PTSD หลังเด็กประสบเหตุการณ์ร้ายแรง พ่อแม่ควรดูแลอย่างไร

ในปัจจุบันนี้ มีเด็กหลายคนที่ประสบเหตุการณ์ที่ร้ายแรงหรือส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของ PTSD หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงจนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันในหลายด้านได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาอาการและเรียนรู้วิธีรับมือกับเด็กที่มีอาการของโรคนี้ เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของลูกรักให้ดียิ่งขึ้น และกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง

PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง เป็นภาวะทางจิตที่เกิดจากการเผชิญกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียด น่ากลัว หรือกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เช่น การเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกปล้นหรือถูกโจรกรรม รอดชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ รวมถึงการเสียชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น ซึ่งโรคนี้อาจส่งผลให้ลูกรักของคุณเห็นภาพในอดีตซ้ำ ๆ ฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น หรือรู้สึกวิตกกังวลโดยไม่สามารถควบคุมได้จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

PTSD

สัญญาณบ่งบอกของ PTSD ในเด็ก

อาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึง PTSD ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

  • รู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือหดหู่
  • เห็นภาพเหตุการณ์หรือฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ และนึกถึงเหตุการณ์นั้นอยู่เสมอ
  • พยายามหลีกเลี่ยงคนหรือสถานที่ที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น
  • มีความคิดในแง่ลบหรือมีอารมณ์ขุ่นมัว เช่น รู้สึกผิด กระวนกระวายใจ ตำหนิตัวเอง รู้สึกอาย รู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกแปลกแยกจากพ่อแม่ กลุ่มเพื่อนหรือผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบทำ ไม่ร่าเริงแจ่มใส และอาจแสดงพฤติกรรมที่ดูหวาดกลัว เป็นต้น
  • นอนหลับยาก
  • แสดงออกถึงเรื่องราวในเหตุการณ์นั้น ๆ ผ่านทางการวาดภาพหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • แสดงอารมณ์ต่าง ๆ มากเกินไป เช่น หงุดหงิด โมโหรุนแรง ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รู้สึกหวาดระแวง ตกใจหรือสะดุ้งง่าย เป็นต้น
  • มีพัฒนาการที่ช้าหรือพัฒนาการที่ถดถอยในหลายด้าน ซึ่งบางอย่างอาจเป็นสิ่งที่เด็กเคยทำได้แล้วในอดีตแต่กลับไม่ยอมทำหรือไม่สามารถทำได้ในปัจจุบัน เช่น กลับมาปัสสาวะรดที่นอน ใช้ภาษาหรือเคลื่อนไหวร่างกายเหมือนเด็กเล็ก เป็นต้น

รับมืออย่างไรหากลูกน้อยมีอาการนี้ ?

คุณพ่อคุณแม่ที่รู้สึกกังวลหรือสงสัยว่าลูกรักของคุณอาจกำลังมีอาการของ PTSD ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

รับฟังปัญหาและให้กำลังใจลูกอยู่เสมอ

คุณพ่อคุณแม่อาจเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อลูกรู้สึกพร้อมที่จะเล่าโดยที่ไม่บังคับลูก ซึ่งเด็กบางคนอาจรู้สึกสบายใจที่จะเขียนหรือวาดภาพเพื่ออธิบายเหตุการณ์ดังกล่าว โดยคุณอาจให้กำลังใจและอธิบายเพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของพวกเขา และพยายามไม่ให้พวกเขาตำหนิตนเอง ทั้งนี้ ความรัก ความเข้าใจ และกำลังใจจากครอบครัวถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะช่วยบรรเทาความรู้สึกเครียดหรือหวาดกลัวของเด็ก และอาจช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวให้กลับสู่สภาวะปกติได้

ให้ลูกใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ

พยายามให้ลูกได้ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ทั้งการเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างที่เคยทำก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในช่วงแรก และต้องใช้เวลาปรับตัวสักพัก ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องขอความร่วมมือจากคุณครู ผู้รับเลี้ยงเด็ก และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในชีวิตของเด็ก และพูดคุยปรึกษาเกี่ยวกับอาการของเด็กอยู่เสมอ

หาวิธีสร้างความมั่นใจให้กับลูก

คุณพ่อคุณแม่อาจสนับสนุนให้ลูกได้ลองตัดสินใจด้วยตนเองในบางเรื่องโดยขึ้นอยู่กับช่วงวัยของเด็กแต่ละคนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกอย่างการเลือกกิจกรรมในวันหยุดสุดสัปดาห์ การเลือกอาหารสำหรับมื้อเย็น หรือการเลือกเสื้อผ้า นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตำหนิลูก หากลูกของคุณมีพฤติกรรมบางอย่างที่บ่งบอกถึงพัฒนาการที่ถดถอย เช่น การเปิดไฟขณะนอนหลับ หรือนำสัตว์เลี้ยงมาไว้บนเตียง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าพฤติกรรมดังกล่าวนั้นเป็นประโยชน์ต่อการรักษาอาการของลูกจริงหรือไม่

เข้ารับความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

การบำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กที่มีอาการของ PTSD ให้ดีขึ้นได้ โดยแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการบำบัดความคิดและพฤติกรรม ซึ่งมีส่วนช่วยให้เด็กเข้าใจและปรับทัศนคติที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น การบำบัด EMDR ซึ่งเป็นผสมผสานการบำบัดโดยใช้ความรู้ความเข้าใจและการควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา และการบำบัดด้วยการเล่น ซึ่งมักใช้ในเด็กเล็ก นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้เด็กเข้ารับการบำบัดแบบกลุ่ม ซึ่งเป็นการแบ่งปันเรื่องราว ความคิด ความกลัว และความรู้สึกกับผู้ที่มีประสบการณ์ที่คล้ายกัน

อย่างไรก็ตาม หากลูกรักของคุณมีอาการของโรคนี้เป็นระยะเวลานานกว่า 1 เดือน หรือมีอาการที่รุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีเพื่อไม่ให้อาการดังกล่าวรุนแรงขึ้น และเพื่อป้องกันการเกิดความคิดฆ่าตัวตายอีกด้วย นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อเรียนรู้วิธีรับมือกับเด็กที่มีอาการของ PTSD อย่างถูกต้อง เพราะหากลูกรักของคุณได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และได้รับกำลังใจที่ดีจากครอบครัว ลูกรักของคุณก็มีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง