Pectus Excavatum

ความหมาย Pectus Excavatum

Pectus Excavatum หรือภาวะอกบุ๋ม เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของกระดูกหน้าอกและซี่โครง ส่งผลให้บริเวณกลางอกยุบลงมากกว่าปกติ ถ้าอาการไม่รุนแรงมักไม่กระทบต่อการทำงานของระบบอื่นในร่างกาย แต่หากมีภาวะอกบุ๋มอย่างรุนแรงอาจทำให้การทำงานของปอดและหัวใจมีปัญหา เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อยครั้ง เป็นต้น 

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของ Pectus Excavatum ได้อย่างชัดเจน ส่วนมากมักพบในเด็กผู้ชายมากว่าเด็กผู้หญิง โดยอาการจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนต้น จึงทำให้ผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบต่อสภาพจิตใจเช่นกัน เนื่องจากสามารถสังเกตเห็นจากรูปร่างภายนอก

Pectus Excavatum

อาการของ Pectus Excavatum

ผู้ที่มีภาวะ Pectus Excavatum จะมีกระดูกกลางหน้าอกบุ๋มลึกเข้าไปมากกว่าปกติ โดยอาจจะบุ๋มลึกมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ในกรณีที่มีภาวะ Pectus Excavatum อย่างรุนแรงจะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและปอด เนื่องจากผู้ป่วยจะมีพื้นที่บริเวณหน้าอกน้อยกว่าปกติ ซึ่งกระดูกหน้าอกอาจกดทับปอดและหัวใจจนส่งผลให้ผู้ป่วยเหนื่อยง่าย ออกกำลังกายได้น้อยลง หัวใจเต้นเร็ว เสียงการเต้นหัวใจผิดปกติโดยเป็นเสียงฟู่ ๆ ใจสั่น ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อยครั้ง มีเสียงหวีดขณะหายใจ ไอ เจ็บหน้าอก มีอาการอ่อนเพลีย ดูอิดโรย 

นอกจากนี้ ภาวะดังกล่าวยังส่งผลถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วย เช่น สูญเสียความมั่นใจในตนเองและไม่กล้าทำกิจกรรมที่ต้องเปิดเผยร่างกาย รู้สึกอับอาย ความพึงพอใจในตนเองต่ำ หรือเป็นโรคซึมเศร้า เป็นต้น

สาเหตุของ Pectus Excavatum

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากพันธุกรรมในครอบครัว และยังพบภาวะ Pectus Excavatum ในผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อไปนี้

  • กลุ่มอาการโปแลนด์ (Poland Syndrome)
  • กลุ่มอาการนูแนน (Noonan Syndrome)
  • กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan Syndrome)
  • กลุ่มอาการเทอร์เนอร์
  • กระดูกสันหลังคด
  • โรคกระดูกอ่อนในเด็ก
  • โรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos Syndrome)
  • โรคกระดูกเปราะจากกรรมพันธุ์ (Osteogenesis Imperfecta)

อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุความเกี่ยวข้องของภาวะอกบุ๋มกับโรคที่กล่าวไปข้างต้นได้เช่นกัน

การวินิจฉัย Pectus Excavatum

แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ตรวจร่างกายเบื้องต้น และตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

  • เอกซเรย์บริเวณทรวงอก วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์เห็นภาพการยุบตัวของกระดูกหน้าอกและแสดงภาพหากหัวใจอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ 
  • วินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์ระบุความรุนแรงของการยุบตัวบริเวณกระดูกหน้าอก บางรายกระดูกหน้าอกอาจไปกดทับปอดหรือหัวใจ
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวัดจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
  • ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง ใช้หลักการส่งคลื่นเสียงผ่านทรวงอกแล้วแปลงคลื่นเสียงให้ปรากฏเป็นภาพบนจอ ซึ่งช่วยให้แพทย์เห็นถึงการทำงานของกล้ามเนื้อและลิ้นหัวใจ

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจอื่น ๆ เช่น ตรวจการทำงานของปอดเพื่อดูปริมาณอากาศที่ปอดสามารถกักเก็บได้และวัดความเร็วในการปล่อยลมของปอด หรือการทดสอบสมรรถภาพร่างกายเพื่อดูการทำงานของปอดและหัวใจขณะผู้ป่วยเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย

การรักษา Pectus Excavatum

ผู้ป่วยที่มีภาวะอกบุ๋มไม่รุนแรงอาจรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม แต่ในรายที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงหรือกระดูกเว้าลงลึก แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัด โดยสามารถแบ่งการผ่าตัดออกเป็นสองรูปแบบ คือ

การผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง

เป็นการผ่าตัดภายในโพรงเยื่อหุ้มปอดด้วยการใช้กล้องวิดีทัศน์ เพื่อจัดกระดูกให้ได้แนวที่ต้องการ โดยอาศัยการสอดแถบโลหะแทรกเข้าไประหว่างช่องว่างของกระดูกสันอกและเยื่อหุ้มหัวใจ เพื่อช่วยดันให้กระดูกหน้าอกยกตัวขึ้นมาอยู่ในระดับปกติ แต่ภายหลังการผ่าตัด 2-3 ปี แพทย์จะผ่าตัดนำโลหะดังกล่าวออกจากร่างกาย ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุ 14-21 ปี

การผ่าตัดใหญ่

เป็นการผ่าตัดเปิดบริเวณกลางหน้าอกเพื่อนำกระดูกอ่อนที่ขึ้นผิดรูปร่างที่เชื่อมอยู่กับซี่โครงใต้กระดูกหน้าอกออกก่อน จากนั้นจะจัดกระดูกหน้าอกให้อยู่ในระดับที่ถูกต้องและใส่แท่งโลหะดามกระดูกไว้ ซึ่งแท่งโลหะดังกล่าวจะถูกนำออกจากร่างกายของผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี

ภาวะแทรกซ้อนของ Pectus Excavatum

ผู้ป่วยที่มีภาวะ Pectus Excavatum รุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของปอดและหัวใจ เช่น ปอดไม่สามารถขยายได้อย่างเต็มที่ หรือความผิดปกติดังกล่าวอาจเบียดหัวใจจนเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม ส่งผลต่อการสูบฉีดเลือดในหัวใจ เป็นต้น หากเป็นผู้ป่วยเด็กก็อาจสูญเสียความมั่นใจ หลีกเลี่ยงหรือไม่กล้าทำกิจกรรมที่ต้องเปิดเผยสรีระของตนเอง อย่างการว่ายน้ำ 

การป้องกัน Pectus Excavatum

เนื่องจากเป็นความผิดปกติที่พบได้ตั้งแต่แรกเกิดและยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่หากสังเกตเห็นความผิดปกติบริเวณหน้าอกของบุตรหลานหรือมีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคที่มีอาการเกี่ยวข้องกับภาวะ Pectus Excavatum เช่น กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ โรคหนังยืดผิดปกติ หรือโรคกระดูกอ่อนในเด็ก ควรเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด