โรคหลงผิด (Delusional Disorder)

ความหมาย โรคหลงผิด (Delusional Disorder)

Delusional Disorder หรือโรคหลงผิด เป็นภาวะทางจิตที่ร้ายแรง โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลงผิดไปจากความเป็นจริงเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักดูเป็นปกติและไม่มีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด มีเพียงความเข้าใจผิดในบางเรื่อง เช่น เชื่อว่ากำลังถูกปองร้าย เชื่อว่าคนรักนอกใจ เชื่อว่าบุคคลอื่นเป็นคู่รักของตน เป็นต้น ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ฉุนเฉียวหรือมีพฤติกรรมรุนแรง โดยภาวะนี้มักเกิดขึ้นในช่วงวัยกลางคนถึงบั้นปลายชีวิต เป็นภาวะที่พบได้น้อยและพบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่อาจพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเพียงเล็กน้อย

1915 Delusional Disorder rs

อาการของโรคหลงผิด

ผู้ป่วย Delusional Disorder ส่วนใหญ่มักดูปกติและไม่มีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด มีเพียงความเข้าใจผิดในบางเรื่องเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน ซึ่งความเข้าใจผิดนี้อาจเป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง หรืออาจเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกหงุดหงิด โกรธ หรือเบื่อหน่าย เป็นต้น บางกรณีอาจมีอาการประสาทหลอนด้านการได้ยิน การมองเห็น การได้กลิ่น หรือรู้สึกถึงบางสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงร่วมด้วย

Delusional Disorder อาจแบ่งได้หลายประเภท ดังนี้

  • Persecutory Delusional Disorder หรือโรคหลงผิดว่าถูกปองร้าย เป็นประเภทที่มักพบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยอาจมีความเชื่อว่าตนเองกำลังถูกสะกดรอยตาม ถูกหักหลัง ถูกกลั่นแกล้ง หรือทารุณกรรม
  • Grandiose Delusional Disorder หรือโรคหลงผิดว่าตนมีความสามารถเกินความจริง ผู้ป่วยอาจเข้าใจผิดว่าตนเองมีความสามารถพิเศษ มีความรู้ พลัง อำนาจ และมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญหรือพระเจ้า
  • Somatic Delusional Disorder หรือโรคหลงผิดเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง ผู้ป่วยอาจเชื่อว่าร่างกายมีความผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น มีแมลงคลานอยู่บนผิวหนัง หรือคิดว่าตนกำลังทุกข์ทรมานจากโรคร้าย เป็นต้น
  • Erotomantic Delusional Disorder หรือโรคหลงผิดว่าบุคคลอื่นมาหลงรักหรือเป็นคู่รักของตนเอง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าคนที่มีฐานะทางสังคมสูงกว่าอย่างบุคคลสำคัญหรือดารามาหลงรักตนในเชิงชู้สาว โดยผู้ป่วยอาจพยายามติดต่อสื่อสาร หรือสะกดรอยตามบุคคลนั้นด้วย
  • Jealous Delusional Disorder หรือโรคหลงผิดว่าคู่รักของตนนอกใจ โดยผู้ป่วยอาจคิดไปเองและระแวงว่าคนรักของตนกำลังนอกใจ
  • Mixed Delusional Disorder หรือโรคหลงผิดแบบผสม ผู้ป่วยจะมีอาการหลงผิดมากกว่า 1 อาการข้างต้น โดยไม่มีเรื่องใดที่เด่นชัดออกมา
  • Unspecified Delusional Disorder หรือโรคหลงผิดแบบไม่ระบุเจาะจง ผู้ป่วยอาจไม่ได้มีความเข้าใจผิดในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น หรือไม่สามารถระบุความหลงผิดนั้นได้อย่างชัดเจน

สาเหตุของโรคหลงผิด

ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ Delusional Disorder เนื่องจากเป็นภาวะที่พบได้น้อยและยากต่อการศึกษาค้นคว้า แต่งานวิจัยบางชิ้นสันนิษฐานว่า อาการเหล่านี้อาจเกิดจากปัจจัยด้านพันธุกรรม โดยความผิดปกติทางจิตอาจถูกถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกหลานได้ ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่จึงอาจมีบุคคลในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท หรือมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบจิตเภท (Schizotypal)

นอกจากนี้ Delusion Disorder อาจเกิดจากปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น

  • ปัจจัยทางชีวภาพ เช่น สมองทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อการควบคุมการรับรู้และความคิดของผู้ป่วย เป็นต้น
  • ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและจิตใจ โดยอาจพบโรคนี้ในผู้ที่อยู่ในสภาวะที่มีความเครียดสูงหรือผู้ที่มีความโดดเดี่ยว เช่น ผู้อพยพจากต่างถิ่น ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นหรือการได้ยิน และผู้ที่ต้องต่อสู้กับโรคร้าย เป็นต้น
  • ปัจจัยอื่น ๆ Delusion Disorder อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดต่าง ๆ

การวินิจฉัยโรคหลงผิด

แพทย์อาจตรวจประเมินโดยดูจากอาการ ประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกายทั่วไป แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยโรคนี้โดยเฉพาะ แต่แพทย์อาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุของอาการป่วย ดังนี้

  • การตรวจเลือด เป็นการนำตัวอย่างเลือดไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจดูความผิดปกติต่าง ๆ
  • การตรวจจากภาพถ่าย เพื่อตรวจดูความผิดปกติภายในร่างกายในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเอกซเรย์ เป็นต้น

หากไม่พบความเจ็บป่วยทางร่างกาย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อประเมินอาการของผู้ป่วย โดยอาจสังเกตจากพฤติกรรมและทัศนคติของผู้ป่วยผ่านการสัมภาษณ์พูดคุย

นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยตามคู่มือ DSM-5 ซึ่งเป็นคู่มือสำหรับวินิจฉัยอาการผิดปกติทางจิตต่าง ๆ ที่เผยแพร่โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน โดยแพทย์อาจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการของ Delusional Disorder หากผู้ป่วยมีอาการหลงผิดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป และไม่มีลักษณะอาการของโรคอื่น ๆ ที่คล้ายกัน อย่างโรคจิตเภทหรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติอื่น ๆ  

การรักษาโรคหลงผิด

การรักษาโรคนี้ แพทย์มักใช้ยาและให้ผู้ป่วยเข้ารับการทำจิตบำบัดควบคู่กันไป นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือตัวเองด้วย โดยการรักษาวิธีต่าง ๆ มีรายละเอียด ดังนี้

การรักษาด้วยยา
ยาที่แพทย์มักใช้ในการรักษา Delusional Disorder ได้แก่

  • ยาระงับอาการทางจิต เป็นยาที่มีส่วนช่วยปิดกั้นการทำงานของตัวรับสารโดปามีน ซึ่งแพทย์มักใช้ยากลุ่มนี้เพื่อรักษาอาการของโรคนี้เป็นกลุ่มแรก แม้งานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรค Delusion Disorder จะยังมีอยู่อย่างจำกัดก็ตาม โดยยาที่แพทย์มักนำมาใช้ คือ ฮาโลเพอริดอล ริสเพอริโดน คลอร์โปรมาซีน และโคลซาปีน
  • ยากล่อมประสาท ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลมาก หรือมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ เช่น ยากลุ่มบาร์บิทูเรต ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน เป็นต้น
  • ยาต้านเศร้า เป็นยาที่ช่วยในการปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้า เช่น ฟลูออกซิทีน พาร็อกซีทีน เซอร์ทราลีน ไซตาโลแพรม และเอสไซตาโลแพรม เป็นต้น
  • ยาอื่น ๆ แพทย์อาจใช้ยาชนิดอื่น ๆ เช่น ยากล่อมประสาท และยารักษาอาการซึมเศร้า เป็นต้น เพื่อช่วยลดความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าของผู้ป่วย

จิตบำบัด
เป็นวิธีที่ใช้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการและรับมือกับความเครียดเกี่ยวกับความหลงผิดได้ ซึ่งอาจทำได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  • การบำบัดส่วนบุคคล เป็นการบำบัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าใจผิด
  • การบำบัดเพื่อช่วยปรับทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อมและการมีปฏิสัมพันธ์ (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เป็นการบำบัดโดยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะตระหนักและเปลี่ยนแปลงวิธีคิดหรือพฤติกรรมของตัวเองที่อาจทำให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ รวมถึงการเกิดภาวะซึมเศร้า
  • การบัดบัดแบบครอบครัว เป็นการบำบัดที่ช่วยให้ครอบครัวทราบวิธีรับมือกับผู้ป่วย Delusional Disorder และพัฒนาความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง
  • การเข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือตนเอง เพื่อให้ผู้ป่วยที่เคยมีอาการเดียวกันได้พูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน แต่วิธีนี้อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากผู้ป่วย Delusional Disorder ส่วนใหญ่มักไม่ไว้ใจผู้อื่น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองและผู้อื่น อาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะคงที่

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหลงผิด

ภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วย Delusional Disorder อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับประเภทของอาการ สถานการณ์ในชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงการได้รับความช่วยเหลือต่าง ๆ การให้ความร่วมมือและความเต็มใจในการรักษาภาวะนี้ โดยผู้ป่วยอาจเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เศร้า หดหู่ และวิตกกังวล ในบางกรณี ความหลงผิดก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่รุนแรงหรือการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดการจับกุมได้ เช่น การสะกดรอยตาม หรือการล่วงละเมิดผู้อื่น เป็นต้น นอกจากนี้ อาการหลงผิดอาจทำลายความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับบุคคลรอบข้าง และอาจทำให้ผู้ป่วยดูแปลกแยกไปจากผู้อื่นได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจไม่เข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เนื่องจากเหตุผลบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวว่าตนกำลังป่วย หรือรู้สึกอายและกลัวที่จะเข้ารับการรักษา เป็นต้น ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ อาจส่งผลต่ออาการป่วยในระยะยาวหรือตลอดชีวิตได้ด้วย

การป้องกันโรคหลงผิด

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกัน Delusional Disorder ได้ แต่หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยลดความรุนแรงของอาการที่อาจทำลายชีวิต ครอบครัว และความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ตัวได้

อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปอาจลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด
  • เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด เพื่อให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย
  • หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติทั้งของตนเองและบุคคลใกล้ตัว ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  • หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการของโรคนี้หรือสงสัยว่าอาจมีความผิดปกติทางจิตเกิดขึ้น ควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที