4 เรื่องต้องรู้เมื่อเบาหวานลงเท้า ดูแลไม่ดีอาจเสี่ยงตัดขา

เบาหวานลงเท้าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี อาจเพราะไม่ดูแลตัวเองตามที่แพทย์แนะนำ หรือร่างกายตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดี ซึ่งหากละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อาการเบาหวานลงเท้ารุนแรงจนอาจถูกตัดขาหรือเท้าได้

การดูแลสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวานจึงสำคัญไม่แพ้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพราะการเกิดแผลขนาดเล็กก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อและเกิดแผลลุกลามได้ ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการเบาหวานลงเท้าที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรู้มาฝากกัน ทั้งสาเหตุ อาการ ไปจนถึงการดูแลสุขภาพเท้า

4 เรื่องต้องรู้เมื่อเบาหวานลงเท้า ดูแลไม่ดีอาจเสี่ยงตัดขา

4 เรื่องต้องรู้เมื่อเบาหวานลงเท้า

อาการเบาหวานลงเท้าที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรู้มีหลายเรื่องด้วยกัน บทความนี้ได้สรุปออกมาเป็น 4 หัวข้อ ดังนี้

1. เบาหวานลงเท้าคืออะไร ทำไมต้องตัดขา

ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ตามเกณฑ์ จะส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่ดี และหลอดเลือดแดงที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานจะตีบกว่าคนทั่วไป ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนและสารอาหารน้อยลง เมื่อเกิดบาดแผลจึงหายได้ยากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า

นอกจากนี้ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอย่างต่อเนื่องยังส่งผลให้เส้นประสาทตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอักเสบและเสียหาย โดยเฉพาะบริเวณเท้า ทำให้เท้าชา รับความรู้สึกได้น้อยลง จนอาจเกิดแผลโดยไม่รู้ตัวและไม่รู้สึกเจ็บ ทั้งจากการเหยียบของมีคมที่พื้น เกิดรอยถลอกจากการเดินชนสิ่งของ หรือแม้แต่แผลจากการแห้งแตกของผิวหนังที่เท้าเอง

ด้วยลักษณะอาการเบาหวานลงเท้าทั้งสองข้อนี้ ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงต่อการเกิดแผลติดเชื้อ ซึ่งจะหายยากกว่าบาดแผลปกติและต้องการการรักษาเพิ่มมากขึ้น บางครั้งอาจเกิดแผลลุกลาม เรื้อรัง เกิดภาวะเนื้อตายเน่า (Gangrene) หรือแผลเน่ารุนแรงที่เป็นภาวะฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์ทำได้เพียงรักษาตามอาการไม่ให้ลุกลามไปส่วนอื่น

ในกรณีที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือมีเนื้อตายเน่า แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตัดอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ เช่น นิ้วเท้า เท้า หรือแม้แต่ขาทั้งขา เพื่อป้องกันการลุกลามของแผล รักษาอวัยวะส่วนอื่นที่เหลืออยู่ และรักษาชีวิตของผู้ป่วย

2. อาการเบาหวานลงเท้าเป็นแบบไหน สังเกตได้จากอะไรบ้าง

สัญญาณของอาการเบาหวานลงเท้ามีหลายรูปแบบ เช่น

  • เกิดแผลที่เท้าหรือแผลเป็นหนองโดยไม่รู้ตัว และแผลมักหายช้า
  • เท้าชา เป็นเหน็บ หรือเท้าไม่มีความรู้สึก
  • ผิวหนังที่เท้าสีเข้มขึ้น ผิวหนังที่เท้าด้าน เป็นตาปลา ผิวหนังแห้งแตก โดยเฉพาะตรงส้นเท้า
  • เมื่อสัมผัสที่เท้าจะรู้สึกว่าเท้าอุ่นหรือเย็นกว่าปกติ
  • บวมตามนิ้วเท้า เท้า หรือข้อเท้า
  • ปวดขา ปวดเท้า บางคนอาจมีความรู้สึกที่เท้าน้อยลง ไม่รู้สึกร้อนหรือเย็น
  • เป็นเล็บขบ โดยจะเจ็บบริเวณซอกเล็บ ซอกเล็บอักเสบบวมแดง หรือเล็บติดเชื้อรา ส่งผลให้เล็บหนา มีสีขาวอมเหลือง เล็บเปราะ และหักง่าย
  • เท้ามีกลิ่นเหม็น ล้างเท้าแล้วก็ไม่หาย

หากพบสัญญาณเบาหวานลงเท้า ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อเกิดแผลพุพอง เป็นหนอง เป็นไข้ แผลเน่า มีกลิ่นเน่าเหม็น งอนิ้วเท้าหรือเท้าไม่ได้ เท้าผิดรูปไปจากเดิม และเกิดปัญหาในการเดิน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาการอาจรุนแรงจนต้องตัดขาได้

3. วิธีดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวานทำอย่างไร

การดูแลเท้าอย่างถูกวิธีมีความจำเป็นต่อผู้ป่วยเบาหวาน หรือแม้แต่คนที่สมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน การดูแลเท้าอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันอาการเบาหวานลงเท้าทำได้ดังนี้

  • รักษาความสะอาดของเท้าเป็นประจำ

ผู้ป่วยเบาหวานควรรักษาความสะอาดของเท้าเป็นประจำทุกวัน ทั้งเช้าและเย็น หรือหลังสัมผัสสิ่งสกปรก โดยการอาบน้ำ ล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะตามซอกเล็บหรือซอกนิ้วที่เป็นจุดอับ และซับเท้าและซอกนิ้วให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันความอับชื้นที่ทำให้เกิดเชื้อรา

  • เช็กสุขภาพเท้าทุกวัน

เส้นประสาทของผู้ป่วยเบาหวานทำงานได้ไม่ดี บางครั้งอาจเกิดแผลที่เท้าโดยไม่รู้ตัว จึงควรตรวจดูเท้าเป็นประจำทุกวันว่ามีรอยแผล รอยแห้งแตก อาการบวม หรือความผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่ โดยให้ทำก่อนและหลังทำความสะอาดเท้า

  • ดูแลผิวที่เท้าให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ

ผิวหนังบริเวณเท้าที่แห้งแตก อาจทำให้เกิดบาดแผลขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยเฉพาะส้นเท้า ทุกครั้งหลังล้างเท้าควรหมั่นทาครีมหรือผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนัง เพื่อลดอาการแห้งแตกของผิวบริเวณเท้า ซึ่งอาจนำไปสู่บาดแผลที่เป็นเหมือนช่องทางในการรับเชื้อโรค

  • ตัดเล็บเท้าให้สั้นและตัดให้ถูกวิธี

การตัดเล็บเท้าไม่ใช่ตัดให้สั้นเท่านั้น โดยให้ตัดเป็นแนวตรง ไม่ตัดเว้าตามรูปนิ้วเท้าหรือตัดเข้าไปในซอกเล็บ โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่เท้า เพื่อลดโอกาสการเกิดเล็บขบและเล็บติดเชื้อ นอกจากนี้ ควรใช้กรรไกรตัดเล็บที่สะอาด หากมีปัญหาในการตัดเล็บเท้าหรือเกิดความผิดปกติที่เท้า เช่น มองไม่เห็นเล็บเท้า เท้าไม่มีความรู้สึก เล็บติดเชื้อ หรืออื่น ๆ ควรไปพบแพทย์

  • เลือกขนาดรองเท้าให้พอดี

ควรเลือกขนาดรองเท้าที่ไม่รัดแน่นเกินไป สวมใส่สบาย และสวมถุงเท้าทุกครั้งเมื่อใส่รองเท้าผ้าใบ เพื่อช่วยให้ผิวหนังไม่เสียดสีหรือโดนรองเท้ากัด รวมถึงควรตรวจดูเศษหิน เศษดิน แมลง หรือสิ่งแปลกปลอมก่อนใส่รองเท้าทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลหรือถูกแมลงกัดจนนำไปสู่การเกิดแผลเบาหวานที่เท้า

  • ดูแลตัวเองตามที่แพทย์แนะนำ

การดูแลตัวเองตามที่แพทย์สั่งเป็นสิ่งผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรละเลย ทั้งการใช้ยา การฉีดอินซูลิน การเลือกกินอาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกายเพื่อคุมน้ำหนัก และคำแนะนำอื่น ๆ เพราะวิธีเหล่านี้จะช่วยให้สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยแข็งแรง และอาจช่วยลดความรุนแรงจากโรคเบาหวาน และเบาหวานลงเท้าได้อีกทาง

4. ครีมทาเท้าสำหรับคนเป็นเบาหวาน เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์และตรงจุด

ครีมทาเท้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ลดความหยาบกร้าน ด้านและหนาของผิว ป้องกันผิวแห้งแตก และลดความเสี่ยงของการเกิดแผลได้ด้วย โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการเลือกซื้อครีมทาเท้ามีดังนี้

สารให้ความชุ่มชื้น

สารให้ความชุ่มชื้นจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ทั้งน้ำและกรดไขมัน โดยครีมทาเท้าทั่วไปอาจมีสารให้ความชุ่มชื้นอยู่หลายชนิด เช่น

  • สารกลุ่มออคคลูซีฟ (Occlusive) ปิโตรเลี่ยมเจลลี ช่วยป้องกันน้ำระเหยจากผิวและยังช่วยเคลือบผิว ลดการเสียดสีของผิวหนังกับถุงเท้าหรือรองเท้าด้วย
  • สารแซคคาไรด์ไอโซเมอเรท (Saccharide Isomerate) เป็นสารให้ความชุ่มชื้นในกลุ่มฮิวเมกแตนต์ (Humectant) ที่ช่วยตรึงน้ำไว้ในผิว ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นยาวนาน และอาจลดอาการผิวหนังแห้งแตกลอก ซึ่งอาจส่งผลดีต่อรอยแตกบริเวณส้นเท้าที่ผู้ป่วยเบาหวานมักมีปัญหากัน

ส่วนประกอบอื่น ๆ

นอกจากสารให้ความชุ่มชื้นแล้ว ครีมบางยี่ห้ออาจเติมสารที่มีคุณสมบัติเฉพาะเพื่อเพิ่มคุณภาพของครีม เช่น 

  • โปรวิตามินดี 3 หรือ 7-Dehydrocholesterol สารนี้เป็นกรดไขมันที่พบมากบนผิวหนังชั้นนอก โดยเกิดจากการสังเคราะห์วิตามินดีของร่างกายบริเวณผิวหนัง โดยผลลัพธ์ทางการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กคาดว่าโปรวิตามินดี 3 ในครีมทาผิวอาจช่วยเสริมโครงสร้างของผิวชั้นนอกได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม โปรวิตามินดี 3 ยังมีคุณสมบัติของกรดไขมันที่ช่วยป้องกันน้ำในผิวระเหยออกช่วยให้ผิวชุ่มชื้นได้ยาวนาน
  • สารสกัดจากธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากข้าวสาลี (Wheat Extract) ช่วยเสริมความชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำไว้ในผิว และสารสกัดจากดอกพอร์ทูลาคา (Portulaca Extract) ที่มีงานวิจัยบางส่วนพบว่าอาจช่วยเร่งการสมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น  
  • สารผลัดเซลล์ผิว อย่างสารในกลุ่มกรดเอเอชเอ (Alpha Hydroxy Acids) ที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวหนัง เช่น กรดแลกติก (Lactic acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) และกรดซิตริก (Citric acid) ซึ่งเมื่อใช้เป็นประจำจะช่วยให้ผิวหนังที่หนาและแห้งกร้านนุ่มขึ้น

ชนิดของเนื้อครีม

นอกจากจะเลือกครีมที่มีสารให้ความชุ่มชื้นที่มีประสิทธิภาพแล้ว ควรเลือกเนื้อครีมที่มีเนื้อสัมผัสไม่หนักและไม่เบาจนเกินไป ซึมง่าย สบายผิว และเหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทย รวมถึงควรทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ด้วยการทาครีมที่ข้อพับบริเวณข้อศอกทิ้งไว้ 48–72 ชั่วโมง หากไม่มีอาการระคายเคืองก็สามารถใช้ได้

โดยทั่วไปให้ทาครีมวันละ 2–3 ครั้งหลังทำความสะอาดเท้าหรือตามฉลากแนะนำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังตลอดวัน โดยอาจเน้นบริเวณส้นเท้าที่แห้งแตกได้มากกว่าส่วนอื่น และเลี่ยงการทาครีมที่ซอกนิ้ว เพราะอาจเกิดความอับชื้นจนเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้

นอกจากการดูแลสุขภาพเท้าแล้ว ผู้ป่วยควรใส่ใจกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่อยู่เสมอ ดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ และหากพบสัญญาณของแผลเบาหวานควรไปพบแพทย์ เพื่อสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงของการถูกตัดอวัยวะ ซึ่งส่งผลต่อร่างกาย การใช้ชีวิต และสภาพจิตใจได้ ทั้งหมดนี้ก็คือ 4 เรื่องที่ต้องรู้เมื่อเบาหวานลงเท้า

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 21 กรกฎาคม 2565
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. กิติยา สันติพาณิชย์วงศ์

เอกสารอ้างอิง 

  • Uddin, et al. (2012). Evaluation of Antioxidant Properties and Mineral Composition of Purslane (Portulaca oleracea L.) at Different Growth Stages. 3(8), 10257–10267.
  • National Institutes of Health (2021). Office of Dietary Supplements. Zinc.
  • National Institutes of Health (2017). National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases. Diabetes and Foot Problems.
  • Cleveland Clinic (2021). Diabetes-Related Foot Conditions.
  • Mayo Clinic (2022). Ingrown toenails.
  • Mayo Clinic (2020). Nail fungus.
  • Drugs (2021). Purslane
  • Everydayhealth (2009). Tips for Cutting Your Toenails.
  • Daniela G. Healthline (2019). Everything You Need to Know About Petroleum Jelly.
  • Brunilda, N (2021). WebMD. AHA and BHA for Skin: What to Know
  • WebMD. Diabetic Diapedic Foot Cream - Uses, Side Effects, and More.
  • Michael, D. WebMD (2021). Diabetic Foot Problems.