Methadone (เมทาโดน)

Methadone (เมทาโดน)

Methadone (เมทาโดน) เป็นยาโอปิออยด์หรือยาระงับอาการปวดที่ออกฤทธิ์ต่อสมองและไขสันหลัง ช่วยยับยั้งอาการเมาที่เกิดจากการใช้สารเสพติด เช่น เฮโรอีน รวมทั้งใช้ลดความอยากและอาการถอนยาเสพติด บำบัดผู้ที่ติดยา รักษากลุ่มอาการขาดยาในทารก รักษาการขาดสารโอปิออยด์ ระงับอาการปวด รักษาอาการไอเรื้อรังจากมะเร็งปอด และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Methadone มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

Methadone

เกี่ยวกับยา Methadone

กลุ่มยา ยาแก้ปวดกลุ่มยาโอปิออยด์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ระงับอาการปวด บำบัดอาการของผู้ติดสารเสพติด
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Methadone

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพรต่าง ๆ เพราะมียาหลายชนิดที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้ โดยเฉพาะยากระตุ้นประสาท ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคทางจิตเวช ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยารักษาโรคไมเกรน ยารักษาการติดเชื้อรุนแรง ยาป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียน ยาเสพติด ยาแก้ปวดโอปิออยด์ และยาแก้ไอที่แพทย์สั่ง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากเป็นโรคหัวใจ โรคความผิดปกติเกี่ยวกับจังหวะการเต้นของหัวใจ เป็นกลุ่มอาการคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (Long QT Syndrome) หรือมีคนในครอบครัวเป็นภาวะนี้ มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ โรคปอด ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ มีเนื้องอกในสมอง ชัก เป็นโรคทางจิตเวช โรคตับ โรคไต ติดสุราหรือยาเสพติด มีปัญหาในการปัสสาวะ มีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี ตับอ่อน ต่อมไทรอยด์ หรือกำลังใช้ยาระงับประสาท เช่น ยาไดอะซีแพม เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยา Methadone หากเป็นโรคหืดรุนแรง มีปัญหาในการหายใจ มีการอุดตันของกระเพาะอาหารหรือลำไส้
  • ควรใช้ยา Methadone ตามที่แพทยย์สั่งด้วยความระมัดระวัง เพราะการใช้ยาในทางที่ผิดอาจทำให้เกิดการเสพติดยา และหากใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต  
  • การใช้ยานี้พร้อมกับการดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม หรือยาที่ส่งผลให้การหายใจช้าลง อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • การใช้ยา Methadone อาจทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะพร้อมกับเจ็บหน้าอก เวียนศีรษะรุนแรง ใจสั่น หรือหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ให้ไปพบแพทย์ทันที
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการใช้งานเครื่องจักรที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้มีความบกพร่องทางความคิดและการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือทำให้มีอาการเวียนศีรษะและง่วงซึม ซึ่งเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานเกรปฟรุตและน้ำเกรปฟรุต เพราะอาจทำปฎิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียง
  • การใช้ยานี้ในระหว่างที่ตั้งครรภ์อาจทำให้เด็กมีอาการถอนยาเมื่อแรกเกิดและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตรห้ามใช้ยานี้ เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและส่งผลให้เด็กมีอาการง่วงซึม มีปัญหาในการหายใจ หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ปริมาณการใช้ยา Methadone

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ระงับอาการปวด
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 2.5-10 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

เด็ก รับประทานยาปริมาณ 0.7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน และปรับปริมาณการใช้ยาตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยอย่างระมัดระวัง

รักษากลุ่มอาการขาดยาในทารก
เด็ก รับประทานยาปริมาณ 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และเพิ่มปริมาณอีก 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6 ชั่วโมง จนกว่าอาการจะดีขึ้น หากใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรแบ่งรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง

รักษาอาการไอเรื้อรังจากมะเร็งปอด

ผู้ใหญ่ รับประทานยา 1-2 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือทุก 12 ชั่วโมง ในกรณีที่ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน

รักษาการเสพติดสารโอปิออยด์

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 20-30 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง อาจเพิ่มปริมาณยาอีก 5-10 มิลลิกรัม หากอาการถอนยาไม่หายไปหรือกลับมามีอาการ ในวันแรกที่ใช้ยาไม่ควรใช้ยาเกิน 40 มิลลิกรัม

จากนั้นคงปริมาณการใช้ยาที่ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานหลายครั้ง เป็นระยะเวลา 2 หรือ 3 วัน แล้วอาจค่อย ๆ ลดปริมาณยาทุก 1 หรือ 2 วัน โดยแพทย์จะปรับปริมาณยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อป้องกันอาการถอนยาและอยู่ในระดับที่ผู้ป่วยทนต่อยาได้

เด็ก ปริมาณการใช้ยาขึ้นอยู่กับความทนต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย และควรค่อย ๆ ลดปริมาณยาหลังจากใช้ยาในปริมาณสำหรับควบคุมอาการได้แล้ว
โดยควรลดปริมาณลงน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลา 10-14 วัน ที่มีการลดปริมาณยา

การใช้ยา Methadone

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ก่อนรับประทานยาชนิดสารละลายให้เขย่าขวดก่อนใช้ทุกครั้ง และควรวัดปริมาณยาด้วยช้อนหรือถ้วยตวงสำหรับยาโดยเฉพาะ
  • การใช้ยา Methadone ชนิดละลายในน้ำ ให้ละลายยาในน้ำสะอาดอย่างน้อย 4 ออนซ์ หรือประมาณ 120 มิลลิลิตร โดยปล่อยให้ยากระจายตัวในน้ำ ทั้งนี้ ยาจะไม่ละลายทั้งหมดแต่ให้ดื่มได้ทันที เมื่อดื่มหมดแล้วจึงเติมน้ำในแก้วเล็กน้อย ค่อย ๆ คนให้ยาที่เหลือละลายแล้วดื่มอีกครั้ง
  • ห้ามนำยา Methadone ชนิดเม็ดหรือชนิดน้ำมาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพราะการใช้ยาผิดวิธีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  • กรณีที่ใช้ยา Methadone เป็นส่วนหนึ่งของแผนการบำบัดการติดยาเสพติดหรือการขจัดสารพิษ แพทย์อาจแนะนำให้สมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยหรือผู้ดูแลเป็นผู้ให้ยา
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหัน ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • หากลืมใช้ยานี้ในกรณีที่ใช้เพื่อระงับอาการปวด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้และใช้ยามื้อถัดไปในอีก 8-12 ชั่วโมง ส่วนในกรณีที่ใช้ยาเพื่อรักษาการติดยาเสพติด หากลืมใช้ยาให้ใช้ยาในวันถัดไปตามเวลาปกติ แต่หากลืมใช้ยานานกว่า 3 วัน ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับปริมาณยา และห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ซึ่งอาจสังเกตจากอาการง่วงซึมอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อไม่มีแรง หายใจช้าหรือหัวใจเต้นช้าผิดปกติ ผิวเย็นและชื้น หรือเป็นลม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อนและความชื้น และพ้นจากสายตาผู้อื่น
  • ปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Methadone

การใช้ Methadone อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ง่วงซึม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีเหงื่อออกมาก เป็นต้น หากอาการดังกล่าวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Methadone ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม และคอบวม
  • อ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม
  • ท้องผูกรุนแรง
  • เวียนศีรษะ คล้ายจะหมดสติ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต อาจมีอาการ เช่น ปวดศีรษะพร้อมกับเจ็บหน้าอก เวียนศีรษะอย่างรุนแรง ใจสั่น หรือหัวใจเต้นเร็ว
  • ระดับคอร์ติซอลในร่างกายต่ำ อาจทำให้มีอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นต้น
  • กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin Syndrome) อาจทำให้เกิดอาการ เช่น กระสับกระส่าย หลอน มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย จังหวะหัวใจเต้นเร็ว เมื่อยกล้ามเนื้อ เสียการทรงตัว มีอาการกระตุก เป็นต้น
  • ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง ขาดสารอาหาร หรือร่างกายอ่อนแรง เสี่ยงมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจจากการใช้ยานี้
  • การใช้ยาโอปิออยด์ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะมีบุตรยากทั้งในเพศชายและเพศหญิง

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน