6 เคล็ดลับแก้อาการเบื่อบ้านหรือ Cabin Fever

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ทำให้เราต้องอยู่แต่บ้านนาน ๆ จนอาจเกิดอาการเบื่อบ้านหรือ Cabin Fever ขึ้นมา โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่เรารู้สึกอ้างว้างหรือแยกตัวออกจากสังคม บทความนี้จึงรวบรวมเคล็ดลับกำจัดอาการเบื่อบ้าน พร้อมเสริมสร้างจิตใจให้กลับมาสดใสมาฝากกัน 

แต่ก่อนจะปฏิบัติตามเคล็ดลับดี ๆ ด้านล่าง ลองมาทำความรู้จัก Cabin Fever หรืออาการเบื่อบ้านกันก่อน ตามปกติแล้ว Cabin Fever เป็นอารมณ์ในแง่ลบและความรู้สึกเป็นทุกข์หรือกังวลใจที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว รู้สึกเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ที่บีบให้เราต้องเว้นระยะห่างทางสังคมหรือกักตัวเองอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานาน

โดยอาการเบื่อบ้านนี้ มักจะแย่กว่าความรู้สึกเบื่อหน่ายทั่วไป เช่น รู้สึกเบื่อมากจนกระสับกระส่าย แรงกระตุ้นในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดน้อยลง หงุดหงิดง่าย รู้สึกสิ้นหวัง ซึมเศร้า ความอดทนต่ำ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาด้านการนอนหลับหรือตื่นยากขึ้น แม้อาการเบื่อบ้านจะไม่ถูกจัดเป็นโรคความผิดปกติทางจิต แต่ไม่ได้หมายความว่าความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องจริง และภาวะ Cabin Fever ยังส่งผลเราทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ยากลำบากมากขึ้นด้วย 

2686-Cabin-Fever

6 เคล็ดลับลดอาการเบื่อบ้าน 

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า Cabin Fever ไม่ถือว่าเป็นโรค จึงไม่มีแนวทางการรักษาที่เฉพาะ แต่เราอาจลดอาการเบื่อบ้านและรักษาสุขภาพจิตให้ดีขึ้นด้วยเคล็ดลับดังต่อไปนี้

1. ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างตรงเวลาและเป็นกิจวัตร

กิจกรรมที่ว่านี้เริ่มต้นตั้งแต่การตื่นนอน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 3 มื้อ การทำงานบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท การออกกำลังกาย และการเข้านอน หากเราทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามตารางเวลาที่จัดไว้อย่างเป็นระบบ นอกจากจะเพิ่มพูนความภาคภูมิใจจากความสำเร็จเล็ก ๆ ในแต่ละวันแล้ว ยังช่วยลดความกังวลลดให้น้อยลง มีสุขภาพที่ดีขึ้น และไม่ต้องมานั่งคิดให้ปวดหัวว่าเราจะทำอะไรต่อไปดี  

2. ติดต่อคนรอบข้างผ่านเทคโนโลยี 

เนื่องจากเรายังไม่สามารถออกไปพบปะหรือไปมาหาสู่คนที่เรารักได้ 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนอย่างเก่า เทคโนโลยีจึงเป็นทางออกที่จะช่วยให้ได้พูดคุยกับพวกเขาได้บ่อย ๆ ให้หายคิดถึงและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป โดยอาจเลือกการพูดคุยหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันผ่านโทรศัพท์หรือวิดีโอคอล เพื่อให้ได้เห็นใบหน้าอีกฝ่ายชัด ๆ หรือจะใช้การติดต่อที่เบสิคอย่างการเขียนจดหมายหากันก็ดูคลาสสิกไปอีกแบบ

3. หางานอดิเรกใหม่ ๆ หรือกิจกรรมที่ชอบ

จงทำให้ตัวเองยุ่งด้วยกิจกรรมที่เราชอบหรือสนใจ เช่น เรียนภาษาที่ 3 ทำอาหาร ถ่ายภาพ วาดรูป เล่นดนตรี ฝึกนั่งสมาธิ หรือเรียนโยคะ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้สึกว่าเวลาจะผ่านไปเร็วขึ้นโดยไม่เปล่าประโยชน์ ได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ แถมยังขจัดความเบื่อหน่าย ลดอาการ Cabin Fever ไปในตัวด้วย  

4. ออกกำลังกายเป็นประจำ

จากงานจัยจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิกซึ่งก็คือการออกกำลังกายที่ใช้อากาศหรือออกซิเจนในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนในร่างกาย อย่างการวิ่ง การว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ อาจเทียบได้กับยารักษาโรคซึมเศร้า เนื่องจากช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นโดรฟินที่ทำให้รู้สึกดี ลดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า และช่วยให้อาการนอนไม่หลับดีขึ้นด้วย โดยควรใช้เวลาอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีการออกกำลังกายแบบเพิ่มกล้ามเนื้อที่ได้ผลเช่นกัน เช่น วิดพื้น ท่าสควอช ท่าเบอร์พี ท่าลันจ์ ท่าแพลงค์ เป็นต้น 

5. เสพสื่อและใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์ให้น้อยลง

เราอาจไม่รู้ตัวเลยว่า การใช้เวลาดูละคร ซีรีส์ ข่าว การใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งการเล่มเกมติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียกับเรามากกว่าที่คิด โดยมีการศึกษาพบว่า พฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เราซึมเศร้าและสิ้นหวัง เพราะอาจนำชีวิตของตัวเองไปเปรียบเทียบกับชีวิตของคนอื่นที่มักแสดงด้านดี ๆ และด้านที่มีความสุข จนเราเองรู้สึกว่าตนเองนั้นต่ำต้อย ไม่มีคุณค่า และเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา การใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้ให้น้อยลงหรืออยู่กับมันเพียงวันละ 2 ชั่วโมง จึงช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้

6. ออกไปนอกบ้านดูบ้าง

มีงานวิจัยกล่าวว่า การทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือออกไปนอกบ้านจะช่วยให้จิตใจผ่องใส บรรเทาความเครียด นอนหลับได้ดีขึ้น และยังพัฒนาการทำงานของสมองด้วย แม้ในช่วงการระบาดของโรคเช่นนี้ การออกไปนอกบ้านอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีมากนัก แต่เราก็สามารถป้องกันตนเองได้โดยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เลือกสถานที่ที่คนไม่พลุ่กพล่าน แออัด หากยังกังวลก็อาจลองเปิดหน้าต่างรับอากาศบริสุทธิ์ในยามเช้าหรือลองปลูกต้นไม้ที่ชอบไว้ตามระเบียง เท่านี้อาการเบื่อบ้านก็อาจหายไปได้

อย่างไรก็ตาม บางครั้งความรู้สึกด้านลบเหล่านี้อาจรุนแรงมากขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน บางกรณีจึงจำเป็นต้องไปปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดเพิ่มเติม เนื่องจากการใช้ยาหรือการรักษาด้วยวิธีอื่นอาจมีประสิทธิภาพและเหมาะสมมากกว่าจะจัดการความรู้สึกเบื่อที่ไม่ธรรมดานี้ด้วยตนเอง โดยในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเมื่อต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลหรือภายนอกบ้าน เราสามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่สายด่วนสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่เบอร์ 1323