ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous Cyst)

ความหมาย ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous Cyst)

Sebaceous Cyst หรือ ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง เป็นซีสต์หรือถุงน้ำขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนังอย่างช้า ๆ โดยสามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย มักไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงหรือกลายไปเป็นมะเร็ง ยกเว้นเกิดการติดเชื้อหรือการอักเสบมีขนาดใหญ่ หรือซีสต์ชนิดนี้ขึ้นในบริเวณที่อาจเกิดการเสียดสีบ่อย ๆ เช่น ตามลำคอ หรือบนใบหน้า

Sebaceous Cyst

อาการของซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง

ผู้ป่วยจะมีก้อนหรือตุ่มนูนขนาดเล็กบริเวณผิวหนัง ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ไม่กี่มิลลิเมตรไปจนถึงหลายเซนติเมตร โดยมีรูปทรงคล้ายโดม ผิวเรียบ ภายในมีสารสีขาวคล้ายชีสต์หรือไขมัน ก้อนซีสต์มีความนิ่ม สามารถจับเคลื่อนที่ได้เล็กน้อย พบได้บ่อยตามใบหน้า คอ หลังช่วงบน หน้าอก และหนังศีรษะ โดยทั่วไป ก้อนซีสต์ขนาดเล็กมักไม่ค่อยก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่หากมีขนาดใหญ่มากอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวหรือมีอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะซีสต์ที่เกิดบริเวณใบหน้าหรือลำคอ

อย่างไรก็ตาม ซีสต์ในลักษณะนี้ไม่ค่อยเป็นอันตราย แต่อาจเสี่ยงเกิดความผิดปกติหรือกลายเป็นมะเร็งได้ โดยผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดหากสังเกตพบอาการดังต่อไปนี้

  • ก้อนซีสต์ขยายใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร
  • มีก้อนซีสต์โตขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วหลังจากผ่าออกไปแล้ว
  • พบสัญญาณการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น มีอาการปวด เกิดรอยแดง มีหนอง เป็นต้น

สาเหตุของซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง

โดยทั่วไปแล้ว ต่อมไขมันใต้ผิวหนังจะทำหน้าที่หลั่งสารประเภทน้ำมันหรือซีบัม (Sebum) ออกมาตามรูขุมขนเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังและเส้นผม เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งของต่อมไขมันหรือท่อต่อมไขมันอุดตันหรือได้รับความเสียหาย สารดังกล่าวจะไม่สามารถหลั่งออกไปสู่ผิวชั้นนอกได้ตามปกติและเกิดการสะสมตกค้างอยู่ในรูขุมขนจนกลายเป็นก้อนซีสต์ใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ Sebaceous Cyst อาจเกิดจากเซลล์ผิวหนังชั้นนอกอยู่ผิดที่ โดยไปอยู่ในผิวชั้นหนังแท้แล้วผลิตสารเคอราตินสะสมจนเกิดซีสต์ขึ้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนถึงเริ่มสังเกตเห็นก้อนซีสต์ได้

โดยการอุดตันของต่อมไขมันใต้ผิวหนังจนทำให้เกิด Sebaceous Cyst อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น

  • การเกิดบาดแผลที่ผิวหนัง เช่น รอยขีดข่วน แผลผ่าตัด หรือสิว เป็นต้น เพราะเมื่อร่างกายซ่อมแซมเซลล์ผิวหนังหลังมีแผล อาจทำให้เซลล์ต่าง ๆ เกิดขึ้นผิดที่ได้
  • ท่อต่อมไขมันผิดปกติหรือผิดรูปร่าง
  • ท่อไขมันหรือต่อมเหงื่อเกิดการอุดตัน
  • เซลล์ได้รับความเสียหายจากการผ่าตัด
  • เป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคการ์ดเนอร์ซินโดรม (Gardner’s Syndrome) โรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด (Basal Cell Nevus Syndrome) หรือเซลล์ผิวหนังอยู่ผิดตำแหน่งแต่กำเนิด
  • ได้รับรังสียูวีหรือแสงแดดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

การวินิจฉัยซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง

แพทย์สามารถวินิจฉัย Sebaceous Cyst ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การซักประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการได้จากการสังเกตลักษณะก้อนเนื้อที่ผิวหนังและการตรวจร่างกายทั่วไป แต่หากพบว่าก้อนซีสต์มีความผิดปกติ สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง หรือผู้ป่วยต้องการผ่าก้อนซีสต์ออก แพทย์อาจต้องวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ ซีที สแกน เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์เห็นลักษณะของก้อนซีสต์ได้ชัดเจนมากขึ้น อาจใช้ตรวจดูบริเวณที่เกิดความผิดปกติอย่างละเอียดหรือเพื่อประเมินการผ่าตัด
  • การตรวจอัลตราซาวด์ ใช้สำหรับตรวจดูของเหลวที่อยู่ภายในซีสต์
  • การตัดชิ้นเนื้อตรวจ แพทย์จะผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อบางส่วนจากถุงซีสต์ไปส่งตรวจอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการทางพยาธิวิทยา เพื่อตรวจลักษณะชิ้นเนื้อ ชนิดของเซลล์ และตรวจหาความเป็นไปได้ในการเกิดมะเร็ง

การรักษาซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง

Sebaceous Cyst ไม่มีอันตรายและอาจสลายไปได้เอง จึงไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ยกเว้นหากเกิดการติดเชื้อ มีอาการอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือต้องการกำจัดออกเพื่อเหตุผลทางความงาม ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

วิธีการรักษา Sebaceous Cyst แบ่งออกได้เป็น

การดูแลอาการด้วยตนเอง อาจใช้ผ้าอุ่นประคบที่ก้อนซีสต์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการบวมให้ยุบลง และไม่ควรแกะ เกา หรือบีบบริเวณที่เป็นซีสต์ เพราะอาจเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้

การใช้ยา แพทย์จะพิจารณาใช้ยาตามอาการของผู้ป่วย โดยยาที่ใช้มีอยู่หลายชนิด ได้แก่

  • ยาสเตียรอยด์ ซีสต์ที่เกิดการบวมอาจรักษาได้ด้วยการฉีดยาในกลุ่มสเตียรอยด์เพื่อช่วยให้ก้อนซีสต์ยุบลง แต่หากเกิดการติดเชื้อ จำเป็นต้องกรีดระบายให้หนองออกมาก่อน
  • ยาปฏิชีวนะ มีทั้งรูปแบบรับประทานและชนิดทาเฉพาะที่ ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการผ่าตัด หรือใช้เมื่อมีการอักเสบของซีสต์
  • ยาทาลดรอยแผล เมื่อแผลผ่าตัดหายสนิทดีหลังการผ่าตัด แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทายาลดรอยแผล เพื่อช่วยให้รอยแผลดูจางลง

การผ่าตัด เป็นการกำจัดก้อนซีสต์ออกอย่างถาวร แต่อาจมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นตามมา หรืออาจเกิดซีสต์ขึ้นมาใหม่หากผ่าตัดออกไปไม่หมด โดยเฉพาะซีสต์ที่เป็นก้อนนิ่มและมีขนาดใหญ่ หลังผ่าตัดผู้ป่วยควรดูแลรักษาความสะอาดแผล เฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

วิธีการผ่าตัดแบ่งออกได้หลายแบบ ดังนี้

  • การผ่าตัดเอาก้อนซีสต์ออกทั้งหมด วิธีนี้อาจส่งผลให้เกิดรอยแผลเป็นขนาดใหญ่
  • การผ่าตัดซีสต์ออกไปบางส่วน แม้ทำให้เกิดรอยแผลเป็นน้อยที่สุด แต่ก็มีโอกาสที่ซีสต์จะโตขึ้นมาใหม่ได้เช่นกัน
  • การผ่าตัดซีสต์ด้วยเลเซอร์ แพทย์จะใช้เลเซอร์ทำลายผนังซีสต์และระบายของเหลวในก้อนซีสต์ออก

ภาวะแทรกซ้อนของซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง

ส่วนใหญ่ภาวะแทรกซ้อนของ Sebaceous Cyst อาจเป็นการติดเชื้อจากการอักเสบหรือถุงซีสต์แตก ซึ่งผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ทันที และแม้หลังจากเจาะเอาของเหลวในซีสต์ออกหรือผ่าตัดซีสต์ออกไปแล้วจะแทบไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้น แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดซีสต์ขึ้นมาใหม่ได้หลังการผ่าตัด

การป้องกันซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง

แม้การป้องกัน Sebaceous Cyst อาจทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากมีหลายสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการอุดตันในต่อมไขมันใต้ผิวหนัง แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการรักษาความสะอาดของผิวหนัง และหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจ้า ส่วนผู้ที่มีสิวหรือมีปัญหาทางผิวหนังประเภทอื่น ๆ ควรรักษาให้หายขาด ไม่ปล่อยให้อาการลุกลาม เพื่อลดโอกาสในการเกิดซีสต์ประเภทนี้