Blueberry คุณประโยชน์ที่มากกว่าการปรุงรสขนมหวาน

Blueberry หรือบลูเบอร์รี่ เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่อุดมไปด้วยวิตามินและไฟเบอร์มากมาย หลายคนจึงเชื่อว่านอกจากการบริโภค Blueberry จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ แล้ว อาจมีสรรพคุณทางการแพทย์ด้วย เช่น ลดความดันโลหิต ลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรืออาจมีส่วนช่วยบำรุงสมอง เป็นต้น

1660 Blueberry resized

Blueberry เป็น 1 ในผลไม้ยอดนิยมที่คนนำมาทำอาหาร ขนมหวาน และเครื่องดื่ม โดย Blueberry สดปริมาณ 100 กรัม จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 84 เปอร์เซ็นต์ และให้พลังงาน 57 แคลอรี่ ทั้งยังอุดมไปด้วยโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ไฟเบอร์ วิตามินเค และสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมายอย่างสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่มีงานวิจัยบางส่วนพบว่าสารนี้อาจมีสรรพคุณในการบำรุงหัวใจและสมองด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้พิสูจน์คุณประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของ Blueberry ไว้ ดังนี้

ลดความดันโลหิต

ภาวะความดันโลหิตสูงอาจรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในเบื้องต้น โดยเน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง ซึ่งมีผลงานวิจัยบางส่วนพบว่าผลไม้อย่าง Blueberry อาจช่วยลดความดันโลหิตในมนุษย์ได้

ทั้งนี้ มีงานวิจัยหนึ่งทดลองประสิทธิภาพในการลดระดับความดันโลหิตของ Blueberry ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่อยู่ในช่วงก่อนเกิดภาวะความดันโลหิตสูงและช่วงความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 พบว่าการรับประทานผง Blueberry หรือ Blueberry แช่แข็งเป็นเวลา 8 สัปดาห์ อาจช่วยลดระดับความดันโลหิตและลดการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงได้ โดยเพิ่มปริมาณการผลิตสารไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ในร่างกาย ซึ่งช่วยขยายหลอดเลือดหรือเส้นเลือดจนทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

เช่นเดียวกับอีกการวิจัยหนึ่งที่ทดลองประสิทธิภาพด้านเดียวกันในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและผู้ชายรวม 25 คน พบว่า Blueberry อาจช่วยลดระดับความดันโลหิตได้เมื่อบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์

แม้มีประสิทธิผลจากการทดลองจำนวนหนึ่ง แต่งานวิจัยข้างต้นก็เป็นเพียงการศึกษาในกลุ่มทดลองขนาดเล็กเท่านั้น จึงยังไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่าการบริโภค Blueberry ช่วยลดความดันโลหิตได้จริง ดังนั้น จึงควรศึกษาด้านนี้ในกลุ่มทดลองที่หลากหลายและมีจำนวนผู้ทดลองมากขึ้น เพื่อให้สามารถนำผลลัพธ์มาประยุกต์ใช้รักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้จริง

ลดความเสี่ยงการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ รวมทั้งจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ รอบตัว เช่น การสูบบุหรี่ ความเครียด หรืออาหารที่รับประทาน เป็นต้น ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาค้นคว้าในหนูทดลองแล้วพบว่า การบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วย Blueberry อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ติดตามผลการรับประทานอาหารของผู้หญิงวัยกลางคนจำนวน 93,600 คนในทุก ๆ 4 ปี เป็นระยะเวลา 18 ปี พบว่าผู้ทดลองที่บริโภคผักผลไม้ที่มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) อย่าง Blueberry เป็นประจำ หรือบริโภค 3 ส่วน/สัปดาห์ขึ้นไป อาจเสี่ยงเผชิญโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดน้อยกว่าผู้ทดลองกลุ่มอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางส่วนเป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงยังไม่สามารถยืนยันประสิทธิผลของการบริโภค Blueberry เพื่อลดความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในมนุษย์ได้ จึงควรศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติมทั้งในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการบริโภคผลไม้ชนิดนี้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไป

บำรุงสมอง

เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา ประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายก็อาจเริ่มเสื่อมถอยลงตามอายุ โดยเฉพาะการทำงานของสมอง เพราะอาจมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ หรือเริ่มมีสัญญาณของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้เมื่อเริ่มแก่ตัวลง ซึ่งการดูแลสุขภาพและบำรุงสมองอาจทำได้ด้วยการออกกำลังกายหรือเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยมีงานวิจัยบางส่วนค้นพบว่าการบริโภค Blueberry อาจช่วยบำรุงสมองของผู้สูงอายุได้

มีงานวิจัยหนึ่งทดลองใช้แบบสอบถามเพื่อสำรวจการเสื่อมถอยในการทำงานของสมองหลังการรับประทานสารฟลาโวนอยด์และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ โดยศึกษากับกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปจำนวน 16,010 คน เป็นเวลา 4 ปี พบว่าการรับประทานสารฟลาโวนอยด์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากผลไม้ตระกูลเบอร์รี่อย่างสตรอเบอร์รี่และบลูเบอร์รี่ อาจมีส่วนช่วยลดอัตราการเสื่อมถอยในระบบการทำงานของสมองในผู้สูงอายุได้

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งได้ทดลองให้ผู้สูงอายุที่เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับความจำในระยะแรกดื่มน้ำ Blueberry เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าการดื่มน้ำ Blueberry อาจช่วยบำรุงการทำงานของระบบความจำในผู้สูงอายุที่เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับความจำในระยะแรกได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางส่วนยังคงมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากมีปัจจัยในการทดลองหลายอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงควรศึกษาถึงประโยชน์ของ Blueberry ต่อการบำรุงสมองเพิ่มเติม เพื่อนำผลลัพธ์ที่ชัดเจนไปพัฒนาทำผลิตภัณฑ์หรืออาหารเสริมบำรุงสมองต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุได้ในอนาคต

การบริโภค Blueberry อย่างปลอดภัย

แม้ Blueberry อาจมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน และไม่ก่อให้เกิดอันตรายสำหรับผู้บริโภคทั่วไปหากรับประทานเป็นอาหารในปริมาณที่เหมาะสม แต่ควรระมัดระวังในการบริโภคเพื่อหวังสรรพคุณทางการรักษาหรือการบริโภคในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลหรือการทดลองใดยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า Blueberry มีประสิทธิผลทางการรักษาหรือป้องกันโรคต่าง ๆ ในมนุษย์ได้จริงหรือปลอดภัยมากน้อยเพียงใด

โดยข้อควรระวังในการบริโภค Blueberry มีดังนี้

  • งดรับประทาน Blueberry ก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทั้งระหว่างและหลังการผ่าตัด
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอเมื่อรับประทาน Blueberry หรืออาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของ Blueberry เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานลดลงได้
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคใบของ Blueberry เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันได้ชัดเจนว่ามนุษย์สามารถบริโภคใบของ Blueberry ได้อย่างปลอดภัย

หากกำลังใช้ยารักษาโรคเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน Blueberry ทุกครั้ง เนื่องจาก Blueberry อาจมีปฏิกิริยากับยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด เช่น ยาไกลเมพิไรด์ (Glimepiride) ยาไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone) ยาโทลบูตาไมด์ (Tolbutamide) และยาโรซิกลิทาโซน (Rosiglitazone) เป็นต้น