Hydrocele

ความหมาย Hydrocele

Hydrocele หรือถุงน้ำในอัณฑะ เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในถุงอัณฑะ เนื่องจากถุงอัณฑะมีของเหลวตกค้างหลังการปิดถุง หรือถุงที่ล้อมรอบลูกอัณฑะปิดไม่สนิทจนทำให้ของเหลวจากท้องสามารถไหลเข้าไปสะสมในถุงอัณฑะ ส่งผลให้เกิดอาการบวมบริเวณถุงอัณฑะ รู้สึกอึดอัด และไม่สะดวกสบายในการใช้ชีวิต 

Hydrocele สามารถเกิดได้กับเพศชายทุกวัย แต่พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิด โดยอาการบวมที่เกิดขึ้นอาจหายไปเองภายในอายุ 1 ปี โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่บางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดนำของเหลวออกจากถุงอัณฑะ นอกจากนี้ Hydrocele จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรืออันตรายใด ๆ หากไม่เกิดการติดเชื้อ การอักเสบ หรือเกิดภาวะอื่น ๆ ร่วมด้วย

2534-Hydrocele

อาการของ Hydrocele

ถุงน้ำในถุงอัณฑะมีลักษณะเป็นก้อนนิ่มและนูนบวมในอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างโดยไม่ยุบหายไป แต่จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ยกเว้นเกิดการอักเสบ การติดเชื้อ หรือมีภาวะอื่น ๆ ร่วมด้วยอย่างภาวะลูกอัณฑะบิดขั้ว ในบางครั้งบริเวณที่มีอาการบวมอาจยุบลงในตอนเช้าและขยายใหญ่ขึ้นได้ในระหว่างวัน หากเป็นกรณีที่ Hydrocele เกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่อาจก่อให้เกิดความอึดอัดและไม่สะดวกสบาย เนื่องจากน้ำที่ถ่วงน้ำหนักในบริเวณถุงอัณฑะ 

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองหรือบุตรมีอาการบวมบริเวณถุงอัณฑะติดต่อกันเป็นเวลานาน ถุงอัณฑะมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือก่อให้เกิดความเจ็บปวด ควรพบไปแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เนื่องจากอาจเป็นอาการของโรคหรือภาวะอื่นที่มีความรุนแรง เช่น การติดเชื้อ ก้อนเนื้อ ภาวะไส้เลื่อนขาหนีบ แต่ควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการบวมและปวดอย่างรุนแรงบริเวณอัณฑะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะภายหลังการได้รับบาดเจ็บบริเวณอัณฑะภายในไม่กี่ชั่วโมง เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอัณฑะบิดขั้วที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน 

สาเหตุของ Hydrocele

Hydrocele ในเด็กเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่ทารกมีพัฒนาการในครรภ์มารดา ตามปกติแล้วร่างกายจะสร้างถุงน้ำหุ้มล้อมรอบลูกอัณฑะ หลังจากนั้นถุงอัณฑะจะปิดตัวและของเหลวดังกล่าวจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายในช่วง 1 ปีแรกหลังคลอด แต่เด็กที่มีภาวะ Hydrocele จะเกิดความผิดปกติภายในถุงอัณฑะ โดยแบ่งออกตามสาเหตุดังนี้ 

  • ถุงน้ำอัณฑะชนิดไม่ติดต่อกับช่องท้อง เป็นภาวะที่มีของเหลวค้างอยู่ในถุงอัณฑะหลังจากที่ถุงปิด แต่ของเหลวดังกล่าวไม่ถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย 
  • ถุงน้ำอัณฑะชนิดมีทางติดต่อกับช่องท้อง เกิดขึ้นเนื่องจากถุงน้ำที่ล้อมรอบลูกอัณฑะยังคงเปิดอยู่ ส่งผลให้ของเหลวสามารถเข้าและออกภายในถุงดังกล่าวได้ มักพบในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

สำหรับ Hydrocele ในวัยผู้ใหญ่มักมีสาเหตุจากถุงอัณฑะปิดตัวไม่สนิท โดยอาจเกิดจากการอักเสบที่ถุงอัณฑะ การได้รับบาดเจ็บบริเวณถุงอัณฑะ หรือการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ส่งผลให้ของเหลวบริเวณท้องสามารถไหลเข้าสู่ถุงอัณฑะได้ ส่วนมากมักพบในผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป  

การวินิจฉัย Hydrocele

แพทย์จะวินิจฉัยโดยสังเกตอาการ ตรวจร่างกายเบื้องต้น และตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การตรวจก้อนบวมบริเวณอัณฑะด้วยการคลำ การตรวจดูของเหลวสะสมภายในถุงอัณฑะด้วยการฉายไฟ การกดหน้าท้องพร้อมกับให้ผู้ป่วยไออกเพื่อแยกอาการออกจากโรคไส้เลื่อนขาหนีบ การตรวจเลือดหรือปัสสาวะเพื่อหาการติดเชื้อหรืออาการอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ถุงอัณฑะบวม การตรวจด้วยภาพถ่ายรังสีอย่างอัลตราซาวด์ เป็นต้น

การรักษา Hydrocele

โดยทั่วไป Hydrocele ในเด็กอาจหายไปเองภายในเวลาประมาณ 1 ปี และในผู้ใหญ่มักจะหายไปเองภายในเวลาประมาณ 6 เดือน แต่ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นเอง ถุงอัณฑะบวมมากขึ้นจนส่งผลต่อการใช้ชีวิต หรือมีภาวะถุงน้ำในอัณฑะชนิดมีทางติดต่อกับช่องท้องจนอาจทำให้มีอาการของโรคไส้เลื่อน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการผ่าตัด โดยจะฉีดยาชาและผ่าบริเวณช่องท้องหรือถุงอัณฑะเพื่อระบายของเหลวออกจากถุงอัณฑะ

การผ่าตัดเพื่อรักษา Hydrocele จะเป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกันหลังการผ่าตัด แต่บางรายอาจจำเป็นต้องนอนที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 2-3 วัน เนื่องจากต้องใส่ท่อระบายของเหลว รวมถึงการผ่าตัดในเด็กที่จำเป็นจะต้องใช้วิธีการดมยาสลบและพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1-2 วัน 

นอกจากนี้ แพทย์อาจเลือกใช้เข็มฉีดยาดูดของเหลวออกมาจากถุงน้ำแทนการผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่อาจจะการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด และบางรายอาจต้องฉีดยาเพื่อป้องกันของเหลวเข้าสู่ถุงน้ำซ้ำ โดยหลังการรักษาผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณถุงอัณฑะชั่วคราวหรือแผลอาจเกิดการติดเชื้อได้หากรักษาความสะอาดอย่างไม่เหมาะสม

ภาวะแทรกซ้อนของ Hydrocele

Hydrocele จะไม่ส่งผลกระทบต่อการมีบุตร แต่อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ถุงอัณฑะขยายใหญ่ขึ้น การติดเชื้อหรือเนื้องอกที่อาจส่งผลต่อการผลิตและการทำงานของอสุจิ ภาวะอัณฑะบิดขั้ว และโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบที่อาจเป็นอันตรายจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต 

การป้องกัน Hydrocele

การป้องกันถุงอัณฑะได้รับบาดเจ็บจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันและการเล่นกีฬาอาจช่วยลดโอกาสในการเกิด Hydrocele รวมทั้งควรสังเกตความผิดปกติในร่างกายอยู่เสมอ หากพบว่าบริเวณถุงอัณฑะมีอาการบวมหรือเกิดความผิดปกติขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย รักษา และป้องกันภาวะอาการรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต