ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia)

ความหมาย ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia)

Hypokalemia คือ ภาวะที่มีโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ อาจทำให้ผู้ป่วยท้องผูก อ่อนล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อกระตุก ภาวะนี้อาจเกิดจากการอาเจียนอย่างหนัก ท้องเสียหลายครั้ง ใช้ยาขับปัสสาวะหรือยาระบายมากเกินไป ทำให้ไตขับโพแทสเซียมออกจากร่างกายมากเกินไป

Hypokalemia

โพแทสเซียม คือ แร่ธาตุอิเล็กโทรไลต์ที่มีส่วนในการส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ และโพแทสเซียมส่วนเกินจะถูกไตขับออกทางระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย ซึ่งระดับปกติของปริมาณโพแทสเซียมในเลือดอยู่ที่ 3.6-5.2 มิลลิโมล/ลิตร ส่วนผู้ป่วย Hypokalemia จะมีระดับโพแทสเซียมต่ำกว่า 3.5 มิลลิโมล/ลิตร

อาการของภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

ลักษณะและความรุนแรงของอาการ Hypokalemia ขึ้นอยู่กับระดับของโพแทสเซียมในเลือด หากโพแทสเซียมลดลงเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจยังไม่ปรากฏอาการใด ๆ หรืออาจมีอาการไม่รุนแรงนัก เช่น

หากระดับโพแทสเซียมในเลือดลดลงต่ำมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงขึ้น จนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น

  • หน้ามืด
  • เป็นลม
  • ภาวะลำไส้อืด
  • ภาวะหายใจล้มเหลว
  • สูญเสียเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ
  • เป็นอัมพาต 
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เช่น หัวใจห้องบนหรือห้องล่างเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
  • หัวใจหยุดเต้น เมื่อมีปริมาณโพแทสเซียมต่ำมากเกินไป

สาเหตุของภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

สาเหตุหลักของ Hypokalemia คือ การใช้ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมักใช้ในผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยโรคหัวใจ จนอาจทำให้ร่างกายสูญเสียโพแทสเซียมปริมาณมาก

นอกจากนี้ Hypokalemia อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น

  • อาเจียนหรือท้องเสียอย่างหนัก
  • ใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด
  • ใช้ยาระบายมากเกินไป หรือติดต่อกันนานเกินไป
  • ใช้ยาหอบหืดบางชนิด
  • เหงื่อออกมากเกินไป
  • ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
  • ระดับแมกนีเซียมต่ำ
  • ขาดกรดโฟลิก
  • โรคไตเรื้อรัง
  • ภาวะกรดในเลือดสูงจากเบาหวาน (Diabetic Ketoacidosis)
  • ภาวะอัลโดสเตอโรนสูงชนิดปฐมภูมิ (Primary Aldosteronism) ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจากความผิดปกติของฮอร์โมน
  • กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing's Syndrome) ซึ่งเกิดจากร่างกายมีฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) หรือคอร์ติซอล (Cortisol) มากกว่าปกติ
  • อาการป่วยอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการจิเทลแมน (Gitelman Syndrome) กลุ่มอาการลิดเดิล (Liddle Syndrome) กลุ่มอาการบาร์ตเตอร์ (Bartter Syndrome) กลุ่มอาการแฟนโคนี (Fanconi Syndrome) ซึ่งเป็นโรคความผิดปกติของไต แต่มีโอกาสเกิดโรคเหล่านี้ได้ไม่มากนัก

การวินิจฉัยภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะ Hypokalemia ด้วยการซักประวัติผู้ป่วย และสอบถามอาการที่ปรากฏร่วมกับการอาเจียนหรือท้องเสีย จากนั้น แพทย์จะตรวจร่างกาย และตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติของระดับโพแทสเซียม รวมทั้งแร่ธาตุอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น กลูโคส แมกนีเซียม แคลเซียม โซเดียม ฟอสฟอรัส ไทรอยด์ฮอร์โมน และอัลโดสเตอโรนฮอร์โมน เป็นต้น

หลังจากนั้น แพทย์อาจทำการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 
  • ตรวจปัสสาวะหาอัลโดสเตอโรน คอร์ติซอล โซเดียม และโพแทสเซียมใน 24 ชั่วโมง
  • ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ในผู้ป่วยที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

การรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

วิธีรักษา Hypokalemia คือ ลดการเสียโพแทสเซียม เสริมโพแทสเซียมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่เหมาะสม และหาสาเหตุของการป่วย เพื่อรักษาและป้องกันอาการป่วยได้อย่างถูกจุด ซึ่งการรักษาอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ Hypokalemia ด้วย หากอาการไม่รุนแรงมาก อาจรักษาได้โดยใช้โพแทสเซียมชนิดรับประทาน หรือบริโภคอาหารเสริมโพแทสเซียม โดยผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

บางกรณี แพทย์อาจต้องหยอดโพแทสเซียมเข้าทางหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยใช้อาหารเสริมโพแทสเซียมแล้วปริมาณโพแทสเซียมในเลือดไม่สูงขึ้น ระดับโพแทสเซียมของผู้ป่วยต่ำมากถึงขั้นวิกฤติ หรือระดับโพแทสเซียมของผู้ป่วยต่ำมากจนอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยภาวะ Hypokalemia อาจรักษาและป้องกันภาวะนี้ได้ด้วยการบริโภคอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น

  • ส้ม
  • กล้วย
  • มะเขือเทศ
  • แครอท
  • อะโวคาโด 
  • ผักโขม
  • รำข้าว
  • จมูกข้าวสาลี
  • สาหร่ายทะเล
  • เนยถั่ว
  • มันฝรั่งอบ
  • นม
  • ปลาแซลมอน
  • เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และปรุงสุก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ หากจะหยุดใช้ยาชนิดใด หรือจะใช้อาหารเสริมโพแทสเซียมด้วยตนเอง เนื่องจากผู้ป่วยอาจได้รับโพแทสเซียมในปริมาณมากเกินไป และเสี่ยงทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้นจนเป็นอันตรายได้

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

ผู้ป่วย Hypokalemia อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจ Hypokalemia ส่งผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจ หากไม่รักษาอาจเสี่ยงทำให้หัวใจหยุดเต้นและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ และอาจทำให้กล้ามเนื้อถูกทำลายได้
  • ภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร อาจเกิดภาวะลำไส้อืดรุนแรงได้ จากการลดอัตราการเคลื่อนไหวของลำไส้
  • ภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับการเผาผลาญอาหาร อาจส่งผลต่อการควบคุมระดับกลูโคสในร่างกาย จากการลดการหลั่งอินซูลิน และลดความไวของอวัยวะต่ออินซูลิน

ยิ่งไปกว่านั้น แม้อาการของ Hypokalemia จะไม่รุนแรงมากนัก แต่ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเคยหัวใจวายมาก่อน ดังนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรรักษาระดับโพแทสเซียมในเลือดให้อยู่ที่ 4 มิลลิโมล/ลิตร เสมอ

การป้องกันภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

วิธีการป้องกัน Hypokalemia มีดังนี้

  • ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากอาเจียนหรือท้องเสียติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่มีความเสี่่ยงในการเกิด Hypokalemia ควรบริโภคอาหารที่มีปริมาณโพแทสเซียมสูง เช่น มะเขือเทศ ส้ม และกล้วย เป็นต้น
  • หากกำลังใช้ยา หรือกำลังป่วยด้วยโรคที่อาจทำให้โพแทสเซียมในเลือดต่ำ ควรรักษาดูแลอาการอย่างสม่ำเสมอ ไปพบแพทย์ตามนัดหมาย และปรึกษาแพทย์เมื่อมีข้อสงสัย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะ Hypokalemia