Haloperidol (ฮาโลเพอริดอล)

Haloperidol (ฮาโลเพอริดอล)

Haloperidol (ฮาโลเพอริดอล) เป็นยาที่นำมาใช้รักษาโรคทางจิตหรืออารมณ์ เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคจิตอารมณ์ (Schizoaffective Disorder) และกลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome) เป็นต้น โดยยาจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกกังวลน้อยลง สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมไปถึงอาจช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายสำหรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะทำร้ายตัวเอง ช่วยลดความก้าวร้าว ความอยากทำร้ายผู้อื่น ความคิดในแง่ลบ และอาการหลอน 

Haloperidol

อย่างไรก็ตาม ยานี้มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ การใช้ยาจึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Haloperidol

กลุ่มยา ยาระงับอาการทางจิต
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาอาการทางจิต
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด

 

คำเตือนในการใช้ยา Haloperidol

  • ก่อนใช้ยานี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากมีประวัติแพ้ยา รวมถึงประวัติอาการแพ้อื่น ๆ เพราะยานี้อาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดการแพ้ยา หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้
  • ก่อนใช้ยานี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่รุนแรงบางชนิด โรคพาร์กินสัน
  • ก่อนใช้ยานี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากมีประวัติเป็นโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคไบโพลาร์ ต้อหิน หลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ ปัสสาวะลำบาก ชัก หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ยานี้อาจส่งผลกระทบต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือกลุ่มอาการหัวใจเต้นผิดปกติ (QT Prolongation) อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ เวียนศีรษะรุนแรง เป็นลม หรืออาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ (แต่จะพบได้น้อยมาก) หากพบว่าเกิดอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือง่วงซึม ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยานี้ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย รวมไปถึงควรจำกัดปริมาณในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่
  • ยานี้อาจทำให้เหงื่อออกน้อยลง ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคลมแดดได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือการออกกำลังกายในสภาพอากาศที่ร้อนจัด
  • ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ จึงควรระมัดระวังในการใช้ยาเป็นพิเศษ
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะทารกที่เกิดจากแม่ผู้กำลังใช้ยานี้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงเกิดอาการ เช่น เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อลำบาก สั่น ง่วงซึม หายใจหรือรับประทานอาหารลำบาก ร้องไห้อย่างต่อเนื่อง แม้จะพบได้น้อย แต่หากเด็กมีอาการใดอาการหนึ่งข้างต้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนแรกหลังคลอด ควรรีบแจ้งแพทย์ทันที
  • ไม่ควรหยุดใช้ยานี้หากแพทย์ไม่ได้กำหนด เพราะโรคทางจิตและอารมณ์ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดภาวะอาการป่วยที่รุนแรงตามมาได้
  • หากเป็นผู้ที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือคิดว่าอาจกำลังตั้งครรภ์อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากยานี้ก่อนใช้ยาเสมอ
  • ยานี้อาจผ่านเข้าสู่น้ำนมมารดาแล้วส่งผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อทารกได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตรเสมอ
  • ยาหรือผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้ เช่น ยาคาร์บามาซีปีน ยาไรแฟมพิซิน ยากดประสาท ยาโคลซาปีน และยาคลอร์โปรมาซีน

ปริมาณการใช้ยา Haloperidol

คลื่นไส้และอาเจียน

ผู้ใหญ่ ฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ ปริมาณ 0.5-2 มิลลิกรัม/วัน สำหรับการรักษาแบบประคับประคอง รับประทานยา 1.5 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง หรือให้ยาปริมาณ 2.5-10 มิลลิกรัม หลังผ่านไป 24 ชั่วโมง โดยให้ยาทางใต้ผิวหนัง ผ่านการฉีดยาอย่างต่อเนื่อง

โรคจิตเฉียบพลัน

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือด ปริมาณตั้งแต่ 2-10 มิลลิกรัม อาจให้ยาทุกชั่วโมง หรือหยุดพักเป็นช่วง ๆ ทุก 4-8 ชั่วโมง จนกว่าอาการจะดีขึ้น ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 18 มิลลิกรัม/วัน หรือสำหรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน อาจให้ยาได้สูงสุดถึง 18 มิลลิกรัม โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดหรือกล้ามเนื้อ

อาการกระวนกระวายและสับสน

ผู้ใหญ่ รับประทานยา 1-3 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง หรือฉีดใต้ผิวหนัง 5-15 มิลลิกรัม ภายใน 24 ชั่วโมง

โรคจิต (Psychosis)

ผู้ใหญ่ รับประทานยา 0.5-5 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง อาจเพิ่มปริมาณถึง 100 มิลลิกรัม/วัน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือดื้อยา ให้ใช้ยาอย่างต่อเนื่อง 3-10 มิลลิกรัม/วัน

เด็ก เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เริ่มต้นให้ยา 25-50 ไมโครกรัม/วัน แบ่งรับประทาน 2 มื้อ ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาหากจำเป็น ขนาดสูงสุด 10 มิลลิกรัม/วัน

กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome) หรือโรคติกส์ (Tics Disorder) ที่รุนแรง

ผู้ใหญ่ ให้ยาเริ่มต้น 0.5-1.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง สำหรับกลุ่มอาการทูเร็ตต์ อาจเพิ่มยาถึง 30 มิลลิกรัม/วัน โดยค่อย ๆ ปรับปริมาณยาอย่างระมัดระวัง และให้ยาอย่างต่อเนื่อง 4 มิลลิกรัม/ต่อวัน

วิตกกังวลอย่างรุนแรง หรือมีพฤติกรรมผิดปกติ

ผู้ใหญ่ รับประทานยา 0.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

อาการสะอึกแบบรุนแรง (Intractable Hiccup)

ผู้ใหญ่ รับประทานยา 1.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง อาจมีการปรับปริมาณยาตามการตอบสนอง

*ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การใช้ยา Haloperidol

  • ควรใช้ยาตามฉลากหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณที่มากกว่าหรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์กำหนด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ยาฮาโลเพอริดอลชนิดยาฉีด โดยปกติจะฉีดยาที่สถานพยาบาล หากผู้ป่วยต้องการฉีดยาเองที่บ้าน ต้องมีการสอนวิธีใช้ก่อน ซึ่งผู้ป่วยควรทำความเข้าใจวิธีใช้และปฏิบัติตามขั้นตอนที่แพทย์หรือผู้ให้บริการทางการแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
  • ไม่ควรใช้ยาหากพบสิ่งผิดปกติ เช่น ยามีสีขุ่น สีเปลี่ยนแปลงไป ยาแตกหรือหัก
  • ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในครั้งต่อไป และไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น และความร้อน หากยาหมดอายุให้ทิ้งยาทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Haloperidol

การใช้ยาอาจมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยดังต่อไปนี้ ซึ่งหากมีอาการอต่อเนื่อง หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์

  • ท้องผูก
  • ท้องเสีย
  • เวียนศีรษะ
  • ง่วงซึม
  • ปากแห้ง
  • ปวดศีรษะ
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้
  • กระสับกระส่าย
  • ปวดท้อง
  • มีปัญหาในการนอนหลับ

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้รุนแรง ได้แก่ ลมพิษ ผื่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ปากบวม ริมฝีปากบวม หน้าหรือลิ้นบวม
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป หรือเห็นภาพไม่ชัด
  • เจ็บหน้าอก
  • สับสน
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม ปัสสาวะน้อยลง หรือปัสสาวะลำบาก
  • ความต้องการทางเพศลดน้อยลง
  • เกิดภาวะขาดน้ำ
  • กลืนหรือพูดลำบาก
  • น้ำลายไหลย้อย
  • หน้าอกขยายใหญ่
  • มีเหงื่อออกมากหรือผิดปกติ
  • เป็นลม
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดปกติ
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • เจ็บคออย่างต่อเนื่อง
  • ประสาทหลอน
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและอารมณ์ เช่น มีความคิดที่ผิดปกติ วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น
  • ประจำเดือนไม่มา หรือมีการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ เกี่ยวกับประจำเดือน
  • มีสารคัดหลั่งออกมาจากหัวนม
  • อวัยวะเพศแข็งตัวเป็นเวลานาน หรือรู้สึกเจ็บปวด
  • กล้ามเนื้อแข็งหรือเกร็ง
  • ชัก
  • เวียนศีรษะรุนแรง หรือติดต่อกันยาวนาน
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • อาเจียน
  • หายใจไม่อิ่ม หรือไอผิดปกติ
  • เดินขาลาก
  • ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้
  • ตาเหลืองตัวเหลือง

นอกจากนี้ อาจมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากผู้ป่วยพบความผิดปกติใด ๆ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที