ไซบูทรามีน ภัยร้ายจากยาลดความอ้วน

ไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคอ้วนหรือโรคอื่นที่มีสาเหตุมาจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป จัดเป็นยาอันตรายที่มีผลข้างเคียงรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก เพิ่มเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น 

ไซบูทรามีนเป็นยาที่มีฤทธิ์รุนแรง ปัจจุบันยานี้เป็นยาผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายในประเทศไทย แต่มักมีการลักลอบนำไปผสมในอาหารเสริมที่ช่วยลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนแล้วนำไปโฆษณาจนเกินความเป็นจริง จึงอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนั้น หากใครกำลังใช้อาหารเสริมหรือสมุนไพรที่ช่วยลดน้ำหนัก ควรศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์และเรียนรู้ถึงวิธีสังเกตอาการที่เกิดจากฤทธิ์ยาชนิดนี้ไว้ เพื่อความปลอดภัย

2480-ไซบูทรามีน

อันตรายของไซบูทรามีน

ไซบูทรามีนจะเข้าไปยับยั้งการหลั่งของสารเคมีภายในร่างกาย ส่งผลให้ไม่อยากอาหารและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว เวียนหัว ปากแห้ง ท้องผูก นอนไม่หลับ คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ อยากอาหาร เวียนศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ไซบูทรามีนเท่านั้น

นอกจากนี้ ยาชนิดนี้ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่น เช่น โรคคลั่งผอม (Anorexia) ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคจิต ภาวะอารมณ์ดีกว่าปกติ (Mania) ภาวะซึมเศร้า และเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น หากพบสัญญาณใดสัญญาณหนึ่งในข้างต้นหรืออาการอื่นหลังจากใช้อาหารเสริมที่ช่วยลดน้ำหนัก ควรไปพบแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ การใช้ไซบูทรามีนอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหากมีโรคประจำตัวและกำลังใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะโรคและยาต่อไปนี้

  • โรคหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคตับ
  • โรคต้อหิน
  • โรคไต
  • ภาวะซึมเศร้า
  • โรคลมชัก
  • ภาวะเลือดไหลผิดปกติ
  • โรคนิ่วในถุงน้ำดี
  • ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
  • โรคไทรอยด์
  • ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงหรือชนิดที่ไม่สามารถควบคุมได้
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาต้านเศร้า ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด ยารักษาไมเกรน ยาเสพติด และยากระตุ้นความอยากอาหาร

นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยานี้เช่นกัน

เลือกอาหารเสริมที่ช่วยลดน้ำหนักอย่างไรให้ปลอดภัย

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ปัจจุบันยานี้ถูกสั่งห้ามนำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทยแม้แต่ในทางการแพทย์ แต่ยังพบการลักลอบใส่ไซบูทรามีนในอาหารเสริมลดน้ำหนักบางยี่ห้อโดยที่ไม่ระบุส่วนผสมและปริมาณของยาชนิดนี้บนบรรจุภัณฑ์ 

เพื่อความปลอดภัย หากต้องการลดความอ้วนควรยึดหลักต่อไปนี้

  • ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นในการใช้อาหารเสริมในการควบคุมน้ำหนัก ซึ่งแพทย์อาจแนะนำวิธีอื่นที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยลดน้ำหนักโดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลัง เป็นต้น
  • แยกระหว่างอาหารเสริมที่ช่วยควบคุมน้ำหนักและยาลดความอ้วน อาหารเสริมที่ช่วยควบคุมน้ำหนักมักเป็นอาหารให้แคลลอรี่ต่ำ ทำให้อิ่มเร็ว อยู่ท้อง ช่วยการควบคุมแคลลอรี่ ไม่ได้มีฤทธิ์ลดน้ำหนักโดยตรง แต่ยาลดความอ้วนมักเป็นการใช้สารเคมี อย่างไซบูทรามีน ยาไทรอยด์ ยาขับปัสสาวะ หรือยาบ้า เพื่อทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติจนทำให้น้ำหนักลด ซึ่งอาจนำไปสู่ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดความอ้วน
  • หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักมาใช้เอง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ตามเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจมีส่วนผสมของไซบูทรามีนหรือสารอันตรายอื่น ๆ ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงอันตรายได้ 
  • หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารเสริมที่มีการโฆษณาเกินจริง เช่น น้ำหนักลด 10 กิโลกรัมภายใน 7 วัน โฆษณาสินค้าด้วยภาพก่อนและหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักผิดกฎหมายและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากไม่ได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนวางจำหน่าย 
  • หากต้องการใช้อาหารเสริมในการช่วยควบคุมน้ำหนักก็ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร ซึ่งสามารถตรวจเลขที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้การรับรองผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุงหรือได้รับผลกระทบจากน้ำหนักตัวที่มากเกิน หากต้องการรักษา ควรไปพบแพทย์ ซึ่งการรักษาอาจเป็นการใช้ยาหรือการผ่าตัดขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค โดยแพทย์จะแนะนำให้คุมอาหารและออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย

สุดท้ายนี้ แม้ว่าปัญหาเรื่องน้ำหนักและสัดส่วนอาจส่งผลต่อทั้งสุขภาพและความมั่นใจในรูปร่าง หลายคนจึงสรรหาวิธีลดน้ำหนักที่รวดเร็วทันใจ แต่เพื่อความปลอดภัย ควรเริ่มต้นจากการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายด้วยตนเองอย่างเหมาะสม หากไม่ได้ผล ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ถึงวิธีการลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ การลักลอบผสม จำหน่าย นำเข้า และส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนมีโทษทางกฎหมาย หากสงสัยว่าอาหารเสริมที่ใช้อยู่มีส่วนผสมของสารอันตรายชนิดนี้สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่เบอร์ 1556