Digital Empathy ความเห็นอกเห็นใจในโลกออนไลน์ที่สร้างได้

Digital Empathy หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเราทางดิจิทัล หมายถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยนึกถึงผู้อื่น ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคายในการว่าร้าย ใส่ความ หรือใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการคุกคามหรือกลั่นแกล้งผู้อื่น

การสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ทำให้คนจำนวนมากได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้สึกกันอย่างสะดวกสบายมากขึ้น แต่หลายคนอาจลืมนึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น เพราะการแสดงความคิดเห็นผ่านหน้าจอทำให้เราไม่เห็นสีหน้า แววตา และน้ำเสียงของผู้อื่นเหมือนในชีวิตจริง จึงกล้าแสดงความรู้สึกโดยไม่ได้ยั้งคิด บทความนี้จะชวนทุกคนมาทำความรู้จัก Digital Empathy เพื่อช่วยกันสร้างสังคมออนไลน์ที่น่าอยู่ไปด้วยกัน

Digital Empathy ความเห็นอกเห็นใจในโลกออนไลน์ที่สร้างได้

Digital Empathy สำคัญอย่างไร

ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) เป็นการเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น โดยจินตนาการว่าเราอยู่ในจุดที่ผู้อื่นอยู่และไม่นำความคิดของตัวเองมาเป็นจุดศูนย์กลาง คนที่มีความเห็นอกเห็นใจจะคำนึงถึงผู้อื่นอยู่เสมอ และคอยระวังการกระทำของตัวเองไม่ให้สร้างความเดือดร้อนแก่คนรอบข้าง 

การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะในชีวิตจริงเท่านั้น สำหรับโลกออนไลน์ Digital Empathy ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะโลกออนไลน์เป็นเสมือนชุมชนขนาดใหญ่ แม้ว่าเราจะไม่เห็นหน้าและไม่รู้จักคนที่เราพูดคุยด้วย แต่เราสามารถเคารพมุมมอง ความคิด และความรู้สึกของเขาได้ และหากพบคนที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากผู้อื่นก็จะไม่นิ่งเฉยและหาทางช่วยเหลือ

การขาด Digital Empathy พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น เพราะเป็นช่วงวัยที่ยังขาดทักษะในการสื่อสาร มีวุฒิภาวะไม่เพียงพอ และมีความคึกคะนอง จึงอาจแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมต่อผู้อื่น แต่วัยผู้ใหญ่ก็สามารถพบได้เช่นกันหากบุคคลนั้นขาดวิจารณญาณและความยั้งคิด ซึ่งการขาด Digital Empathy อาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น

  • การเผยแพร่ข้อมูลเท็จและข่าวปลอม (Fake News) เช่น โพสต์ข้อมูลเสียดสีหรือล้อเลียนผู้อื่น สร้างข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดโดยเชื่อมโยงเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แอบอ้างชื่อบุคคลหรือองค์กรเพื่อดัดแปลงข้อมูล ตัดต่อ และกุเรื่อง ทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด
  • การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) เช่น การใช้คำหยาบคายคุกคาม ข่มขู่ ดูหมิ่นผู้อื่น การกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง ใช้ความรุนแรง หรือทำผิดกฎหมาย การเหยียดเชื้อชาติ เพศ และสีผิว การใช้ข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอประจานให้อับอาย การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่นและสร้างบัญชีปลอม การล่อลวง และการเกาะติดชีวิตออนไลน์ของผู้อื่น (Cyber Stalking)

บางครั้งการกระทำเหล่านี้อาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่เจตนา เช่น การพิมพ์บ่นลอย ๆ แต่เป็นข้อความที่ส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้ง การพูดซ้ำเรื่องที่จะทำให้เกิดประเด็น หรือแม้แต่การแชร์ข้อความที่มีความรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพจิตใจและร่างกายของคนใดคนหนึ่ง เช่น การเห็นคุณค่าในตัวเองลดลง (Low Self-Esteem) ซึมเศร้า วิตกกังวล การเรียนและการทำงานแย่ลง หรืออาจส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

ฝึกฝน Digital Empathy ได้อย่างไร

ความเห็นอกเห็นใจเป็นทักษะที่ฝึกฝนได้ โดยปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนที่เราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา นึกไว้เสมอว่าไม่มีใครชอบให้คนอื่นทำไม่ดีกับตนเอง เราจึงต้องทำดีต่อผู้อื่นด้วย ซึ่งวิธีการสร้าง Digital Empathy สามารถทำได้หลายวิธี เช่น 

  • เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ไม่โพสต์หรือแท็กรูปของผู้อื่นก่อนได้รับการอนุญาต โดยเฉพาะภาพที่อาจทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย
  • ไม่บุกรุกหรือเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต 
  • ไม่ส่งข้อความไร้สาระหรือไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา (Flood) ในช่องทางสาธารณะที่รบกวนผู้ใช้งานคนอื่น 
  • ไม่ใช้ภาษาหยาบคาย ข่มขู่หรือคุกคามผู้อื่น ไม่ส่งข้อความหรือภาพลามกอนาจารให้ผู้อื่น
  • ไม่สร้างข้อมูลเท็จ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับก่อนเสมอ และไม่ส่งต่อข้อมูลที่ไม่ทราบที่มาชัดเจน 
  • อ่านทวนหลาย ๆ รอบก่อนกดโพสต์ และระมัดระวังการโพสต์รหัสผ่าน ข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอส่วนตัวลงในสื่อโซเชียล เพราะแม้จะลบทิ้งแล้วแต่เมื่อเผยแพร่สู่สาธารณะอาจมีคนบันทึก (Save) ข้อมูลเก็บไว้ และอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต 
  • การกระทำบางอย่างด้วยความไม่ตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การล็อกอินบัญชีของเพื่อนเพื่อโพสต์ข้อความหรือรูปภาพกลั่นแกล้ง การตัดต่อภาพแล้วนำไปโพสต์ให้เสียหาย ถือเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ศ. 2560)
  • ยอมรับและเคารพความแตกต่างทางความคิดเห็น เพศ และเชื้อชาติ โลกออนไลน์เป็นสถานที่รวมผู้คนมากมายจากทั่วโลก แต่ละคนมีลักษณะภายนอกและมุมมองความคิดที่ต่างกัน เราควรให้เกียรติและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
  • สอนให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความรู้สึกของคนอื่นทั้งในชีวิตจริงและในโลกออนไลน์ได้ดีขึ้น
  • ไม่ตอบโต้การกลั่นแกล้งหรือระรานกลับด้วยวิธีการเดียวกัน เพราะจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น ให้บล็อก (Block) แทนเพื่อไม่ให้ผู้ที่ระรานสามารถติดต่อ โพสต์ หรือกลั่นแกล้งได้อีก
  • เมื่อถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ควรบอกบุคคลที่ไว้ใจเพื่อขอความช่วยเหลือ ในกรณีที่ถูกข่มขู่คุกคาม หรือแอบอ้างตัวตน ให้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้กระทำและเหตุการณ์เพื่อแจ้งความดำเนินคดี

Digital Empathy เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ควรตระหนักเช่นเดียวกับการการสื่อสารในชีวิตจริง การสื่อสารอย่างมีมารยาทและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะช่วยรักษาบรรยากาศที่ดีในสังคมออนไลน์ และป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งและคุกคามที่ส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน หากเกิดความเครียดหรือวิตกกังวลที่ไม่สามารถรับมือได้เอง ควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม