Lorazepam (ลอราซีแพม)
Lorazepam (ลอราซีแพม) เป็นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรควิตกกังวลหรือผู้ที่มีความวิตกกังวลจากระดับสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลกัน และยังมีผลทางการรักษาอาการอื่น อย่างอาการนอนไม่หลับอันเกิดจากความวิตกกังวล หรือช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลให้ผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษา เช่น ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำเคมีบำบัด
เกี่ยวกับ Lorazepam
กลุ่มยา | เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ช่วยคลายความวิตกกังวล |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
คำเตือนของการใช้ยา Lorazepam
- การใช้ยาลอราซีแพมอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ใช้ยาเกินขนาดและผิดวัตถุประสงค์ เพราะจะก่อให้เกิดการเสพติด หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
- ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น ไม่ซื้อยาใช้เองโดยปราศจากการดูแลของแพทย์ และห้ามใช้ยาร่วมกับบุคคลอื่น
- ผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดมุมปิด และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ควรใช้ยานี้
- ผู้ที่มีอาการแพ้กลุ่มยา Benzodiazepine ไม่ควรใช้ยานี้ เช่น ยานอนหลับและคลายกังวลอย่างไดอาซีแพม
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่ต้องให้นมบุตร หรือผู้หญิงที่วางแผนการมีบุตรห้ามใช้ยานี้ เพราะเสี่ยงต่อเด็กที่จะพิการแต่กำเนิด เสี่ยงต่ออาการขาดยาในเด็กที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และยาอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนม เป็นอันตรายต่อเด็กอ่อนได้
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในขณะที่ใช้ยา เพราะยาจะเพิ่มผลข้างเคียงจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์
- ยาอาจทำให้ง่วงซึม จึงไม่ควรขับขี่พาหนะในขณะที่ใช้ยา
ปริมาณการใช้ยา Lorazepam
การรักษาความวิตกกังวล หรือ ความวิตกกังวลที่เกี่ยวกับอาการซึมเศร้า (ยารับประทาน)
- เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป แรกรับยา วันละ 2-3 มิลลิกรัม ครั้งต่อไปวันละ 1-2 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้ใหญ่ แรกรับยา วันละ 2-3 มิลลิกรัม ครั้งต่อไปวันละ 1-2 มิลลิกรัม 2-3 ครั้ง/วัน ไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้สูงอายุ วันละ 1-2 มิลลิกรัม
ส่วนการใช้ Lorazepam ในทางรักษาโรคและอาการด้านอื่น ๆ เช่น การลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัด อาการนอนไม่หลับ ภาวะชักต่อเนื่อง แพทย์จะแนะนำยาในโดสที่เหมาะสมตามโรคและอาการนั้น ๆ โดยผู้ป่วยต้องไม่ใช้ยาเกินขนาดและใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
การใช้ยา Lorazepam
ยา Lorazepam ใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ไปจนถึงผู้ป่วยสูงอายุ โดยผู้ป่วยควรใช้ยาตามปริมาณที่แพทย์กำหนด ไม่ใช้ยาเกินขนาดหรือผิดวัตถุประสงค์ ควรปรึกษาแพทย์หากรู้สึกว่าการใช้ยาไม่ได้ผล ควรใช้ยาในช่วงสั้น ๆ ไม่ใช้ยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และไม่หยุดใช้ยาเองทันทีโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการขาดยา เช่น อาการชัก ควรเก็บยาให้พ้นจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด
ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบประวัติการป่วยและการรักษา เช่น หอบหืด โรคเกี่ยวกับการหายใจ ต้อหินชนิดมุมเปิด ชัก โรคลมชัก โรคเกี่ยวกับตับหรือไต อาการซึมเศร้า เคยฆ่าตัวตาย มีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตาย และประวัติการใช้ยา เช่น ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด การใช้สารเสพติดต่าง ๆ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Lorazepam
ผลข้างเคียงทั่วไปที่ไม่เป็นอันตรายหลังการใช้ Lorazepam ได้แก่
- เวียนหัว ง่วงซึม
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- รู้สึกคล้ายจะเป็นลม
- ขาดสมดุลในการสื่อสาร เช่น พูดจาเลอะเลือน สับสน
ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการเหล่านี้
- ง่วงซึมมาก ไม่รู้สึกตัว
- มีอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดปกติ
- รู้สึกกระสับกระส่ายหรือตื่นตัวขึ้นมาทันทีทันใด
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
- เปลือกตาหย่อน สายตาและการมองเห็นเปลี่ยนไป
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง กลืนอาหารลำบาก
- ปวดท้องบริเวณท่อนล่างของลำตัวลงไป ปัสสาวะมีสีเข้ม มีภาวะดีซ่าน
- มีความรู้สึกสับสน มีความก้าวร้าว หรือมีอาการประสาทหลอน
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง
และหากมีอาการแพ้ยาหลังใช้ Lorazepam เช่น มีผื่นขึ้น หน้า ปาก ลิ้น หรือคอ มีอาการบวม หายใจติดขัด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันทีเช่นกัน