ยาสลบ คือ ยาที่ถูกใช้เพื่อทำให้ผู้ป่วยหมดสติ เอื้อประโยชน์ต่อขั้นตอนการรักษา อย่างการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องใช้เวลานาน ทำให้เกิดความเจ็บปวดมาก หรืออาจกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โดยจะมีวิสัญญีแพทย์ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ยาชาและการวางยาสลบ เป็นผู้วางยาสลบด้วยการฉีดยาเข้าสู่เส้นเลือด หรือให้ผู้ป่วยดมยาในรูปแบบก๊าซ ผู้ป่วยจะรู้สึกง่วงนอน และหมดสติไปในที่สุด โดยที่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกเจ็บปวดในระหว่างทำการรักษา
ทำไมต้องใช้ยาสลบ
ยาสลบมักถูกใช้ในการผ่าตัดใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อขั้นตอนการผ่าตัดรักษา และเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง โดยการผ่าตัดที่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ ได้แก่
- การผ่าตัดใหญ่หรือการทำหัตถการที่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยอย่างมาก ใช้ระยะเวลานานในการผ่าตัด หรือต้องการให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งที่สุด
- การผ่าตัดหรือทำหัตถการในเด็ก ซึ่งต้องการให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งระยะเวลาหนึ่ง
- การผ่าตัดที่สร้างความวิตกกังวล อึดอัด ไม่สบายใจแก่ผู้ป่วยอย่างมาก
- การผ่าตัดที่ต้องเสียเลือดมาก
- การผ่าตัดที่อาจกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น การผ่าตัดช่องอก หรือผ่าตัดบริเวณช่องท้องด้านบน
- การผ่าตัดในขณะที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นหรือมีอุณหภูมิต่ำ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้ป่วยซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัดหากผู้ป่วยยังมีสติรู้ตัวอยู่
ขั้นตอนในการใช้ยาสลบ
ในขั้นแรก ผู้ป่วยต้องพูดคุยปรึกษาและแจ้งประวัติทางการแพทย์ให้วิสัญญีแพทย์ทราบ เพื่อวางแผนการใช้ยาสลบที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการผ่าตัดรักษา โดยวิสัญญีแพทย์อาจซักถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจากการใช้ยาสลบ เช่น
- ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาสลบ หรือ มีประวัติคนในครอบครัวเคยแพ้ยาสลบหรือไม่
- มีประวัติการเจ็บป่วย กำลังป่วย หรือกำลังใช้ยาชนิดใดอยู่
- สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ มากน้อยหรือบ่อยเพียงใด
- กำลังตั้งครรภ์อยู่หรือไม่
ก่อนวางยาสลบ
- ช่วงสัปดาห์ก่อนทำการผ่าตัด ผู้ป่วยควรงดสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย
- หากผู้ป่วยอยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน หรือภาวะอ้วน ควรทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดน้ำหนักตัว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายด้วยเช่นกัน
- แพทย์อาจให้ผู้ป่วยงดดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารใด ๆ หลังเที่ยงคืนของคืนก่อนหน้าวันผ่าตัด เพื่อป้องกันการอาเจียนหลังการใช้ยาสลบ ซึ่งการอาเจียนอาจทำให้อาหารที่อยู่ในช่องท้องสำลักเข้าสู่ปอดจนเกิดปัญหาการหายใจได้
การวางยาสลบ
ในวันผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะวางยาสลบผู้ป่วยด้วยวิธีการดังนี้
การฉีดยาสลบ วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาสลบให้ยาเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ป่วย
การดมยาสลบ ผู้ป่วยต้องสูดดมยาในรูปแบบก๊าซเข้าไปด้วยการหายใจผ่านหน้ากากครอบ
- หลังได้รับยาสลบเข้าสู่ร่างกาย ยาจะออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะเริ่มวิงเวียนศีรษะ รู้สึกง่วง และหมดสติไป หลังจากที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว แพทย์จึงจะเริ่มทำการผ่าตัด โดยในระหว่างที่แพทย์ทำการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะคอยอยู่ควบคุมอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลให้มั่นใจว่าให้ผู้ป่วยได้รับยาสลบอย่างต่อเนื่อง และจะไม่รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาในระหว่างการผ่าตัด โดยจะมีการวัดสัญญาณชีพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ และความดันโลหิตเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีความปลอดภัยในระหว่างได้รับยาสลบ
- นอกจากการให้ยาสลบในระหว่างที่ผ่าตัดแล้ว แพทย์จะฉีดยาแก้ปวดเข้าไปทางเส้นเลือดด้วย เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดจากการผ่าตัดหลังจากผู้ป่วยฟื้นตัวจากฤทธิ์ยาสลบ
การพักฟื้นจากฤทธิ์ของยาสลบ
- เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะหยุดให้ยาสลบ ผู้ป่วยจะถูกย้ายไปยังห้องพักฟื้นเพื่อเฝ้าดูอาการต่อไป โดยผู้ป่วยอาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นช่วงสั้น ๆ หรือเป็นระยะเวลานานหลายวัน ขึ้นอยู่กับสภาพอาการและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- เมื่อหยุดให้ยาสลบ ผู้ป่วยอาจรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาในห้องผ่าตัดหลังผ่าตัดเสร็จ หรือรู้สึกตัวในห้องพักฟื้นด้วยอาการสะลึมสะลือ อ่อนเพลีย ท้องไส้แปรปรวน หรืออาจมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ จนกว่ายาสลบจะหมดฤทธิ์ ในระหว่างนี้พยาบาลจะคอยดูแลอาการ และให้ผู้ป่วยรับประทานยารักษาผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
- ยาสลบอาจส่งผลกระทบต่อความจำ สมาธิ และปฏิกิริยาตอบสนองต่าง ๆ ของผู้ป่วยชั่วคราวภายใน 1-2 วัน ดังนั้น ผู้ป่วยควรมีผู้คอยดูแลอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรืออาการเจ็บป่วยที่เป็นอันตราย
- ในขณะพักฟื้นรักษาตัว ผู้ป่วยต้องรับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- เมื่อแพทย์มีความเห็นให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักดูอาการที่โรงพยาบาล และสามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำ คือ รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซักถามเมื่อมีข้อสงสัย และสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยที่รุนแรงแล้วปรึกษาหรือกลับมาพบแพทย์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือทำสัญญานิติกรรมใด ๆ เป็นเวลา 1-2 วัน หลังการผ่าตัด
ผลข้างเคียงจากยาสลบ
- หลังยาสลบเริ่มหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยจะกลับมารู้สึกตัวและรู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่ได้รับการผ่าตัด
- รู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- รู้สึกสับสนมึนงง หรือสูญเสียความทรงจำชั่วคราว แต่มีผู้ป่วยบางรายที่จะสูญเสียความทรงจำไปอย่างถาวร ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก
- รู้สึกป่วย วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในช่วงแรกที่ได้รับยาสลบ แต่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเป็นวันได้
- ตัวสั่น หรือรู้สึกหนาวสั่น อาจเกิดขึ้นชั่วขณะ ยาวนานหลายนาที ไปจนหลายชั่วโมง
- เกิดรอยช้ำและความเจ็บปวดบริเวณที่ถูกฉีดยา หากไม่มีอาการแพ้หรืออาการข้างเคียงอื่นใดที่เป็นอันตราย รอยช้ำและความเจ็บปวดนี้จะหายไปเมื่อเวลาผ่านไป
- เสียงแหบ คอแห้ง เจ็บคอ เนื่องจากระหว่างผ่าตัดอาจมีการสอดท่อช่วยหายใจผ่านทางปากเข้าไปในลำคอ
- ปากแห้ง หรือเกิดความเสียหายภายในช่องปากและฟัน เนื่องจากการสอดท่อช่วยหายใจในระหว่างทำการผ่าตัดเช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีแผล หรือกำลังรักษาช่องปากและฟัน ควรแจ้งให้วิสัญญีทราบเรื่องก่อนเสมอ
- ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ เช่น มีความยากลำบากในการปัสสาวะ
ภาวะแทรกซ้อนของยาสลบ
แม้การใช้ยาสลบจะมีผลข้างเคียง แต่มีผู้ป่วยน้อยรายมากที่จะเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายได้ โดยภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ
- ภาวะสับสนทางจิตใจ โดยอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว
- เกิดการบาดเจ็บที่ฟันหรือลิ้นจากการกระทบกระเทือนของท่อช่วยหายใจ
- เกิดความเสียหายบริเวณเส้นเสียงที่อยู่ภายในลำคอจากการใช้ท่อช่วยหายใจเช่นกัน ทำให้เกิดอาการเสียงแหบ และเจ็บคอ
- รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาในระหว่างแพทย์กำลังทำการผ่าตัด ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะวิสัญญีแพทย์จะคอยดูแลให้ยาสลบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ
- โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ผู้ป่วยจะมีอาการแพ้ยาสลบอย่างรุนแรง เช่น มีผื่น ตัวบวมหน้าบวม หอบ ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน
- ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หายใจติดขัด หายใจไม่ออก
- เสียชีวิต เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดแต่มีโอกาสเกิดน้อยมากเพียง 1 ใน 100,000-200,000 รายเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุมาจากภาวะแทรกซ้อนและการเจ็บป่วยอื่น เช่น การติดเชื้อในปอด ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน เป็นต้น
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายจากการใช้ยาสลบ
การใช้ยาสลบเป็นวิธีการที่ค่อนข้างปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง ดังนั้น โอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายหลังการใช้ยาสลบจึงขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล อาการป่วยที่เผชิญอยู่ และประเภทของการผ่าตัดมากกว่าการออกฤทธิ์ของยาสลบ
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสลบในผู้ป่วยที่มีสุขภาพดีมักจะปลอดภัยกว่าในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพและผู้ป่วยดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยสูงวัย
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- มีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
- ผู้ที่มีอาการแพ้ยา มีประวัติแพ้ยาสลบ หรือมีประวัติครอบครัวเคยแพ้ยาสลบ
- ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาที่อาจส่งผลให้มีภาวะเลือดออกเพิ่มขึ้น เช่น ยาแอสไพริน
- มีภาวะความดันโลหิตสูง
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- มีภาวะชัก
- มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
- ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคไต หรือโรคปอด