Lincomycin (ลินโคมัยซิน)

Lincomycin (ลินโคมัยซิน)

Lincomycin (ลินโคมัยซิน) เป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์โดยกำจัดหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย อาจนำมารักษาผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียและแพ้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนนิซิลลิน ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยปริมาณการใช้ยาจะแตกต่างกันไปตามอายุหรืออาการของผู้ป่วยตามดุลยพินิจของแพทย์

Lincomycin

เกี่ยวกับยา Lincomycin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยา Lincomycin

บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง

  • ผู้ที่เคยแพ้ยา Lincomycin หรือแพ้ส่วนผสมของยานี้ รวมถึงยาคลินดามัยซิน ยาชนิดอื่น ๆ หรืออาหารใด ๆ และแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการแพ้ที่เคยเกิดขึ้นด้วย เช่น มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ไอ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงหวีด มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น
  • ผู้ที่ใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยาอิริโทรมัยซิน รวมถึงกำลังใช้วิตามิน สมุนไพร หรือยาชนิดอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยหากรับประทานร่วมกับยาชนิดนี้
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหืด โรคตับ โรคไต เป็นต้น
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ เนื่องจากแพทย์ต้องพิจารณาถึงข้อดีและข้อควรระวังของการใช้ยาสำหรับหญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่บอกได้ว่าการใช้ยาในช่วงให้นมบุตรนั้นปลอดภัยหรือไม่ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงข้อดีและข้อควรระวังของการใช้ยาก่อนเสมอ

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะคำและข้อควรระวังสำหรับผู้ที่ใช้ยา Lincomycin ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล รวมถึงเภสัชกรทราบก่อนรับการรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาชนิดใหม่ วิตามิน หรือยาสมุนไพรใด ๆ
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการตรวจเลือด ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยานี้เป็นเวลานาน
  • ห้ามใช้ยาเป็นเวลานานเกินกว่าที่แพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้ออื่นซ้ำได้
  • ผู้ป่วยที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง เพราะมีแนวโน้มที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้มากกว่าผู้ป่วยวัยอื่น ๆ

ปริมาณการใช้ยา Lincomycin

ยา Lincomycin มีปริมาณการใช้แตกต่างกันไปตามอายุของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีตัวอย่างการใช้ยาและรายละเอียด ดังนี้

ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ฉีดยาปริมาณ 10-20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

  • ผู้ใหญ่ หยดยาปริมาณ 0.6-1 กรัม ให้ยาเข้าสู่หลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง วันละ 2-3 ครั้ง สูงสุดไม่เกินวันละ 8 กรัม
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ฉีดยาปริมาณ 10-20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

การใช้ยา Lincomycin

  • ในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยา Lincomycin ในรูปแบบของยาฉีด ซึ่งจะฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อหรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ
  • แพทย์อาจสอนวิธีการฉีดยาด้วยตนเองที่บ้าน แต่ไม่ควรฉีดยาด้วยตนเองหากผู้ป่วยยังไม่เข้าใจขั้นตอนการฉีดยาอย่างถูกต้องชัดเจน
  • ห้ามใช้เข็มฉีดยาที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว และห้ามใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดความเสี่ยงของโรคติดต่อทางเลือด
  • หลังการใช้งานให้นำเข็มฉีดยาเก็บเข้าปลอกและควรเก็บเข็มฉีดยาให้พ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Lincomycin

ยา Lincomycin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป แต่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากอาการเหล่านั้นรบกวนการใช้ชีวิต หรืออาการไม่ดีขึ้นแม้เวลาผ่านไป เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย รู้สึกง่วงนอน หรือระคายเคืองในบริเวณที่ฉีดยา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน หากพบอาการรุนแรงอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • แพ้ยา ซึ่งอาจทำให้เกิดผื่นคัน หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก แน่นหน้าอกและลำคอ เสียงแหบผิดปกติ มีอาการบวมที่ลิ้น ริมฝีปาก ใบหน้า หรือลำคอ เป็นต้น
  • ระคายเคืองอย่างมากในบริเวณที่ฉีดยา
  • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ หรือไม่ปัสสาวะเลย
  • มีอาการดีซ่าน เช่น ผิวหรือตาเหลือง
  • หูอื้อ เจ็บคอ มีแผลร้อนในปาก เหงือกบวม หรือกลืนลำบาก
  • รู้สึกอ่อนเพลียหรือเหนื่อยมาก มีไข้ หนาวสั่น ผิวซีด ไอ
  • วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง หรือเป็นลมหมดสติ
  • ตกขาว หรือมีอาการคันที่อวัยวะเพศหญิง
  • ปวดเมื่อยตามข้อ รวมถึงเกิดแผลฟกช้ำ หรือมีเลือดออกง่ายผิดปกติ
  • กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens Johnson Syndrome) เป็นอาการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยผู้ป่วยอาจหายใจไม่ออก ผิวหนังบวม แดง ตกสะเก็ด หรือผิวลอก ซึ่งอาจเกิดขึ้นร่วมกับมีไข้ด้วยหรือไม่ก็ได้ ตาแดง ระคายเคืองตา เป็นแผลในตา ปาก จมูก หรือลำคอ
  • แม้จะพบได้น้อย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย อุจจาระเป็นเลือด หรือท้องเสียอย่างรุนแรงที่อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile) ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างการใช้ยาหรือหลังหยุดยาไปแล้ว 2-3 เดือน ซึ่งผู้ป่วยห้ามรับประทานยาแก้ท้องเสียหรือรักษาอาการดังกล่าวด้วยตนเองโดยปราศจากคำแนะนำของแพทย์ เพราะอาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงได้