Prasugrel (พราซูเกรล)

Prasugrel (พราซูเกรล)

Prasugrel (พราซูเกรล) เป็นยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ออกฤทธิ์ยับยั้งเกล็ดเลือดจับตัวกัน ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด โดยใช้ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และอาจใช้ร่วมกับยาแอสไพรินเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ อย่างโรคหัวใจขาดเลือดที่ใช้ยาหลังจากได้รับการขยายหลอดเลือดแดง หรือใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Prasugrel มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

1709 Prasugrel resize

เกี่ยวกับยา Prasugrel

กลุ่มยา ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Prasugrel

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพรใด ๆ เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีความผิดปกติเกี่ยวกับเลือดอย่างโรคฮีโมฟีเลีย หรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร ลำไส้ และสมอง เป็นต้น รวมถึงหากมีลิ่มเลือดในสมอง เพิ่งได้รับการผ่าตัดหรือได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคตับ และมีแผลในกระเพาะอาหาร
  • ยานี้อาจทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร หากดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยต้องจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
  • ระหว่างที่ใช้ยาผู้ป่วยอาจมีเลือดออกได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ให้ระวังและหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บต่าง ๆ รวมทั้งใช้แปรงสีฟันขนนุ่มและใช้เครื่องโกนหนวดแทนชนิดที่มีความเสี่ยง แต่หากได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บและมีเลือดออกมาก ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้สูง
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียก่อนใช้ยาเสมอ

ปริมาณการใช้ยา Prasugrel

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลัน

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 60 มิลลิกรัม จากนั้นตามด้วยยาอีก 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลานาน 12 เดือน โดยใช้ร่วมกับยาแอสไพริน
  • ผู้สูงอายุ อายุ 75 ปีขึ้นไป รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม/วัน สำหรับควบคุมอาการ

การใช้ยา Prasugrel

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • รับประทานยา Prasugrel พร้อมหรือไม่พร้อมมื้ออาหารก็ได้ และไม่ตัดแบ่งหรือหักยาชนิดเม็ด
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้อาจต้องใช้ยาแอสไพรินตามที่แพทย์สั่งด้วย
  • ใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่งแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • ไม่ลืมรับประทานยา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา และใช้ยาในเวลาเดิมทุกวัน
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังใช้ยา
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น โดยเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการเก็บยาที่ถูกต้อง และวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Prasugrel

การใช้ยา Prasugrel อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน และเลือดกำเดาไหล เป็นต้น แต่หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือมีอาการแพ้ยา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง มีเม็ดพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • มีเลือดออกในร่างกาย อาจมีอาการบางอย่าง เช่น อาเจียนเป็นเลือดหรือเป็นสีน้ำตาลเข้ม ไอเป็นเลือด ปัสสาวะมีเลือดปน อุจจาระมีสีคล้ายน้ำมันดิน อุจจาระมีสีแดงหรือดำ มีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างผิดปกติ มีรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีเลือดออกมากหรือออกไม่หยุด เป็นต้น
  • กลุ่มอาการ Thrombotic Thrombocytopenic Purpura (TTP) หรือ Hemolytic Uremic Syndrome (HUS) ซึ่งอาจมีอาการบางอย่าง เช่น รู้สึกเหนื่อยมาก อ่อนแรง มีรอยช้ำ มีเลือดออก ปัสสาวะมีสีเข้ม ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนแปลง ตัวเหลืองตาเหลือง ผิวซีด การมองเห็นเปลี่ยนแปลง ร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก มีปัญหาในการพูดหรือคิด สมดุลร่างกายเปลี่ยนแปลงไป และมีไข้ เป็นต้น
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • เวียนศีรษะ หรือหมดสติ
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก
  • เกิดรอยเป็นจ้ำสีม่วงที่ผิวหนังหรือปาก

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน