โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Infectious Mononucleosis)

ความหมาย โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Infectious Mononucleosis)

Infectious Mononucleosis หรือ โรคโมโนนิวคลิโอซิส เป็นโรคที่เรียกกันว่า โรคติดต่อจากการจูบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus: EBV) ที่สามารถแพร่กระจายผ่านทางน้ำลาย การไอ หรือการจาม ในเบื้องต้นผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ และรู้สึกอ่อนเพลีย เมื่อเป็นแล้วมักจะค่อย ๆ หายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ โดยโรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ แต่ส่วนมากเกิดในวัยเด็กไปจนถึงวัยรุ่น  

1823 Infectious Mononucleosis rs

อาการของโรคโมโนนิวคลิโอซิส

โดยปกติแล้ว Infectious Mononucleosis จะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อไปแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเหนื่อยล้าอย่างรุนแรงต่อเนื่องกันหลายเดือน หรือมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ดังนี้

  • มีไข้
  • หนาวสั่น
  • เจ็บคอ
  • อ่อนเพลีย
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • ปวดศีรษะ
  • ทอนซิลบวมอักเสบ

โรค Infectious Mononucleosis ถือว่าเป็นโรคที่ไม่อันตราย อย่างไรก็ตาม หลังผ่านไป 1-2 วัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต ดีซ่าน มีผื่นขึ้นทั่วตัวและใบหน้า มีจุดสีแดงหรือมีลักษณะคล้ายอาการบวมช้ำภายในปากและเพดานปาก หรือปวดท้องบริเวณด้านซ้ายบนซึ่งเป็นผลมาจากม้ามโตขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ หากอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้  

  • ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วทั้งร่างกาย
  • ปวดศีรษะมาก และมีอาการปวดตึงต้นคอมากร่วมด้วย
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง

สาเหตุของโรคโมโนนิวคลิโอซิส

สาเหตุของโรค Infectious Mononucleosis ส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ แต่เชื้อไวรัสอื่น ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุของโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน โดยไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งอย่างน้ำลายจากการไอหรือจาม และการได้รับของเหลวอื่น ๆ จากร่างกายของผู้ติดเชื้อโดยตรง

นอกจากการจูบ กิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ เช่น การใช้ภาชนะต่าง ๆ อย่างหลอดน้ำหรือแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น การสัมผัสอย่างใกล้ชิดและการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ เป็นต้น โดยผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-30 ปี นักเรียน หรือผู้ที่มีอาชีพที่ต้องพบเจอผู้คนจำนวนมาก เช่น พยาบาล พนักงานบริการ เป็นต้น อาจมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อนี้มากขึ้น

การวินิจฉัยโรคโมโนนิวคลิโอซิส

ในเบื้องต้นแพทย์อาจสอบถามประวัติและอาการของผู้ป่วย รวมทั้งตรวจร่างกายโดยวัดไข้ ตรวจดูที่คอหอย ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้ และบริเวณขาหนีบ ว่ามีอาการบวมหรือผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

ตรวจเซลล์เม็ดเลือดขาวในเลือด

โดยเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยไปตรวจดูปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง หากเซลล์ดังกล่าวมีปริมาณมาก อาจบอกได้ว่ากำลังเกิดการติดเชื้อ

ตรวจหาภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อเชื้อเอบสไตบาร์

เป็นการตรวจสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ EBV โดยเฉพาะ สามารถตรวจพบเชื้อได้แม้ได้รับเชื้อมาเพียง 1 สัปดาห์

ตรวจภูมิคุ้มกันเฮทเทอร์โรไฟล์

เป็นการตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณของสารภูมิคุ้มกันบางชนิดในร่างกายว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติหรือไม่ แต่วิธีนี้ไม่สามารถระบุเจาะจงได้ว่าเป็นโรคนี้

การรักษาโรคโมโนนิวคลิโอซิส

โดยปกติแล้วภาวะ Infectious Mononucleosis มักมีอาการไม่รุนแรงและอาจค่อย ๆ หายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้านโดยเน้นรักษาดูแลอาการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นไข้หรือเจ็บคอด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอและบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เพื่อช่วยลดอาการไข้และเจ็บคอ รวมทั้งดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ

นอกจากนี้ อาจใช้ยาเพื่อรักษาอาการไข้หรือเจ็บคอได้ด้วยเช่นกัน เช่น พาราเซตามอลหรือไอบููโพรเฟน เป็นต้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินในเด็กและวัยรุ่น เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ และไม่ควรใช้ยาอะม็อกซีซิลลินหรือยาในกลุ่มเพนิซิลินชนิดอื่น ๆ เพราะอาจทำให้เกิดผื่นได้ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคโมโนนิวคลิโอซิส

โดยปกติแล้ว Infectious Mononucleosis นั้นเป็นโรคที่ไม่เป็นอันตรายนัก อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้เช่นกัน ดังนี้

  • โรคเกี่ยวกับตับ เช่น ดีซ่าน ตับอักเสบ เป็นต้น
  • โลหิตจาง มีผลทำให้เหนื่อยง่าย หากอาการรุนแรงก็อาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้
  • เกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะที่รุนแรงอย่างมีเลือดออกในสมองได้
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหอบเหนื่อยและหัวใจเต้นผิดปกติได้
  • ต่อมทอนซิลบวมโตมาก จนอาจทำให้มีปัญหาด้านการหายใจ
  • โรคเกี่ยวกับสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ และกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร เป็นต้น
  • ม้ามโตมากจนอาจทำให้ม้ามแตกและเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต โดยจะมีอาการปวดท้องอย่างมากบริเวณช่องท้องด้านซ้ายบน ซึ่งผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการลักษณะนี้

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเป็นผลทำให้อาการแทรกซ้อนนั้นรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ที่เป็นโรคเอดส์ หรือผู้ที่ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

การป้องกันโรคโมโนนิวคลิโอซิส

โรค Infectious Mononucleosis สามารถแพร่กระจายและติดเชื้อได้ง่าย จึงทำให้ยากที่จะป้องกัน แต่โดยทั่วไปอาจหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแทน เช่น หมั่นล้างมือให้สะอาด ไม่ใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น ส่วนผู้ที่ได้รับเชื้อแล้ว ควรใช้ผ้าปิดปาก เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายผ่านการไอหรือจามรดผู้อื่น และควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเป็นการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลรอบข้างด้วย