Pethidine (เพทิดีน)

Pethidine (เพทิดีน)

Pethidine (เพทิดีน) เป็นยาแก้ปวดที่จัดอยู่ในกลุ่มยาโอปิออยด์ ยาจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและสมอง โดยช่วยลดกลไกที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งทำให้เกิดอาการชาและลดอาการปวดในบริเวณที่ผู้ป่วยมีอาการอักเสบหรือได้รับบาดเจ็บ แพทย์มักใช้ยานี้บรรเทาอาการปวดในระดับปานกลางถึงรุนแรง เช่น อาการปวดระหว่างคลอดลูก อาการปวดจากการผ่าตัด เป็นต้น

1792 Pethidine rs

เกี่ยวกับยา Pethidine 

กลุ่มยา ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ บรรเทาและป้องกันอาการปวดที่มีความรุนแรง
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยา Pethidine

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากเคยมีประวัติแพ้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยาอื่น ๆ รวมถึงวิตามิน อาหารเสริม หรือสมุนไพรชนิดใดก็ตาม   
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยาลีเนโซลิด ยารักษาอาการซึมเศร้ากลุ่ม MOAI อย่างยาฟีเนลซีนและยาทรานิลซัยโปรมีน หรือยารักษาโรคพาร์กินสันกลุ่ม MAO B อย่างยาเซเลกิลีนและยาราซาจิลีน ภายในช่วงเวลา 14 วันที่ผ่านมา เพราะยาเหล่านี้อาจทำปฏิกิริยากับยา Pethidine จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากผู้ป่วยมีอาการท้องผูกมานานกว่า 1 สัปดาห์ หรือมีลำไส้อักเสบเรื้อรัง มีปัญหาเกี่ยวกับตับไต ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ต่อมลูกหมาก ท่อในระบบทางเดินน้ำดี เป็นหอบหืดหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นโรคลมชัก เคยบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง หรือเคยติดสารเสพติดและแอลกอฮอล์
  • ผู้สูงอายุและผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง ควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง
  • ยา Pethidine อาจทำให้รู้สึกง่วงนอนหรือเวียนศีรษะ จึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานที่ต้องใช้เครื่องจักร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ และควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
  • หญิงที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Pethidine และไม่ควรได้รับยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือใช้ยาในปริมาณที่มากเกินไป เนื่องจากตัวยาสามารถซึมผ่านรกและเจือปนในน้ำนมแม่ได้ ซึ่งอาจทำให้เด็กได้รับผลกระทบ เช่น ง่วงนอน มีปัญหาเรื่องการหายใจ เป็นต้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือใช้ยาชนิดอื่นแทน
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำทันตกรรมเสมอ
  • หากผู้ป่วยต้องเดินทางไปต่างประเทศ ควรนำหลักฐานคำยืนยันเกี่ยวกับการสั่งจ่ายยาจากแพทย์ติดตัวไปด้วย เนื่องจากในบางประเทศ ยา Pethidine อาจถูกจัดเป็นยาผิดกฎหมายและไม่อนุญาตให้ใช้

ปริมาณในการใช้ยา Pethidine

ระงับความรู้สึก

ผู้ใหญ่ ค่อย ๆ ฉีดยาเข้าทางเส้นเลือดอย่างช้า ๆ ปริมาณ 10-25 มิลลิกรัม

ระงับอาการปวดอย่างเฉียบพลันในระดับปานกลางถึงรุนแรง

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 50-150 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง หากมีความจำเป็น

เด็กอายุ 2 เดือนถึง 12 ปี รับประทานยาปริมาณ 0.5-2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

เด็กอายุ 12-18 ปี รับประทานปริมาณ 50-100 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง หากมีความจำเป็น

ผู้สูงอายุ รับประทานยาปริมาณ 50 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง

รักษาอาการปวดอย่างเฉียบพลันในระดับรุนแรง

ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 25-100 มิลลิกรัม และฉีดซ้ำอีกครั้งหลังผ่านไป 4 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 2 เดือนถึง 12 ปี ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 0.5-2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็กอายุ 12-18 ปี ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อใต้ผิวหนังปริมาณ 20-100 มิลลิกรัม โดยฉีดซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมง หากมีความจำเป็น

ยาฉีดเข้าเส้นเลือด

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าเส้นเลือดอย่างช้า ๆ ปริมาณ 25-50 มิลลิกรัม และฉีดซ้ำอีกครั้งหลังผ่านไป 4 ชั่วโมง
  • เด็กทารกไปจนถึงอายุไม่เกิน 12 ปี ฉีดยาเข้าเส้นเลือดปริมาณ 0.5-1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยฉีดซ้ำทุก 10-12 ชั่วโมงในเด็กที่อายุไม่เกิน 2 เดือน และฉีดซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมงในเด็กที่โตกว่า หากมีความจำเป็น
  • เด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป แพทย์อาจฉีดยาเข้าเส้นเลือดปริมาณ 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตามด้วยการให้ยาเข้าเส้นเลือดอย่างต่อเนื่องในอัตรา 100-400 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง และปรับอัตราการให้ยาตามการตอบสนองของผู้ป่วย
  • เด็กอายุ 12-18 ปี ฉีดยาเข้าเส้นเลือดปริมาณ 25-50 มิลลิกรัม โดยฉีดซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมง หากมีความจำเป็น
  • ผู้สูงอายุ ฉีดยาปริมาณ 25 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง

ป้องกันอาการปวดจากการผ่าตัด

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 25-100 มิลลิกรัม โดยฉีดก่อนการผ่าตัด 1 ชั่วโมง

เด็ก ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 1-2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยฉีดก่อนการผ่าตัด 1 ชั่วโมง

บรรเทาอาการปวดหลังการผ่าตัด

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 25-100 มิลลิกรัม โดยฉีดทุก 2-3 ชั่วโมง หากมีความจำเป็น

เด็ก ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 0.5-2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยฉีดทุก 2-3 ชั่วโมง หากมีความจำเป็น

บรรเทาอาการปวดจากการคลอดลูก

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 50-100 มิลลิกรัม โดยฉีดทันทีที่มดลูกมีการหดรัดตัว และฉีดซ้ำหลังผ่านไป 1-3 ชั่วโมง หากมีความจำเป็น ปริมาณยาสูงสุดต้องไม่เกิน 400 มิลลิกรัมภายใน 24 ชั่วโมง

การใช้ยา Pethidine

  • ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาของยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเพื่อทดแทน
  • หากรับประทานยาเกินปริมาณที่แพทย์กำหนด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยนำบรรจุภัณฑ์ของยาไปด้วย
  • ไม่ใช้ยาร่วมกับผู้อื่นและไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ควรเก็บยาให้ห่างจากความร้อนและแสงแดด โดยเก็บยาให้พ้นมือเด็ก

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Pethidine

การใช้ยา Pethidine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เป็นต้น

แต่หากพบผลข้างเคียงที่มีความรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์

  • ปวดศีรษะ
  • ท้องผูก
  • มีผื่นคัน หรือมีอาการคัน
  • ปากแห้ง
  • รู้สึกร้อน หน้าแดง
  • มีเหงื่อออกมาก
  • ปัสสาวะลำบาก
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • สับสน ซึมเศร้า
  • หายใจถี่ หายใจลำบาก