Propofol (โปรโพฟอล)

Propofol (โปรโพฟอล)

Propofol (โปรโพฟอล) เป็นยาระงับความรู้สึกที่ออกฤทธิ์ทำให้ระบบประสาทและสมองทำงานช้าลง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ไร้ความรู้สึก และหลับลงอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนและระหว่างขั้นตอนการผ่าตัดหรือการวินิจฉัยโรค โดยนำมาใช้เป็นยาสลบหรือยานำในช่วงเริ่มต้นเพื่อทำให้ผู้ป่วยสลบ นอกจากนี้ อาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

ยา Propofol มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

1526 Propofol Resized

เกี่ยวกับยา Propofol

กลุ่มยา ยาระงับความรู้สึก
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ใช้ระงับความรู้สึกก่อนการรักษาทางการแพทย์
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยา Propofol

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Propofol หากมีประวัติแพ้ยา หรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวและประวัติการแพ้ต่าง ๆ ก่อนใช้ยานี้ โดยเฉพาะโรคลมบ้าหมู อาการชัก ภาวะไขมันคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์สูง รวมไปถึงหากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยา Propofol เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ชนิดเสพติด ยาแก้ไอ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาโรควิตกกังวล ยารักษาโรคซึมเศร้า หรือยารักษาอาการชัก เป็นต้น
  • ยา Propofol อาจส่งผลต่อพัฒนาการสมองของเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี หรือทารกในครรภ์ที่มารดาได้รับยานี้ในช่วงใกล้คลอด โดยเฉพาะหากใช้ยาเป็นเวลา 3 ชั่วโมงขึ้นไป หรือใช้ยาซ้ำในขั้นตอนการรักษา เพราะยาอาจส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้หรือพฤติกรรมของเด็กในอนาคต ดังนั้น ในบางกรณีที่แพทย์พิจารณาว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูง อาจเลื่อนการใช้ยาในการรักษาออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยถึึงผลกระทบดังกล่าวยังไม่มากพอและยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในด้านนี้ต่อไป
  • ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือการวินิจฉัยโรค ให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาทุกชนิดที่จะใช้ในระหว่างขั้นตอนดังกล่าว รวมไปถึงระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดด้วย
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เพราะยาสามารถผ่านทางน้ำนมและอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกได้
  • ยา Propofol อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือง่วงซึมอย่างรุนแรงต่อเนื่องหลายชั่วโมง จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถด้วยตนเองหรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวหลังจากได้รับยาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

ปริมาณการใช้ยา Propofol

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ใช้เป็นยาสลบในการวินิจฉัยและการผ่าตัด
ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำปริมาณเริ่มต้น 6-9 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง โดยหยดยาเป็นเวลาประมาณ 3-5 นาที หรือฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำช้า ๆ ปริมาณ 0.5-1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 1-5 นาที

ส่วนปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ ให้หยดเข้าหลอดเลือดดำ 1.5-4.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง หากเป็นผู้ป่วยที่ีมีความเสี่ยงสูง ให้ลดปริมาณยาลง 20 เปอร์เซ็นต์ และผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำปริมาณ 0.3-4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง

ใช้เป็นยานำให้สลบและควบคุมอาการเพื่อการให้ยาสลบ  

  • เด็กอายุมากกว่า 8 ปี ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำปริมาณเริ่มต้น 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตามด้วยปริมาณยาควบคุมอาการแบบรวดเร็วเป็นระยะ หรือหยดยาเข้าหลอดเลือดดำปริมาณ 9-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่ ฉีดหรือหยดยาเข้าหลอดเลือดดำปริมาณ 40 มิลลิกรัม ทุก 10 วินาที โดยปริมาณยาทั่วไป คือ 1.5-2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ส่วนปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ ให้ฉีดหรือหยดยาเข้าหลอดเลือดดำปริมาณ 4-12 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง หรือฉีดยาเข้าหลอดเลือดอย่างรวดเร็วเป็นระยะ ปริมาณ 20-50 มิลลิกรัม/ครั้ง
  • ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่ผ่าตัดทางระบบประสาทหรือมีอาการอ่อนแรง ให้หยดยา 20 มิลลิกรัม ทุก 10 วินาที โดยปริมาณปกติให้ฉีดยา 1-1.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการให้ฉีดยาปริมาณ 3-6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง

การใช้ยา Propofol

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ยา Propofol ใช้ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  • ผู้ป่วยจะรู้สึกผ่อนคลายและหลับได้ง่ายหลังจากได้รับยา ซึ่งในระหว่างนั้น แพทย์จะตรวจการหายใจ ความดันโลหิต ระดับออกซิเจนในร่างกาย การทำงานของไต และการตอบสนองของร่างกายอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Propofol

การใช้ยา Propofol อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวได้เอง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มีไข้ คัน มีผื่นขึ้น หัวใจเต้นช้าหรือเร็ว ไขมันในเลือดสูง เจ็บแสบหรือระคายเคืองบริเวณที่่ฉีดยา เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาหรือไปพบแพทย์ทันที

  • รู้สึกเวียนศีรษะ คล้ายจะหมดสติ
  • อ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม
  • รู้สึกไม่สบายบริเวณที่ฉีดยาหรือเจ็บอย่างรุนแรง
  • มีภาวะหยุดหายใจชั่วคราว
  • หัวใจเต้นช้า
  • ความดันเลือดต่ำ
  • เกิดอาการชักกระตุก
  • ตับอ่อนอักเสบ โดยอาจสังเกตพบอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น ปวดท้องส่วนบนอย่างรุนแรงและอาจปวดร้าวลามไปที่หลัง มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และมีภาวะขาดน้ำ เป็นต้น
  • อาการแพ้รุนแรง เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม คอบวม เป็นต้น