Bromocriptine (โบรโมคริปทีน)

Bromocriptine (โบรโมคริปทีน)

Bromocriptine (โบรโมคริปทีน) เป็นยาป้องกันการหลั่งน้ำนมหลังคลอด รักษาภาวะระดับฮอร์โมนโปรแลคตินในเลือดสูง ภาวะอะโครเมกาลี โรคพาร์กินสัน หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาเมทฟอร์มินได้ โดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งสารโดพามีนในสมอง ซึ่งจะช่วยลดระดับฮอร์โมนโปรแลคตินในเลือด และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

Bromocriptine

ยา Bromocriptine มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Bromocriptine

กลุ่มยา ยาเออร์โกตามีน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันการหลั่งน้ำนมหลังคลอด รักษาภาวะฮอร์โมนโปรแลคตินในเลือดสูง
ภาวะอะโครเมกาลี โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวานชนิดที่ 2
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Bromocriptine

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ แพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพรใด ๆ เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ โดยเฉพาะยารักษาความผิดปกติทางจิตหรือทางอารมณ์ ยารักษาไมเกรน ยารักษาความผิดปกติของกระเพาะอาหารและลำไส้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคทางพันธุกรรมเกี่ยวกับภาวะขาดน้ำตาลกาแล็กโทส หรือการดูดซึมกลูโคสและกาแล็กโทสผิดปกติ
  • ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้รักษาโรคอะโครเมกาลี เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือเกิดแผลในลำไส้ระหว่างที่ใช้ยานี้
  • ให้หลีกเลี่ยงการขับรถและทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความตื่นตัว จนกว่าจะแน่ใจว่ายานี้ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมดังกล่าว
  • ยา Bromocriptine อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือหมดสติ ผู้ป่วยควรระมัดระวังในการเปลี่ยนอิริยาบถในระหว่างที่ใช้ยานี้ เช่น ลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอน รวมถึงขึ้นลงบันไดอย่างช้า ๆ เป็นต้น
  • หากต้องการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่งในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดใช้ยา เพราะอาจต้องลดปริมาณยาลงอย่างช้า ๆ ไม่สามารถหยุดใช้ยาทันทีได้
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้
  • ห้ามให้นมบุตรระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะยาสามารถซึมผ่านน้ำนมและอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • การใช้ยา Bromocriptine อาจส่งผลให้ยาคุมกำเนิดออกฤทธิ์ไม่เต็มประสิทธิภาพ ผู้ป่วยควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นที่ไม่ใช่ฮอร์โมนควบคู่ไปด้วยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ เช่น การใช้ถุงยางอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิด เป็นต้น รวมทั้งอาจต้องตรวจการตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Bromocriptine

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ป้องกันการหลั่งน้ำนมหลังคลอด
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 2.5 มิลลิกรัมในวันที่คลอดบุตร จากนั้นให้รับประทานยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน

หยุดการหลั่งน้ำนม
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 2.5 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 2-3 วัน และค่อย ๆ ปรับยาเป็นครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน

รักษาเนื้องอกบริเวณเต้านม และภาวะประจำเดือนผิดปกติจากความผิดปกติของฮอร์โมนโปรแลคติน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

รักษาภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ อาการน้ำนมไหล และภาวะมีบุตรยากจากความผิดปกติของฮอร์โมนโปรแลคติน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 1-1.25 มิลลิกรัมก่อนนอน อาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 2-2.5 มิลลิกรัมหลังผ่านไป 2-3 วัน และเพิ่มปริมาณยาอีก 1 มิลลิกรัมใน 2-3 วันถัดมา โดยสามารถเพิ่มปริมาณยาได้ถึง 2.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือมากกว่าหากจำเป็น แต่ปริมาณยาสูงสุดไม่ควรเกิน 30 มิลลิกรัม/วัน

รักษาโรคอะโครเมกาลีร่วมกับการผ่าตัดและการฉายรังสี
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 2.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง อาจเพิ่มปริมาณยาขึ้นอีก 2.5 มิลลิกรัม ทุก 2-3 วัน หรือหากจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณยาได้ถึง 5 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย

รักษาโรคพาร์กินสัน
ผู้ใหญ่ ปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ ให้รับประทานยาปริมาณ 10-40 มิลลิกรัม/วัน กรณีที่ใช้เป็นยาเสริมร่วมกับยาเลโวโดป แบ่งออกเป็น

  • สัปดาห์ที่ 1 รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 1-1.25 มิลลิกรัมก่อนนอน
  • สัปดาห์ที่ 2 รับประทานยาปริมาณ 2-2.5 มิลลิกรัมก่อนนอน
  • สัปดาห์ที่ 3 รับประทานยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
  • สัปดาห์ที่ 4 รับประทานยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง จากนั้นหากจำเป็นให้เพิ่มปริมาณอีก 2.5 มิลลิกรัม ทุก 3-14 วัน  

การใช้ยา Bromocriptine

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยาในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • ให้รับประทานยาพร้อมอาหาร เพื่อป้องกันอาการท้องไส้ปั่นป่วน
  • ควรใช้ยาจนครบตามที่แพทย์กำหนดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม และไม่ควรลืมรับประทานยา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดทางการรักษา
  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาของยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบต่อไป ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการเก็บยาและการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม
  • เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากแสงแดดและความชื้้น รวมทั้งเก็บให้พ้นจากสายตาเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Bromocriptine

การใช้ยา Bromocriptine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน อาเจียน ท้องผูก เวียนศีรษะ ง่วง เหนื่อย อ่อนเพลีย หรือนอนไม่หลับ เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Bromocriptine ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง พุพอง ผิวลอกร่วมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • เวียนศีรษะอย่างรุนแรงหรือหมดสติ
  • หลับระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขณะรับประทานอาหารหรือกำลังพูดคุย เป็นต้น
  • มองเห็นไม่ชัดหรือการมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป
  • มีปัญหาในการทรงตัว การพูด หรือการคิด
  • พูดไม่ชัด มีอาการอ่อนแรงแบบครี่งซีกที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย  
  • กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก น้ำลายไหลออกทางมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • ชัก
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม
  • ปวดหลัง
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • ขาหรือแขนบวม
  • อาเจียนเป็นเลือดหรือเป็นสีน้ำตาลเข้ม
  • อุจจาระปนเลือด มีสีดำ หรือสีเหมือนยางมะตอย
  • ปัสสาวะไม่ออกหรือปริมาณน้ำปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป
  • เกิดอาการสับสนหรือหลอน
  • มีอาการของภาวะซึมเศร้า

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน