Clopidogrel (โคลพิโดเกรล)

Clopidogrel (โคลพิโดเกรล)

Clopidogrel (โคลพิโดเกรล) คือ ยาต้านเกล็ดเลือดไม่ให้เกิดการจับตัวกันเป็นลิ่มเลือด นำมาใช้ในการช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และลดการเสียชีวิตในผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง หรือโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ที่เกิดจากการตีบตัวของหลอดเลือดแดง และยังอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามแพทย์เห็นสมควร

Clopidogrel

เกี่ยวกับยา Clopidogrel

กลุ่มยา ยาต้านเกล็ดเลือด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ  ป้องกันภาวะเส้นเลือดแดงอุดตันเนื่องจากมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน  โรคหลอดเลือดในสมองตีบตันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาเม็ด

คำเตือนการใช้ยา Clopidogrel

  • ผู้ที่อยู่ในภาวะใด ๆ ต่อไปนี้ ห้ามใช้ยานี้
    • แพ้ยาหรือส่วนประกอบใด ๆ ในโคลพิโดเกรล
    • มีปัญหาเกี่ยวกับการมีเลือดออก เช่น มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร มีเลือดออกในสมอง
    • กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างดาบิกาทราน (Dabigatran)
    • ยาโคลพิโดเกรลอาจส่งผลต่อโรคบางชนิด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังป่วยเป็นโรค โดยเฉพาะในกรณีที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้
      • ผู้ที่ป่วยหรือเพิ่งป่วยเป็นโรคไขกระดูก โรคตับ โรคไต โรคกระเพาะอาหาร โรคเกี่ยวกับเลือด เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เลือดออกในสมอง รวมถึงโรคต่าง ๆ ที่ทำให้มีเลือดออกอย่างรุนแรง
      • ผู้ที่เพิ่งได้รับบาดเจ็บหรือเข้ารับการผ่าตัดเมื่อไม่นาน รวมทั้งกระบวนการผ่าตัดทางทันตกรรม หรือกำลังจะต้องเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก อาจต้องหยุดใช้ยาโคลพิโดเกรลก่อน
      • ผู้ที่เคยมีอาการแพ้ยา เช่น ทิโคลพิดีน (Ticlopidine) หรือพราซูเกรล (Prasugrel) รวมทั้งมีประวัติแพ้อาหารหรือสารอาหารใด ๆ
      • ผู้ที่กำลังรับประทานยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมใด ๆ
      • หญิงกำลังตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร รวมทั้งกรณีที่เกิดการตั้งครรภ์ระหว่างใช้ยา
  • ยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับคลอพิโดเกรล ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยาชนิดใดก็ตาม โดยเฉพาะยาต่อไปนี้
    • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) รวมถึงยาต้านการแข็งตัวของเลือดขนานใหม่ เช่น ดาบิกาทราน (Dabigatran) หรือเดซิรูดิน (Desirudin)
    • ยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น เซเลโคซิบ (Celecoxib) และไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
    • ยาไรฟามัยซิน (Rifamycins) เช่น ไรแฟมพิน (Rifampin)
    • ยาต้านการแข็งตัวของเลือดไรวาโรซาแบน (Rivaroxaban) หรือยาซาลิไซเลต ( Salicylates) เช่น แอสไพริน (Aspirin)
    • ยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRIs (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) เช่น ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือเซอร์ทาลีน (Sertraline)
    • ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SNRIs (Serotonin-Norepinephrine Reuptake Inhibitors) เช่น ดูล็อกซิทีน (Duloxetine) หรือเวนลาฟาซีน (Venlafaxine)
    • ยากลุ่ม PPIs เช่น โอเมพราโซล (Omeprazole) แลนโซพราโซล (Lansoprazole) หรือทิโคลพิดีน (Ticlopidine) เนื่องจากอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาโคลพิโดเกรลลดลง
  • การใช้ยาโคลพิโดเกรลอาจส่งผลให้เกิดภาวะจ้ำเลือดจากเกร็ดเลือดน้อย (Thrombotic Thrombocytopenic Purpura: TTP) ซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เกิดขึ้นหลังจากรับประทานยาทันทีหรือช่วงเวลาสั้น ๆ หลังรับประทานยาภายใน 2 สัปดาห์ ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีอาการผิวหนังซีด ผิวหนังเป็นจ้ำสีม่วง มีแผลฟกช้ำหรือมีเลือดออกผิดปกติ หรืออาการของภาวะโลหิตจาง เช่น รู้สึกอ่อนเพลียหรืออ่อนแรงผิดปกติ เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดท้อง ปวดหลัง ตาหรือผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร่งด่วน
  • ยานี้อาจไปลดการจับตัวเป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือด ระหว่างใช้จึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการฟกช้ำหรือได้รับบาดเจ็บ และหากพบว่ามีอาการฟกช้ำหรือมีเลือดออกผิดปกติ อุจจาระมีสีเข้ม สีเหมือนยางมะตอย หรือมีเลือดปน ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีผลข้างเคียงทำให้วิงเวียนศีรษะ และอาการอาจยิ่งแย่ลงหากรับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์หรือยาบางชนิด ระหว่างการใช้ยาไม่ควรขับรถหรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่อาจไม่ปลอดภัย จนกว่าจะแน่ใจถึงปฏิกิริยาหลังการใช้ยาของตนเอง
  • ยาโคลพิโดเกรลจะต้องเปลี่ยนรูปให้อยู่ในรูปที่สามารถออกฤทธิ์ในร่างกายก่อน ซึ่งกระบวนการนี้ในบางคนอาจเกิดขึ้นได้ไม่ดี และเป็นไปได้ว่าจะทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ไปด้วย ก่อนสั่งจ่ายยาอาจมีการทดสอบความสามารถในการเปลี่ยนรูปยาของร่างกายผู้ป่วย
  • การใช้ยานี้ในเด็กควรระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังไม่มีการยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยาโคลพิโดเกรลในเด็ก

ปริมาณการใช้ยา Clopidogrel

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิด NSTEMI และภาวะเจ็บหน้าอกชนิดไม่คงที่ (Unstable Angina)

ผู้ใหญ่ ปริมาณยาเริ่มต้นครั้งแรก รับประทานวันละ 300 มิลลิกรัม

ปริมาณยาสำหรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รับประทานวันละ 75 มิลลิกรัม อาจควบคู่กับการใช้ยาแอสไพรินวันละ 75-325 มิลลิกรัม

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิด STEMI

ผู้ใหญ่ ปริมาณยาเริ่มต้นครั้งแรก รับประทานวันละ 300 มิลลิกรัม

ปริมาณยาสำหรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รับประทานวันละ 75 มิลลิกรัม โดยอาจใช้ร่วมกับยาสลายลิ่มเลือด

โรคหลอดเลือดในสมองตีบตัน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน  

ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 75 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Clopidogrel

  • ยานี้ควรใช้ตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำหนด และอ่านคำแนะนำบนฉลากกำกับการใช้ยาทุกครั้ง
  • การรับประทานยาโคลพิโดเกรลปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการฟกช้ำหรือมีเลือดออก
  • รับประทานยาพร้อมมื้ออาหารหรือระหว่างมื้ออาหารก็ได้
  • ควรรับประทานโคลพิโดเกรลอย่างสม่ำเสมอในเวลาใกล้เคียงกันในแต่ละวัน เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด
  • หากลืมรับประทานยาให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หรือข้ามมื้อนั้นไปเมื่อใกล้เวลารับประทานครั้งต่อไป ห้ามเพิ่มปริมาณทดแทน
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นรับประทานด้วย
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดในสมองได้
  • หากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ที่สั่งจ่ายยา
  • ควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง ห่างไกลจากความร้อนและความชื้น และเก็บให้พ้นมือเด็ก

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาโคลพิโดเกรลที่พบได้บ่อยมากสุด ได้แก่ อาการฟกช้ำและมีเลือดออกที่ไม่รุนแรง หากพบอาการข้างเคียงดังกล่าวผู้ใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ และรีบไปพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงต่อไปนี้

  • อาการแพ้ยารุนแรง ได้แก่ ลมพิษ มีผื่นขึ้น อาการคัน หายใจลำบาก แน่นหน้าอก เสียงแหบผิดปกติ มีอาการบวมที่ปาก ริมฝีปาก ลิ้น หรือใบหน้า
  • อาการข้างเคียงรุนแรงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ อุจจาระเป็นสีดำหรือสีเหมือนยางมะตอย ปัสสาวะมากขึ้นหรือน้อยลง ปัสสาวะมีสีเข้มหรือมีเลือดปน มีเลือดออกในดวงตา มีปัญหาด้านการมองเห็น เจ็บหน้าอก มีอาการสับสน ไม่อยากอาหาร อาการชัก ปวดหัวอย่างรุนแรงหรือต่อเนื่อง มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด ปวดท้องหรือปวดหลัง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ฟกช้ำผิดปกติ ผิวซีด มีจ้ำสีม่วงที่ผิวหนัง รวมถึงมีเลือดออกรุนแรงหรือเป็นเวลานานผิดปกติ เช่น เลือดที่ออกมากผิดปกติหลังได้รับบาดแผล ประจำเดือนมามากผิดปกติ มีเลือดออกที่อวัยวะเพศโดยไม่ทราบสาเหตุ เลือดออกตามไรฟันผิดปกติเมื่อแปรงฟัน อ่อนเพลียหรืออ่อนแรงผิดปกติ ดวงตาหรือผิวหนังเป็นสีเหลือง

อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวข้างต้นยังไม่ใช่อาการข้างเคียงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ หากพบผลข้างเคียงใด ๆ เพิ่มเติม ผู้ใช้ยาควรปรึกษาแพทย์