ฉี่ราด

ความหมาย ฉี่ราด

ฉี่ราด (Bedwetting)  คือการปัสสาวะรดที่นอนหรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ส่วนมากมักเกิดขึ้นในเวลานอนหรือเวลากลางคืน โดยในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หากพบว่ามีการปัสสาวะรดที่นอนหรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนจะถือว่ามีปัญหาฉี่ราด ส่วนมากจะมีอาการลดลงและหายเองเมื่อโตขึ้น อาจมีสาเหตุจากปัญหาการควบคุมกระเพาะปัสสาวะในเด็ก กระเพาะปัสสาวะที่มีขนาดเล็ก ปัญหาทางด้านสุขภาพ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ หรืออาจเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ได้ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ที่ร่างกายต้องขับน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย ฉี่ราดในเด็กเป็นอาการที่รักษาและป้องกันได้

ฉี่ราด

อาการฉี่ราด

ฉี่ราดเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในช่วงเวลานอน อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • ปัสสาวะบ่อยหรือไม่ค่อยปัสสาวะ
  • มีอาการปวดหรือรู้สึกเครียดในขณะปัสสาวะ
  • อุจจาระราด
  • รู้สึกกระหายน้ำตลอดเวลา
  • มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส
  • ปัสสาวะเป็นเลือด

ควรไปพบแพทย์หากพบว่าบุตรหลานมีอาการดังนี้

  • มีอาการอื่น ๆ ข้างต้นเกิดขึ้นร่วมกับอาการฉี่ราด
  • อาการฉี่ราดที่ทำให้เกิดปัญหาต่อทั้งครอบครัวและตัวเด็ก
  • อายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และยังคงมีอาการฉี่ราดเป็นประจำ
  • มีอาการฉี่ราดเกิดขึ้นหลังจากที่ไม่ได้พบอาการมาระยะเวลาหนึ่ง

สาเหตุของฉี่ราด

ฉี่ราดแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ Primary Bedwetting คืออาการฉี่ราดที่เกิดขึ้นเป็นประจำตั้งแต่แรกเกิด และ Secondary Bedwetting คืออาการฉี่ราดอีกครั้งหลังไม่เคยฉี่ราดมาแล้ว 6 เดือน อาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาทางอารมณ์หรือจิตใจ ฉี่ราดยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด มีเพียงปัจจัยต่าง ๆ ที่เพิ่มความเป็นไปได้ให้เกิดอาการฉี่ราด เช่น

  • แนวโน้มทางพันธุกรรม ครอบครัวที่มีอาการฉี่ราด บุตรหลานมีแนวโน้มที่จะมีอาการฉี่ราดได้เช่นกัน
  • หลับสนิทหรือหลับลึก ทำให้ไม่รู้สึกตัวหรือตื่นขึ้นมาเมื่อมีน้ำปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะ
  • ไตผลิตปัสสาวะจำนวนมากในเวลานอน
  • เด็กไม่ค่อยปัสสาวะในช่วงเวลากลางวัน หรือมีพฤติกรรมการกลั้นปัสสาวะ โดยเด็กอาจแสดงท่าทางเหล่านี้ในระหว่างกลั้นปัสสาวะ เช่น นั่งไขว้ขา ทำหน้าเครียด บิดตัว งอตัว ใช้มือป้องหรือปิดที่บริเวณตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะหรือบริเวณเหนืออวัยวะเพศ
  • การติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดอาการปวดหรือระคายเคืองที่กระเพาะปัสสาวะ กระตุ้นให้เกิดการปวดปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย
  • โรคเบาหวาน เนื่องจากในผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจึงผลิตปัสสาวะมากขึ้นเพื่อกำจัดน้ำตาลออกจากร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานปวดปัสสาวะบ่อย
  • ความผิดปกติทางโครงสร้างของร่างกาย อวัยวะ กล้ามเนื้อ รวมถึงระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการขับปัสสาวะ หรือมีกระเพาะปัสสาวะขนาดเล็ก
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทที่ผิดปกติ ได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับผลกระทบจากโรคต่าง ๆ อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบขับถ่ายปัสสาวะ
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบการขับถ่าย เช่น อาการท้องผูก อุจจาระที่ตกค้างในลำไส้อาจไปเพิ่มแรงดันให้กระเพาะปัสสาวะได้
  • ปัญหาทางอารมณ์หรือจิตใจ เช่น ปัญหาครอบครัว การย้ายโรงเรียน การย้ายบ้าน การถูกทำร้ายร่างกาย หรือการถูกทารุณกรรมทางเพศ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดและส่งผลต่อเด็ก รวมถึงมารดาที่ตั้งครรภ์ลูกคนใหม่อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บุตรคนโตเกิดความเครียดและเกิดอาการฉี่ราดได้

การวินิจฉัยฉี่ราด

ฉี่ราดวินิจฉัยได้โดยแพทย์ ซึ่งจะตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้นจะซักถามผู้ปกครองหรือบุตรหลานเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและหาวิธีรักษาที่ถูกต้องต่อไป โดยแพทย์อาจมีแนวทางในการซักถามดังต่อไปนี้

  • อาการฉี่ราดเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ หรือเพิ่งจะเกิดขึ้น
  • ในช่วงนี้มีการใช้ยา ปัจจัยทางกายภาพหรืออารมณ์ ที่อาจส่งผลให้บุตรหลานฉี่ราดหรือไม่
  • จำนวนครั้งของการฉี่ราดในแต่ละคืน หรือในแต่ละสัปดาห์ รวมถึงปริมาณของปัสสาวะในแต่ละครั้ง
  • บุตรหลานตื่นขึ้นมาหลังฉี่ราดหรือไม่
  • บุตรหลานของท่านมีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะหรือไม่ เช่น ปวดปัสสาวะแบบกะทันหันหรือกลั้นไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะราด หรือต้องเบ่งในขณะปัสสาวะ
  • มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ท้องผูก กระหายน้ำตลอดเวลา มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • ปริมาณของน้ำที่บุตรหลานดื่มในแต่ละวัน มีการลดหรือห้ามบุตรหลานดื่มน้ำในช่วงก่อนเข้านอนหรือไม่
  • จำนวนครั้งที่บุตรหลานปัสสาวะในช่วงกลางวัน

ผู้ปกครองมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยได้ โดยแพทย์อาจให้ผู้ปกครองจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุตรหลาน เช่น ปริมาณของน้ำที่ดื่ม จำนวนครั้งที่ปัสสาวะในแต่ละวัน ปริมาณของปัสสาวะในแต่ละครั้ง จำนวนครั้งของการฉี่ราดในแต่ละคืนหรือในแต่ละสัปดาห์ หรือแพทย์อาจมีแนวทางการวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการตรวจปัสสาวะหาสัญญาณของการติดเชื้อหรือโรคเบาหวาน รวมถึงการเอกซเรย์ไตหรือกระเพาะปัสสาวะ เพื่อตรวจปัญหาทางโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

การรักษาฉี่ราด

ปกติอาการฉี่ราดจะลดลงจนหายไปเองเมื่อเด็กเจริญเติบโตขึ้น แต่ในระหว่างนี้อาจรักษา ปรับเปลี่ยน หรือควบคุมอาการฉี่ราดได้ การรักษาอาการฉี่ราดขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อวิธีรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งทำได้หลายวิธีดังต่อไปนี้

  • การสร้างแรงจูงใจ เด็กจะต้องมีส่วนร่วมในการวางแผนการรักษา โดยบันทึกว่าในคืนไหนที่ไม่มีการฉี่ราดเพื่อให้เด็กเห็นพัฒนาการของตนเอง ผู้ปกครองอาจให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อเด็กหยุดหรือลดอาการฉี่ราดได้ วิธีนี้ถือเป็นวิธีการรักษาที่น่าสนใจ แต่การตั้งเงื่อนไขล่วงหน้าว่าถ้าทำได้จะได้รับรางวัลหรือการให้รางวัลใหญ่อาจไม่ได้ผลเพราเป็นการสร้างความเครียดให้เด็ก หรือเด็กอาจผิดหวังเมื่อไม่สามารถหยุดหรือลดอาการฉี่ราดได้
  • การเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมการดื่มน้ำ ผู้ปกครองไม่ควรจำกัดปริมาณน้ำดื่มในช่วงระหว่างวัน รวมถึงในช่วงเวลาเย็น เพราะอาจไม่ช่วยให้เด็กลดอาการฉี่ราดในตอนกลางคืนได้ แต่ควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เป็นต้น ในช่วงเวลากลางคืน
  • การใช้ Bedwetting Alarm วิธีนี้จะช่วยรักษาอาการฉี่ราดได้มากว่าร้อยละ 80 โดยใช้ได้ในระยะยาวและเห็นผลได้ดีกว่าการใช้ยา และต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครอง เพราะต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณ 6-8 สัปดาห์ โดยจะมีตัวตรวจจับสัญญาณขนาดเล็กติดไว้ที่บริเวณกางเกงชั้นในของเด็ก เครื่องจะสั่นและส่งเสียงดังขึ้นเมื่อตรวจจับได้ถึงความเปียกชื้น จะทำให้เด็กรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรลุกไปเข้าห้องน้ำ
  • การใช้ยา เช่น ยาเดสโมเพรสซิน (Desmopressin) ยาแอนตี้โคลิเนอจิก (Anticholinergics) หรือยาอิมิพรามีน (Imipramine) โดยมีรายละเอียดดังนี้
    • ยาเดสโมเพรสซิน (Desmopressin) เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์มีหน้าที่ควบคุมหรือลดปริมาณการผลิตปัสสาวะ ยาจะอยู่ในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูกหรือยาเม็ด รับประทานประมาณ 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอนเป็นเวลาต่อเนื่องประมาณ 12 สัปดาห์ หากพบว่าในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังจากรับประทานยานี้แล้วอาการฉี่ราดไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อปรับขนาดยา อาจมีอาการแพ้ยาในผู้ป่วยบางราย เช่น ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือเลือดกำเดาไหล เป็นต้น
    • ยาแอนตี้โคลิเนอร์จิก (Anticholinergics) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการฉี่ราดร่วมกับยาเดสโมเพรสซิน มีหน้าที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่กระเพาะปัสสาวะ เพิ่มความจุ และลดการปวดปัสสาวะในตอนนอน อาจมีอาการแพ้ยาในผู้ป่วยบางราย เช่น รู้สึกไม่สบาย ปากแห้ง ปวดศีรษะ มีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย อาการแพ้ยาจะดีขึ้นในช่วง 2-3 วัน
    • ยาอิมิพรามีน (Imipramine) มีหน้าที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่กระเพาะปัสสาวะ เพิ่มความจุ และลดการปวดปัสสาวะในเวลานอนเช่นเดียวกับยาแอนตี้มัสคารินิก รับประทานประมาณ 12 สัปดาห์ อาจมีอาการแพ้ยาในผู้ป่วยบางราย เช่น วิงเวียนศีรษะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ อยากอาหาร เป็นต้น ไม่ควรหยุดใช้ยาทันทีเพราะอาจทำให้เกิดภาวะถอนยา คือ มีอาการนอนไม่หลับ เครียด รู้สึกไม่สบายได้ หากพบว่าอาการดีขึ้นแพทย์จะลดขนาดของยาลงเรื่อย ๆ จนหยุดใช้ยา

ภาวะแทรกซ้อนของฉี่ราด

ฉี่ราดอาจดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ ไม่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องที่สร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้ที่พบเจอได้ รวมถึงอาจสร้างปัญหาให้ตัวเด็กที่ฉี่ราดเองด้วย เช่น

  • ความอายหรือรู้สึกผิด ซึ่งส่งผลให้เด็กรู้สึกด้อยค่า หรือลดความนับถือตัวเองลงได้
  • เป็นอุปสรรคหรือเสียโอกาสทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่น เช่น การเข้าค่ายพักแรม
  • ผื่นคัน โดยเฉพาะในบริเวณก้นหรืออวัยวะเพศของเด็ก หากฉี่ราดแล้วนอนต่อในชุดที่เปียกชื้น

การป้องกันอาการฉี่ราด

ฉี่ราดอาจทำให้เด็กอายหรือสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง การป้องกันอาการฉี่ราดที่ดีที่สุดคือการสนับสนุนที่ดีจากผู้ปกครอง การรับมืออาการฉี่ราดปฏิบัติได้โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

  • เรียนรู้และทำความเข้าใจถึงปัญหา ฉี่ราดเป็นอาการซึ่งเกิดขึ้นในเวลาที่เด็กนอนหลับ ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นการทำโทษอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาเด็กที่ฉี่ราดได้
  • สร้างความมั่นใจให้เด็กที่ฉี่ราดเป็นประจำว่าอาการฉี่ราดหายได้ อาจยกตัวอย่างที่ผู้ปกครองเคยฉี่ราดในวัยเด็กและหยุดฉี่ราดได้เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ หรือให้รางวัลเมื่อเด็กหยุดพฤติกรรมฉี่ราดได้ รวมถึงไม่ควรนำเรื่องการฉี่ราดมาหยอกล้อกันทั้งภายในหรือภายนอกครอบครัว
  • ปลูกฝังเกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบ อาจให้เด็กที่ฉี่ราดช่วยเก็บกวาดหรือทำความสะอาดเตียงที่เลอะปัสสาวะ หรือสอนให้เด็กปัสสาวะในห้องน้ำ รวมถึงจัดสถานที่ให้เด็กลุกเข้าห้องน้ำได้สะดวก อาจติดไฟที่ทางเดิน หรือเปิดไฟห้องน้ำในตอนกลางคืน
  • ใช้แผ่นรองกันน้ำหรือแผ่นรองที่ช่วยดูดซับน้ำได้รองที่เตียง หรือให้เด็กใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปก่อนเข้านอน
  • งดให้บุตรหลานดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ ช็อกโกแลต  เพราะจะทำให้ปวดปัสสาวะได้ในตอนกลางคืน และปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน
  • เสริมสร้างสุขภาวะในการขับถ่ายที่ดีให้แก่เด็ก เพราะอาการท้องผูกส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้