Gentamicin (เจนตามัยซิน)

Gentamicin (เจนตามัยซิน)

Gentamicin (เจนตามัยซิน) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มักใช้ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรง ทั้งการติดเชื้อที่ดวงตา หู ผิวหนัง หรือทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น การใช้ยาอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของไตและการได้ยิน ดังนั้น ควรปรึกษาและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงเงื่อนไขของผู้ป่วย รวมถึงประวัติทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา

Gentamicin

เกี่ยวกับ Gentamicin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาหยอดตา ขี้ผึ้ง ยาหยอดหู ยาฉีด และครีมทาภายนอก

คำเตือนในการใช้ยา Gentamicin

การใช้ยา Gentamicin ควรปรึกษาและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงเงื่อนไขของผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาก่อนการใช้ยาทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่แพ้ยา Gentamicin หรือยาปฏิชีวนะอื่น ๆ ที่คล้ายกัน เช่น อะมิคาซิน (Amikacin) กานามัยซิน (Kanamycin) นีโอมัยซิน (Neomycin) พาโรโมมัยซิน (Paromomycin) สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) โทบรามัยซิน (Tobramycin) เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคไต
  • ผู้ป่วยโรคหอบหืด หรือผู้ที่มีอาการแพ้ซัลไฟต์
  • ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง 
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน 
  • ผู้ที่มีระดับเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะขาดน้ำ 
  • ผู้ที่วางแผนเข้ารับการผ่าตัด
  • ผู้ที่มีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นเลือด
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะยาอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารก
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ายาจะถูกขับออกผ่านน้ำนมแม่ไปสู่ทารกได้หรือไม่

ปริมาณการใช้ยา Gentamicin

ยา Gentamicin มีขนาดและปริมาณการใช้ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอายุหรืออาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีตัวอย่างปริมาณการใช้ยาและรายละเอียดดังนี้

  • การติดเชื้อที่ตา
    • เด็กและผู้ใหญ่ ใช้ยาความเข้มข้น 0.3% หยอดตาข้างที่ติดเชื้อ 1-2 หยด ไม่เกินวันละ 6 ครั้ง หากมีการติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจปรับเปลี่ยนขนาดยา โดยช่วงแรกหยอด 1-2 หยดทุก ๆ 15 นาที ถ้าควบคุมอาการได้แล้วจึงค่อย ๆ ลดความถี่ของการหยอดยาลง หรือใช้ยาชนิดขี้ผึ้งความเข้มข้น 0.3% ในปริมาณเล็กน้อยป้ายที่บริเวณเยื่อตาขาววันละ 2-3 ครั้ง
  • หูชั้นนอกอักเสบ
    • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ใช้ยาความเข้มข้น 0.3% หยอดหูข้างที่ติดเชื้อ 2-3 หยด วันละ 3-4 ครั้ง
  • การติดเชื้ออย่างรุนแรง
    • ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อ ที่ขนาด 3-5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7-10 วัน หรือฉีดทางหลอดเลือดดำช้า ๆ อย่างน้อย 2-3 นาที หรือหยดยาทางหลอดเลือดดำไม่เกิน 20-30 นาที
    • เด็ก ฉีดยาขนาด 3-7.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งเป็นวันละ 3 เวลา
  • ผิวหนังอักเสบ หรือการติดเชื้อทางผิวหนังอื่น ๆ
    • เด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ทำความสะอาดผิวหนังให้เรียบร้อยแล้วใช้ครีมหรือขี้ผึ้งความเข้มข้น 0.1% ทาบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อวันละ 3-4 ครั้ง

การใช้ยา Gentamicin

  • ควรอ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยา
  • ชนิดยาหยอดตาควรเขย่าก่อนใช้ทุกครั้งและเว้นระยะเวลาประมาณ 5 นาทีก่อนหยดยาหยดถัดไป หากเป็นชนิดขี้ผึ้งป้ายตาควรถือไว้ในมือสักพักเพื่อให้ขี้ผึ้งอ่อนตัวและง่ายต่อการใช้งาน จากนั้นป้ายยาที่บริเวณเปลือกตาล่าง หลับตาและกลอกตาไปมาประมาณ 1-2 นาที และเว้นระยะเวลาประมาณ 10 นาทีก่อนป้ายยาครั้งถัดไป รวมถึงไม่ควรสัมผัสที่ปากขวดยาหรือปลายหลอดยาเพราะยาอาจปกเปื้อนและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตาได้
  • ควรล้างมือและผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง อาจใช้ผ้าพันแผลร่วมด้วยก็ได้ และหลังทายาเสร็จควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  • ควรดื่มน้ำมาก ๆ ในขณะใช้ยา เพื่อให้ตับทำงานได้ตามปกติ
  • ควรเก็บยาฉีดไว้ที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส ยาชนิดครีมหรือขี้ผึ้งควรเก็บที่อุณหภูมิ 2-30 องศาเซลเซียส ยาหยอดหูและยาหยอดตาควรเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงโดยตรง
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้สามารถใช้ได้ทันที แต่ถ้าใกล้กับกำหนดเวลาใช้ยารอบในถัดไป ให้ใช้ยาในเวลาตามรอบและขนาดตามปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนยาที่ขาดหายไป

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Gentamicin

ยา Gentamicin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงขณะใช้ยาได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง วิงเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม มีผื่นคันตามผิวหนัง รู้สึกปวดบริเวณที่ฉีดยา ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน ปวดข้อ เป็นต้น

ควรหยุดใช้ยา และรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • อาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันตามผิวหนัง หายใจลำบาก มีอาการบวมที่บริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ
  • สูญเสียการได้ยิน หรือมีเสียงดังในหู
  • วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง
  • หายใจแผ่ว หรือหายใจหอบ
  • รู้สึกชา หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตามผิวหนัง
  • กล้ามเนื้อกระตุก หรือหดเกร็ง
  • มีอาการชัก
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นเลือด
  • มีไข้ มีแผลในปาก เหงือกแดงหรือบวม กลืนลำบาก
  • อาการที่บ่งบอกว่าไตมีปัญหา เช่น ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะไม่ค่อยออก รู้สึกเจ็บในขณะปัสสาวะ เท้าหรือข้อบวม รู้สึกเหนื่อยขณะหายใจ หรือหายใจหอบ
  • อาการที่บ่งบอกว่าระดับเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล เช่น รู้สึกสับสน อ่อนเพลีย ปวดกระดูก ปัสสาวะมากกว่าเดิม
  • อาการที่บ่งบอกว่าความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มสูงขึ้น เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีเสียงดังในหู วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น รู้สึกปวดที่ด้านหลังของดวงตา