ถามแพทย์

  • ปวดหัวไมเกรนตลอดเวลามีความเครียดร่วมด้วย รักษาอย่างไร

  •  Num Jan
    สมาชิก
    ปวดไมเกรนบริเวณข้างซ้ายมานานมากหลายปีแล้ว พอมาปีนี้สลับมาเป็นข้างขวาบ้าง แต่ข้างซ้ายเป็นประจำ บางครั้งปวดเบ้าตา แต่ไม่ได้ปวดธรรมดา *รู้สึกได้เลยว่ากระตุกเต้นเหมือนชีพจรตรงขมับถี่มาก เคยกินยามาหลายอย่างทั้งพารา,ไมเกรน,ยาขยายหลอดเลือดในสมอง เพราะมีภาวะเครียดร่วมด้วย ร้องไห้คิดมาก มีโลกส่วนตัวสูง นอนยาก นอนหลับไม่สนิทสักครั้ง มีโรคประจำตัวเป็นโรคกระเพาะด้วย เวลามีประจำเดือนปวดท้องมากๆ ทุกๆเดือน ไม่มีเดือนไหนไม่ปวดเลย มักจะมีอาการคลื่นไส้เมื่อทานอาหารเสร็จทุกครั้ง สายตาแพ้แสงมากเมื่อเจอแสงจ้าๆ รู้ตัวเลยว่าภูมิคุ้มกันตัวเองลดลงเพราะบางครั้งก็มีอาการคัน ผิวหนังแดงไม่มีผื่นขึ้นไม่ทราบสาเหตุ ความจำลดลง เป็นไข้ครั้งล่าสุด ทำเอาหูชั้นกลางอักเสบเลยทีเดียว. กลัวว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า และโรคที่เกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง อยากพบจิตแพทย์และทานยาเพื่อหาทางรักษา อยากจะให้หมอที่ความรู้วิเคราะห์อาการต่างๆ ที่กล่าวมา
    Num Jan  พญ.นรมน
    แพทย์

    สวัสดีค่ะคุณ Num Jan

    การปวดหัวไมเกรนคือปวดหัวที่เกิดจากการทำงานของสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ มักเกิดในผู้หญิงอายุน้อย อาจจะปวดได้ตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรงมาก มักปวดข้างเดียว และมีคลื่นไส้หรือตาพร่าร่วมด้วย มีความสัมพันธ์กับรอบเดือนได้ และอาจสัมพันธ์กับอารมณ์ คือถ้ามีความเครียดความกังวลอาจกระตุ้นให้มีอาการกำเริบได้

    การวินิจฉัยอื่นๆที่เป็นไปได้เช่น ปวดหัวจากการใช้งาน ปวดหัวจากภาวะในสมอง

    การรักษาไมเกรนคือการพักผ่อนและนอนหลับร่วมกับรับประทานยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และลดปัจจัยกระตุ้นต่างๆดังกล่าวไป

    สังเกตอาการ ถ้าปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ ปวดจนต้องตื่นขึ้นมาเพราะปวด คลื่นไส้ อาเจียนมาก มีความผิดปกติของระบบประสาทร่วมด้วยเช่น แขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก หน้าเบี้ยว มองเห็นภาพซ้อน อาจเป็นอาการปวดหัวชนิดอื่นๆที่นอกเหนือไปจากไมเกรน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียดอีกครั้ง อาจพบแพทย์ทั่วไปก่อน หากแพทย์เห็นว่าน่าจะเกี่ยวกับภาวะในสมองจะส่งต่อให้อายุรแพทย์ด้านระบบประสาทหรือถ้าเป็นปวดหัวที่สัมพันธ์กับภาวะทางจิตก็จะส่งต่อให้จิตแพทย์ต่อไป

    การดูแลตัวเองเบื้องต้น นอนหลับพักผ่อนมากๆ ควรนอนในที่สงบ ไม่มีส่ิ่งรบกวน รับประทานยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น (ถ้ามี) ที่ทำให้ปวดมากขึ้น และสังเกตอาการดังกล่าวไป