Shea Butter ต้านโรค รักษาปัญหาผิว

สาว ๆ น่าจะเคยได้ยินชื่อ Shea Butter จนคุ้นชินในฐานะมอยส์เจอไรเซอร์บำรุงผิวซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม อาหาร และยาบางชนิด แต่แท้จริงแล้ว Shea Butter คืออะไร มีสรรพคุณเป็นอาหารบำรุงผิวชั้นเลิศหรือมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ จริงแค่ไหน

shea butter

Shea Butter เป็นไขมันธรรมชาติที่สกัดจากเชียนัทหรือเมล็ดของต้นเชีย มีเนื้อสัมผัสเหนียวข้นคล้ายเนย ส่วนใหญ่ใช้ในประเทศที่มีอากาศหนาวและแห้ง เพราะเป็นมอยส์เจอร์ไรเซอร์คุณภาพสูงที่ช่วยบำรุงผิวให้เนียนนุ่ม เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว ฟื้นฟูเซลล์ผิวที่ถูกทำลาย ลดริ้วรอย และอาจแก้ปัญหาด้านผิวพรรณบางประการได้ เพราะอุดมด้วยสารในกลุ่มไขมันจากธรรมชาติ วิตามินอีบริสุทธิ์ วิตามินซี สารโพลีฟีนอล (Polyphenols) สารไตรเทอร์พีน (Triterpene) และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอีกหลายชนิด

นอกจากนี้ Shea Butter ยังมีคุณสมบัติต้านการอับเสบ จึงมักถูกใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในยารักษาโรคผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ แผลเป็น ผิวไหม้แดด สิว หรือโรคสะเก็ดเงิน บางคนอาจใช้ Shea Butter บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ ขจัดรังแค ตลอดจนบรรเทาอาการจากโรคข้ออักเสบ โดยมีการศึกษาสรรพคุณที่กล่าวมาบางส่วนในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

บรรเทาอาการผื่นผิวหนังอักเสบ ตามที่ทราบกันดีว่า Shea Butter เป็นมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ธรรมชาติที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และอุดมด้วยวิตามินบำรุงผิวหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินซีที่ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน และวิตามินอีที่ช่วยป้องกันผิวไม่ให้แห้งกร้าน จึงเชื่อว่า Shea Butter น่าจะใช้เป็นส่วนประกอบในยารักษาโรคผิวหนังอักเสบได้ ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งได้ทดสอบประสิทธิภาพของน้ำมัน Shea Butter กับผู้ป่วยโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยให้ผู้ร่วมทดลองทาผิวหนังด้วยยาที่ประกอบด้วยน้ำมัน Shea Butter สารไดเมธิโคน วิตามินบี และสารอื่น ๆ วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ จากนั้นเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการทดลอง ผลปรากฏว่าสุขภาพผิวโดยรวมและอาการทางผิวหนังของผู้ป่วยดีขึ้นในหลายด้าน เช่น การอักเสบและความแห้งกร้านของผิวหนัง ผิวหนังแตกเป็นแผล การนูนและแข็งของผิวหนัง อาการคัน และอาการอื่น ๆ จึงอาจใช้ Shea Butter เป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดไม่รุนแรงได้ แต่ก็มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่นำ Shea Butter เพียงอย่างเดียวมาทดสอบประสิทธิภาพในด้านนี้ แต่กลับไม่พบความแตกต่างอย่างชัดเจน ดังนั้น ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมต่อไปจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน เพราะการทดลองดังกล่าวยังคงมีข้อจำกัด

ลดรอยแผลเป็น Shea Butter มีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณแผลเป็นนุ่มลง และฟื้นฟูผิวจากรอยแผลเป็นได้ ด้วยเหตุนี้ Shea Butter จึงมักถูกใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและลดรอยแผล ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยในห้องทดลองงานหนึ่งที่ศึกษาประสิทธิภาพของ Shea Butter ร่วมกับน้ำมันชนิดอื่น และเปรียบเทียบกับยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) ที่เป็นยาใช้รักษาแผลเป็นคีลอยด์ เพื่อดูคุณสมบัติด้านการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์บริเวณแผลคีลอยด์ที่มักมีการสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนขึ้นมามากผิดปกติ ผลพบว่าทั้ง Shea Butter และยาไตรแอมซิโนโลนช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์บริเวณคีลอยด์ได้เหมือนกัน แต่ Shea Butter ให้ประสิทธิผลในการลดจำนวนเซลล์ลงมากกว่า ผลลัพธ์ดังกล่าวจึงอาจแสดงถึงความเป็นไปได้ในการนำ Shea Butter ไปพัฒนาเป็นยารักษาแผลเป็นได้

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลที่ปรากฏไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่าง Shea Butter กับยารักษาแผลเป็น และเป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงอาจต้องศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ Shea Butter เพิ่มเติมโดยทดลองในมนุษย์ต่อไป

ป้องกันยุงกัด บางประเทศใช้ Shea Butter เป็นสมุนไพรไล่ยุงตามธรรมชาติ เพราะเชื่อกันว่ามีประสิทธิภาพป้องกันยุง ไม่ก่ออาการแพ้เหมือนสารเคมีไล่ยุงทั่วไป และอุดมไปด้วยอาหารบำรุงผิวหลายชนิดที่อาจลดอาการระคายเคืองจากยุงกัดได้ โดยการศึกษางานหนึ่งได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงชนิดน้ำมันสูตรที่มี Shea Butter เป็นส่วนประกอบกับสารละลายปิโตรเลียมเจลลี่ภาย พบว่าอัตราการถูกยุงกัดของสารทั้ง 2 ชนิดค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่ระยะเวลาในการป้องกันยุงโดยเฉลี่ยของสูตรที่มี Shea Butter เป็นส่วนประกอบ สูงกว่ากลุ่มที่ใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ จึงอาจนำ Shea Butter มาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงได้ ทว่ายังไม่มีการทดลองกับมนุษย์เพื่อยืนยันคุณสมบัติข้อนี้ และงานค้นคว้าดังกล่าวเป็นเพียงงานวิจัยกับยุงเพียง 2 สายพันธุ์เท่านั้น จึงไม่อาจยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยได้อย่างแน่ชัดจนกว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมในอนาคต

โรคข้อเสื่อม สารสกัดจากต้นเชียและ Shea Butter มีส่วนประกอบของสารไตรเทอร์พีนที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งอาจชะลออาการของโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการอักเสบไม่ให้รุนแรงขึ้น และบรรเทาอาการเจ็บปวดจากการเคลื่อนไหวได้ โดยยารักษาโรคข้อเสื่อมในปัจจุบันมักก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลังการใช้ ทำให้มีการศึกษาทดลองใช้สารสกัดจากน้ำมันเมล็ดเชียกับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมและข้อสะโพกเสื่อมจำนวน 89 คน เป็นเวลา 15 สัปดาห์ พบว่าการอักเสบ การเสื่อมของกระดูกอ่อน และแนวโน้มการสร้างกระดูกใหม่ของผู้ป่วยลดลง ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวยังสอดคล้องกับงานวิจัยอีกงานที่ให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจำนวน 33 คน ใช้สารสกัดจากน้ำมันเมล็ดเชียติดต่อกัน 16 สัปดาห์ ผลลัพธ์พบว่าผู้ป่วยเคลื่อนไหวเข่าได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีอาการปวดที่ลดลง จากข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ Shea Butter อาจนำไปพัฒนาเป็นยารักษาโรคข้อเสื่อมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ แต่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มทดลองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์สูงสุดก่อนนำไปใช้รักษาผู้ป่วยจริงต่อไป

Shea Butter กับสุขภาพผิวและเส้นผม

นอกจากความเป็นไปได้ในด้านต่าง ๆ ข้างต้น Shea Butter อาจมีคุณสมบัติดูแลสุขภาพผิวและเส้นผมได้อีกด้วย แต่ผลการวิจัยในด้านนี้ค่อนข้างมีจำกัด และไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เพียงพอยืนยันประสิทธิภาพดังกล่าว จึงควรระมัดระวังในการใช้ Shea Butter และคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพเป็นสำคัญ

ตัวอย่างการใช้ Shea Butter ในชีวิตประจำวัน และคำแนะนำบางส่วน ได้แก่

  • บรรเทาอาการผิวหนังอักเสบหลังการโกนขน หลังจากโกนขน เช็ดบริเวณนั้นให้แห้งด้วยผ้าขนหนูอย่างเบามือ และทาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Shea Butter แต่ควรเลือกใช้สูตรที่ปราศจากแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการระคายเคืองของผิว
  • บำรุงผิวและลดริ้วรอยตามวัย คนนิยมนำ Shea Butter มาใช้เป็นครีมลดริ้วรอยและบำรุงผิวฉบับโฮมเมด โดยผสมน้ำมันอโวคาโด ¼ ถ้วยตวง น้ำมันมะพร้าว 2 ช้อนโต๊ะ ไขผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ น้ำมันวิตามินอี ½ ช้อนชา และ Shea Butter 1 ช้อนชา จากนั้นนำส่วนผสมทั้งหมดไปอุ่นให้ละลายจนเข้ากัน เทลงในขวดโหลที่มีฝาปิด และตั้งทิ้งไว้ให้เย็นจนส่วนผสมแข็งตัว ก็จะได้ครีมลดริ้วรอยจากธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมี
  • ฟื้นฟูผิวไหม้แดด ผลิตภัณฑ์ประเภทมาส์กที่มีส่วนผสมจาก Shea Butter จะช่วยฟื้นฟูผิวจากการโดนแดดเผาได้ง่าย โดยใช้แผ่นมาส์กที่มีส่วนผสมจาก Shea Butter วางแปะทิ้งไว้บนผิวไหม้สักพักแล้วจึงลอกออก  
  • ป้องกันผมร่วง ใช้น้ำมัน Shea Butter ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ นวดบริเวณหนังศีรษะเบา ๆ จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้น้ำมันซึมลงสู่รากผมได้อย่างเต็มที่ พอครบกำหนดเวลาให้สระผมตามปกติ หรือนำน้ำมัน Shea Butter ไปผสมกับยาสระผมหรือครีมนวดผมที่ใช้ตามปกติในสัดส่วน 5 หยด ต่อยาสระผมหรือครีมนวดผม 30 มิลลิลิตร ก็ช่วยบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะได้เช่นกัน

ใช้ Shea Butter อย่างไรให้ปลอดภัย ?

ทุกวันนี้ยังคงขาดหลักฐานสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของ Shea Butter อย่างชัดเจนในด้านการรักษาโรค ดังนั้น การรับประทานหรือใช้ Shea Butter ควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยทางสุขภาพ และควรทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • คนทั่วไป การรับประทาน Shea Butter ตามปริมาณปกติจากอาหารค่อนข้างปลอดภัย แต่หากใช้ทาผิวหนังหรือส่วนอื่นภายนอกร่างกาย ควรใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
  • เด็ก หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้หรือรับประทาน Shea Butter เสมอ เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงปริมาณที่ปลอดภัยในการใช้ Shea Butter