แผลรอยแยกขอบทวารหนัก (Anal Fissure)

ความหมาย แผลรอยแยกขอบทวารหนัก (Anal Fissure)

Anal Fissure หรือแผลรอยแยกขอบทวารหนัก คือ รอยฉีกหรือแผลเปิดขนาดเล็กที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุทวารหนัก โดยมักทำให้มีอาการปวดทวารหนักและมีเลือดออกเมื่อถ่ายอุจจาระ หรืออาจมีอาการกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักกระตุกด้วย ซึ่งแผลนี้อาจเกิดจากการขับถ่ายอุจจาระที่แข็งหรือมีก้อนใหญ่ มักพบได้บ่อยในเด็กทารก อาจรักษาได้โดยเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือนั่งแช่ในน้ำ แต่บางรายก็อาจต้องใช้ยารักษาหรือการผ่าตัดเข้าช่วย

อาการของแผลรอยแยกขอบทวารหนัก

ผู้ป่วยที่มี Anal Fissure อาจพบอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • รู้สึกปวดหรือเจ็บแปลบบริเวณทวารหนักในขณะถ่ายอุจจาระ
  • มีเลือดปนออกมาในอุจจาระ โดยมักมีปริมาณไม่มากและเป็นสีแดงสด หรือมีเลือดติดที่กระดาษชำระเมื่อเช็ดทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระ
  • ปวดหลังถ่ายอุจจาระ โดยอาจปวดเป็นเวลานานหลายชั่วโมง
  • คันหรือระคายเคืองบริเวณทวารหนัก
  • สังเกตเห็นรอยแตกที่ผิวหนังบริเวณรอบทวารหนัก
  • สัมผัสได้ถึงก้อนเนื้อเล็ก ๆ หรือติ่งเนื้อบนผิวหนังบริเวณใกล้แผลรอยแยกขอบทวารหนัก

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการปวดผิดปกติในระหว่างหรือหลังจากถ่ายอุจจาระ สังเกตเห็นเลือดบนอุจจาระ หรือมีเลือดติดที่กระดาษชำระหลังถ่ายอุจจาระเสร็จแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

1860 Anal Fissure rs

สาเหตุของแผลรอยแยกขอบทวารหนัก

Anal Fissure เกิดจากเยื่อบุทวารหนักได้รับความเสียหายจนมีรอยแยกหรือเกิดแผล โดยอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • ถ่ายอุจจาระที่มีขนาดใหญ่ หรืออุจจาระที่แข็ง
  • ท้องผูก หรือท้องเสียอย่างเรื้อรัง
  • เกิดการอักเสบที่ทวารหนัก โดยมีสาเหตุมาจากโรคโครห์นหรือโรคเกี่ยวกับการอักเสบในระบบทางเดินอาหารชนิดอื่น ๆ
  • กล้ามเนื้อฉีกจากการคลอดบุตร
  • กล้ามเนื้อหูรูดเกร็งหรือหดตัว
  • มีเลือดไปหล่อเลี้ยงบริเวณทวารหนักน้อยลง ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ
  • การติดเชื้อบางชนิดหรือเป็นโรคมะเร็ง เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส เริม วัณโรค มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น แต่เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก

Anal Fissure เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ตาม คนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ เด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการท้องผูก ผู้ป่วยโรคโครห์น ผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูก และผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

การวินิจฉัยแผลรอยแยกขอบทวารหนัก

การวินิจฉัยในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามอาการและพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำของผู้ป่วย จากนั้นอาจตรวจดูบริเวณรูทวารหนักของผู้ป่วย โดยสวมถุงมือที่เคลือบด้วยสารหล่อลื่นและสอดนิ้วเข้าไปในทวารหนักหรือใช้กล้องส่องดู แต่หากผู้ป่วยมีอาการปวดอย่างมาก แพทย์อาจวินิจฉัยเพียงแค่ดูจากอาการภายนอกเท่านั้น ซึ่งหากเป็น Anal Fissure แบบเฉียบพลัน รอยแยกจะดูคล้ายแผลสด แต่หากเป็นชนิดเรื้อรัง อาจสังเกตได้ถึงก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อเล็ก ๆ ด้านในและด้านนอกรูทวารหนัก

นอกจากนี้ หากมีรอยแยกเกิดขึ้นด้านข้างรูทวารหนัก ไม่ใช่ด้านหน้าหรือด้านหลัง ผู้ป่วยอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดปกติอื่น ๆ อย่างโรคโครห์น ซึ่งแพทย์อาจวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ โดยใช้ท่อขนาดเล็กที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่สอดเข้าไปในลำไส้เพื่อตรวจดูความผิดปกติ มักใช้วิธีนี้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ หรือผู้ที่มีอาการอื่น ๆ ที่อาจไม่ใช่อาการของ Anal Fissure ร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น

การรักษาแผลรอยแยกขอบทวารหนัก

Anal Fissure มีอาการคล้ายกับผิวหนังฉีกขาดทั่วไป โดยจะดีขึ้นได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองเพื่อช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายยิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดรอยแยกขอบทวารหนักขึ้นอีกครั้ง โดยทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • นั่งเเช่ในน้ำอุ่น เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณทวารหนัก และช่วยให้หูรูดคลายตัว โดยควรทำวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที
  • รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เพื่อป้องกันอาการท้องผูก เช่น รำข้าวสาลี รำข้าวโอ๊ต ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ผลไม้ตระกูลส้ม ถั่ว ลูกพรุน หรือน้ำลูกพรุน เป็นต้น โดยควรรับประทานทุกวัน ในปริมาณวันละ 20-35 กรัม
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์
  • ฝึกนิสัยในการขับถ่ายให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพราะการอั้นถ่ายอาจทำให้อุจจาระแห้งและแข็งจนขับถ่ายออกมาได้ยาก ทำให้มีอาการปวดหรือเกิดแผลฉีกขาดได้
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่าย เช่น ไม่นั่งบนชักโครกนานเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดแรงดันบริเวณช่องทวารหนักได้ ค่อย ๆ ทำความสะอาดและเช็ดทวารหนักให้แห้งหลังจากเสร็จธุระ หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณทวารหนัก เป็นต้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง หรือว่ายน้ำ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย และเพิ่มเลือดไปหล่อเลี้ยงบริเวณทวารหนัก ซึ่งจะทำให้แผลรอยแยกขอบทวารหนักหายเร็วขึ้น
  • ในกรณีที่ได้รับกากใยจากอาหารไม่เพียงพอ ให้รับประทานอาหารเสริมไฟเบอร์ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร โดยไฟเบอร์จะช่วยให้อุจจาระนิ่มหรือกลับมามีลักษณะปกติ แต่ควรเริ่มรับประทานจากปริมาณเล็กน้อยแล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนกว่าจะเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดแก๊สในกระเพาะหรือท้องแน่นเฟ้อ
  • รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน เป็นต้น
  • ในกรณีที่แผลเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ผู้ป่วยควรงดมีเพศสัมพันธ์ทางนี้จนกว่าแผลจะหายดี

ทั้งนี้ หากยังคงมีอาการท้องผูกอย่างต่อเนื่อง หรือมีอาการของ Anal Fissure เกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยแพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การใช้ยา
    การใช้ยา เช่น ใช้ยาไนโตรกลีเซอรินชนิดทาภายนอกเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ใช้ยาชาเฉพาะที่ชนิดทาเพื่อช่วยลดอาการปวด ใช้ยาลดความดันโลหิตอย่างยาไนเฟดิปีนหรือยาดิลไทอะเซมเพื่อช่วยผ่อนคลายหูรูดทวารหนัก เป็นต้น โดยการใช้ยามีทั้งชนิดรับประทานและชนิดใช้ภายนอก รวมถึงอาจฉีดโบท็อกซ์เพื่อให้กล้ามเนื้อหูรูดเกิดการคลายตัว ซึ่งจะใช้ในกรณีที่การใช้ยาทาไม่ได้ผล
  • การผ่าตัด
    แพทย์อาจใช้การผ่าตัดหากรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยจะเป็นการทำรอยตัดที่กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักชั้นใน เพื่อช่วยลดอาการปวดหรือแรงดันบริเวณทวารหนัก ซึ่งวิธีนี้ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บมากนักและหลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจไม่สามารถควบคุมการผายลมได้ชั่วคราว อาจมีอุจจาระเล็ดเล็กน้อยหรืออาจเกิดการติดเชื้อได้ และจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงจะหายดี อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า การรักษา Anal Fissure ชนิดเรื้อรังด้วยวิธีนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่นอย่างมาก

ภาวะแทรกซ้อนของแผลรอยแยกขอบทวารหนัก

ผู้ที่มีอาการ Anal Fissure อาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมาได้ บางรายอาจเกิดรอยแยกบริเวณทวารนานกว่า 6 สัปดาห์ จนกลายเป็นรอยแยกทวารหนักชนิดเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมจากแพทย์ ในขณะที่บางรายอาจกลับมามีอาการลักษณะนี้ได้อีกครั้ง และในบางกรณีรอยแยกดังกล่าวอาจขยายไปถึงบริเวณกล้ามเนื้อหูรูดด้านใน ทำให้รักษาได้ยากยิ่งขึ้น โดยอาจต้องใช้ยาหรือผ่าตัดเพื่อรักษารอยแยกและลดอาการปวดที่เกิดขึ้น

การป้องกันแผลรอยแยกขอบทวารหนัก

โดยทั่วไปสามารถป้องกันการเกิด Anal Fissure ได้โดยลดปัจจัยเสี่ยงตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  • ดื่มน้ำให้มาก และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย
  • พยายามขับถ่ายอุจจาระทุกวัน เพื่อป้องกันอุจจาระแห้งและแข็งตัวจนถ่ายลำบากและทำให้เกิดแผลตามมาได้
  • ทำความสะอาดทวารหนักและเช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังจากขับถ่าย
  • ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารกบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการหมักหมมและการสะสมเชื้อโรค