ดาบิกาทราน (Dabigatran)

ดาบิกาทราน (Dabigatran)

Dabigatran (ดาบิกาทราน) เป็นยาที่ใช้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) ป้องกันและรักษาการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) และภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism: PE) หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าหรือข้อสะโพกเทียม หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ดาบิกาทราน (Dabigatran)

เกี่ยวกับยา Dabigatran

กลุ่มยา ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากลิ่มเลือดอุดตัน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ และผู้ป่วยไม่ควรให้นมบุตรในระหว่างการใช้ยา Dabigatran เนื่องจากยังไม่สามารถระบุได้ว่าตัวยาถูกขับออกไปกับน้ำนมหรือไม่

คำเตือนในการใช้ยา Dabigatran

ข้อควรทราบเพื่อความปลอดภัยก่อนการใช้ยา Dabigatran มีดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบหากมีอาการแพ้ยาหรือมีอาการแพ้สารอื่น ๆ ในตัวยา ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับส่วนประกอบของยา Dabigatran เนื่องจากตัวยาอาจมีส่วนประกอบที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ โดยผู้ที่แพ้ยาอาจมีอาการผื่นลมพิษ เจ็บหรือแน่นหน้าอก หายใจเป็นเสียงหวีด หายใจลำบาก บวมบริเวณหน้า ริมฝีปาก ลิ้นและคอได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง ทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง หรืออาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกง่ายได้ เช่น ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยาแอสไพริน ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ยาวาฟาริน (Warfarin) ยาเฮพาริน (Heparin) รวมถึงยาอื่น ๆ ที่ใช้รักษาหรือป้องกันการแข็งตัวของเลือดหรือการเกิดลิ่มเลือด เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี ผู้ป่วยโรคไต โรคหลอดเลือดในสมอง โรคแผลในกระเพาะอาหาร กลุ่มอาการต้านฟอสโฟไลปิด (Antiphospholipid Syndrome) ภาวะเลือดออกผิดปกติ มีอาการของภาวะเลือดออกผิดปกติอย่างเลือดออกในสมอง เลือดออกในทางเดินอาหารหรือเลือดออกในลำไส้ หกล้มหรือได้รับบาดเจ็บบ่อย เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดหรือได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง หรือเคยใช้ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากใส่ลิ้นหัวใจเทียมหรือมีบาดแผลที่มีเลือดออกจากการผ่าตัดหรืออุบัติเหตุ เนื่องจากเป็นผู้ที่ห้ามใช้ยา Dabigatran โดยเด็ดขาด
  • หากต้องเข้ารับผ่าตัดร่างกายหรือช่องปาก แจ้งให้แพทย์ทราบว่าอยู่ในช่วงการรับประทานยา Dabigatran หรือรับประทานยาในช่วง 12 ชั่วโมง ก่อนหน้า เนื่องจากผู้ป่วยอาจต้องหยุดรับประทานยาก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ มีเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล มีประจำเดือนมากหรือมีเลือดไหลออกจากช่องคลอด ปัสสาวะเป็นเลือดหรืออุจจาระมีเลือดหรือมีลักษณะคล้ายยางมะตอย เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังวางแผนตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์
  • ผู้ที่ผ่านการเจาะนํ้าไขสันหลังซ้ำหลายครั้ง เคยรับการฉีดยาชาบริเวณไขสันหลัง เคยรับการหัตถการต่าง ๆ บริเวณไขสันหลัง มีความผิดปกติบริเวณไขสันหลังแต่กำเนิดจากพันธุกรรม หรือใส่สายสวนบริเวณไขสันหลัง อาจเสี่ยงมีเลือดออกรอบไขสันหลังขณะใช้ยา Dabigatran ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นอัมพาตในระยะยาวได้
  • หลีกเลี่ยงการฉีดยาหรือสารชนิดต่าง ๆ เข้าสู่กล้ามเนื้อ แต่หากจำเป็นต้องฉีดยาหรือวัคซีนในระหว่างการใช้ยา Dabigatran ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  • ยา Dabigatran อาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งความเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้อาจเพิ่มขึ้นหากผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงปริมาณแอลกอฮอล์ที่สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย
  • ในระหว่างการใช้ยา Dabigatran ผู้ป่วยควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอาการช้ำหรือการได้รับบาดเจ็บ ระมัดระวังในการใช้ของมีคมอย่างกรรไกรตัดเล็บ มีดโกน และควรหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่มีอาการปะทะ เพราะยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดภาวะเลือดไหลผิดปกติ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเมื่อล้มหรือได้รับบาดเจ็บโดยเฉพาะในบริเวณศีรษะ

ปริมาณการใช้ยา Dabigatran

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Dabigatran ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism: VTE) 

ตัวอย่างการใช้ยา Dabigatran เพื่อป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำหลังการผ่าตัด

  • ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 110 มิลลิกรัมภายใน 1–4 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ก่อนจะปรับปริมาณยาเป็น 220 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 10 วัน สำหรับผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า และรับประทานยาในปริมาณดังกล่าวเป็นเวลา 28–35 วัน สำหรับผู้ผ่าตัดข้อสะโพกเทียม หลังจากนั้นแพทย์จะปรับปริมาณยาหรือให้หยุดยาตามความเหมาะสม
  • ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี รับประทานยาปริมาณ 75 มิลลิกรัม ภายใน 1–4 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ก่อนจะปรับปริมาณยาเป็น 150 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 10 วัน สำหรับผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า และรับประทานยาปริมาณดังกล่าวเป็นเวลา 28–35 วันสำหรับผู้ผ่าตัดข้อสะโพกเทียม

โรคหลอดเลือดสมองและลิ่มเลือดอุดตัน

ตัวอย่างการใช้ยา Dabigatran เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและลิ่มเลือดอุดตันจากภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วชนิดไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 150 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน หลังจากนั้นแพทย์จะปรับปริมาณยาหรือให้หยุดยาตามความเหมาะสม
  • ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอายุ 75–80 ปี รับประทานยาปริมาณ 110 มิลลิกรัมหรือ 150 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันและภาวะเลือดออกมากของแต่ละบุคคล และผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี รับประทานยาปริมาณ 110 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน

ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนลึกและโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด

ตัวอย่างการใช้ยา Dabigatran เพื่อรักษาและป้องกันภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนลึกและโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด

  • ผู้ใหญ่ สำหรับรักษาและป้องกันการเกิดอาการซ้ำ รับประทานยาปริมาณ 150 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน หลังจากการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบฉีดมาแล้วอย่างน้อย 5 วัน หลังจากนั้นแพทย์จะปรับปริมาณยาหรือให้หยุดยาตามความเหมาะสม
  • ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอายุ 75–80 ปี รับประทานยาปริมาณ 110 มิลลิกรัมหรือ 150 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันและภาวะเลือดออกมากของแต่ละบุคคล และผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี รับประทานยาปริมาณ 110 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน

การใช้ยา Dabigatran

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Dabigatran ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ควรรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยไม่ควรปรับปริมาณยาเอง หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะหากหยุดการใช้ยาอย่างกะทันหันอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันและโรคหลอดเลือดสมอง
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
  • ผู้ป่วยควรกลืนยาพร้อมน้ำเปล่า 1 แก้ว และไม่ควรเคี้ยว บด ทำให้แตกหรือเปิดแคปซูลออกมา
  • หากผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดอาจทำให้หมดสติ หายใจลำบาก มีเลือดไหลผิดปกติ เกิดรอยช้ำ ไอหรืออาเจียนออกมาเป็นเลือดหรือเป็นสีน้ำตาลคล้ำ ปัสสาวะเป็นน้ำตาลหรือชมพู อุจจาระเป็นสีแดง ดำ หรือมีลักษณะคล้ายยางมะตอย ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้และรับประทานยาครั้งต่อไปตามช่วงเวลาเดิม หรือหากนึกได้ในช่วงเวลาที่ใกล้กับเวลารับประทานยาครั้งถัดไป ให้ผู้ป่วยข้ามไปรับประทานยาครั้งถัดไปตามเวลาเดิม โดยผู้ป่วยห้ามเพิ่มปริมาณการรับประทานยาเป็น 2 เท่าเพื่อทดแทน
  • เปิดใช้ยาทีละขวด และเก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์เดิม โดยควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้น ความร้อนและแสงแดด
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้แม้จะมีอาการป่วยเหมือนกัน

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Dabigatran

การใช้ยา Dabigatran อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นผิวหนังและคัน เป็นต้น ในกรณีที่ เมื่อเลือดไหลก็จะหยุดได้ยาก ผลข้างเคียงรุนแรงขึ้นหรือมีผลข้างเคียงอื่น ๆ เกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์ อาทิ

  • มีเลือดไหลไม่หยุด
  • ไอเป็นเลือด
  • อาเจียนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ
  • ปวดหัว เวียนหัว อ่อนเพลียหรือรู้สึกคล้ายจะเป็นลม
  • มีประจำเดือนออกมากผิดปกติ
  • ปวดหรือบวมในบริเวณข้อ
  • มีรอยช้ำผิดปกติ และอาจช้ำหรือมีเลือดออกได้ง่าย เช่น มีเลือดออกตามไรฟันหรือเลือดกำเดาไหล เป็นต้น
  • ปัสสาวะเป็นสีชมพูหรือน้ำตาล
  • อุจจาระเป็นสีแดง ดำ หรือมีลักษณะคล้ายยางมะตอย

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตันบริเวณไขสันหลังอาจพบอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงในร่างกายช่วงล่าง ปวดหลัง ปัสสาวะเป็นเลือด ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้ หรือมีอาการแพ้ยา โดยจะมีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก เกิดผื่นลมพิษ หายใจลำบาก หายใจเป็นเสียงหวีด บวมบริเวณ ลิ้น ริมฝีปาก ใบหน้าและลำคอ