี่ยวกับความผิดปกติของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกาย สามารถขอคำปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพในระหว่างการตั้งครรภ์ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ด้วย