ยาลดความอ้วน ปลอดภัยหรือไม่ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ยาลดความอ้วนเป็นหนึ่งตัวช่วยในการลดน้ำหนักที่หลายคนเลือกใช้ เพราะเชื่อว่าสามารถช่วยให้น้ำหนักลดลงได้เร็ว ซึ่งความจริงแล้วยาลดความอ้วนมีทั้งคุณและโทษ ผู้คิดจะใช้ยาลดน้ำหนักจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับยาเหล่านี้ให้มากขึ้นก่อน เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย และลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยาลดความอ้วนมักเป็นทางเลือกในการลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วน หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้ด้วยวิธีทั่วไปได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาลดความอ้วนควบคู่กับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำหนักมากที่สุด 

ยาลดความอ้วน

ตัวอย่างกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาลดความอ้วน มีดังนี้

  • ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่า 30
  • ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่า 27 และมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนโดยตรง ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง ภาวะคอเลสเตอรอลสูง โรคหัวใจ ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 

ทั้งนี้ แพทย์จะเลือกชนิดยาที่ใช้โดยพิจารณาจากประวัติสุขภาพและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา หรือปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาลดความอ้วนร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยใช้อยู่

รู้จักชนิดของยาลดความอ้วน

ในปัจจุบันยาลดความอ้วนที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายแบ่งออกเป็นหลายชนิดและบางครั้งถูกจัดให้เป็นยาชุดในการลดน้ำหนักด้วย เช่น

ยาลดความอยากอาหาร
ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ ยาเฟนเตอมีน (Phentermine) มีคุณสมบัติในการออกฤทธิ์กับประสาทส่วนกลาง ช่วยลดความอยากอาหาร เป็นยาที่ใช้ร่วมกับการออกกำลังกาย และควบคุมอาหารในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และภาวะคอเลสเตอรอลสูง 

โดยยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เพราะยามีลักษณะเป็นสารกระตุ้นคล้ายตัวยาแอมเฟตตามีน (Amphetamine) อีกทั้งยังจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ฉะนั้นในการใช้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ยาฮอร์โมนไทรอยด์
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะพร่องไทรอยด์ แพทย์จะสั่งใช้ยาฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานได้มากยิ่งขึ้น แต่ก็มีผลข้างเคียงมาก เพราะอาจทำให้น้ำหนักในส่วนของกล้ามเนื้อลดลงมากผิดปกติ และมีผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้

ยาขับปัสสาวะ
ยาขับปัสสาวะเป็นยาที่ช่วยลดน้ำหนักของน้ำในร่างกายโดยผ่านทางการปัสสาวะ แต่ไม่สามารถลดไขมันหรือแคลอรีในร่างกายได้ และอาจทำให้ร่างกายขาดเกลือแร่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ยาออลิสแตท (Orlistat)
ยาออลิสแตทเป็นยาที่มีคุณสมบัติในการบล็อกไขมันจากอาหารที่รับประทานเข้าไปในร่างกาย ไม่ให้ร่างกายดูดซึมไขมันเหล่านั้นเข้าไปสะสมในร่างกายเพิ่ม ถือเป็นยาที่ช่วยในการลดน้ำหนักได้ และลดความเสี่ยงภาวะโยโย่ได้อีกด้วย แต่จะต้องใช้ร่วมกับการรับประทานอาหารที่ควบคุมแคลอรีด้วยจึงจะได้ผลดี ยาชนิดนี้สามารถใช้ได้ในผู้ใหญ่เท่านั้น

ยาลอร์คาเซริน (Lorcaserin)
ยาลอร์คาเซรินเป็นยาที่ใช้ร่วมกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย โดยยาจะส่งผลต่อสัญญาณทางเคมีที่ควบคุมความอยากอาหาร ช่วยให้ผู้ที่ใช้ยานี้รู้สึกอิ่มเร็ว และรับประทานอาหารได้น้อยลง ในบางกรณียาลอร์คาเซรินอาจใช้กับผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และภาวะคอเลสเตอรอลสูง 

ยาเฟนเตอมีนและยาโทพิราเมท ชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Phentermine และ Topiramate-extended Release)
เป็นยาที่มีส่วนประกอบของยา 2 ชนิดที่ใช้เพื่อควบคุมความอยากอาหาร โดยกลไกการทำงานของยาชนิดนี้จะส่งผลต่อสัญญาณทางเคมีในสมอง และระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ต้องใช้ร่วมกับการออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วย

ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
ยาชนิดนี้ไม่ใช่ยาลดน้ำหนัก แต่ช่วยลดผลข้างเคียงของยาชนิดอื่นต่อการทำงานของกระเพาะอาหาร ด้วยการลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้ผู้ใช้ยาลดความอ้วนเสี่ยงต่อโรคกระเพาะน้อยลง

ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ
โดยส่วนใหญ่แล้วยากลุ่มนี้จะช่วยรักษาโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะและโรคความดันโลหิตสูง แต่ที่นำมาใช้ร่วมกับยาลดความอ้วนก็เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดความอยากอาหารหรือยาฮอร์โมนไทรอยด์ แต่ก็มีผลข้างเคียง เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ

ยานอนหลับ
ยานอนหลับใช้เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในกลุ่มยาลดความอยากอาหารที่มีฤทธิ์กดประสาท แต่เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะหากใช้มากเกินไปอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

อาหารเสริม (Dietary Supplements)
อาหารเสริมและสมุนไพรที่ใช้ในการลดน้ำหนักมักมีคุณสมบัติในการช่วยให้ร่างกายสามารถเผาผลาญได้ดีขึ้น แต่ไม่สามารถช่วยลดน้ำหนักได้โดยตรง อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาว่ายาเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพและปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งก่อนที่จะนำมาวางจำหน่ายได้ จะต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ยามีส่วนประกอบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

วิธีใช้ยาลดความอ้วนอย่างปลอดภัย

ยาลดความอ้วนยาตามใบสั่งแพทย์ถือเป็นยาลดความอ้วนที่มีความปลอดภัย เพราะก่อนที่แพทย์จะสั่งยาให้กับผู้ป่วย แพทย์จะต้องศึกษาถึงประโยชน์และผลข้างเคียงจากการใช้ยาแล้วเป็นอย่างดี อีกทั้งหากใช้ร่วมกับการออกกำลังกายและการควบคุมอาหารก็จะช่วยให้การลดน้ำหนักเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

วิธีที่ดีที่สุดในการใช้ยาลดความอ้วนคือปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพื่อให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาและแนะนำวิธีการใช้ยา โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและผู้ที่ต้องรับประทานยาอื่น ๆ ตามใบสั่งแพทย์ เพราะการใช้ยาเองอาจส่งผลกระทบต่อยาที่รับประทานอยู่ และอาจทำให้อาการป่วยที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นได้

ซึ่งเมื่อแพทย์สั่งให้ใช้ยาลดความอ้วนแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ใช้ยาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายให้มากขึ้น จากนั้นแพทย์และนักโภชนาการจะร่วมกันติดตามผลสัมฤทธิ์ในการลดน้ำหนัก และหากพบว่าผู้ใช้ยามีข้อจำกัดบางอย่างในการใช้ยา ทั้งตัวแพทย์และผู้ใช้ยาอาจต้องปรึกษาและเปรียบเทียบกันระหว่างความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับประโยชน์ที่จะได้รับ

ยาลดความอ้วนจะส่งผลดีกับผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 30 หรือผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 27 และมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักโดยตรง เพราะนอกจากจะช่วยในเรื่องการลดน้ำหนักแล้วก็ยังช่วยควบคุมปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ด้วย เช่น ช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับไขมันในเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มความต้านทานของอินซูลิน

การใช้ยาลดความอ้วนในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์

ยาลดความอ้วนเป็นยาที่ห้ามใช้ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรโดยเด็ดขาด เพราะภาวะน้ำหนักขึ้นมากกว่าเกณฑ์ปกติในช่วงตั้งครรภ์จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย โดยอาจเกิดจากความผิดปกติอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวานหรือภาวะครรภ์เป็นพิษ

อีกทั้ง ยาลดความอ้วนอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และยิ่งทำให้การทำงานของหัวใจที่ผิดปกติในช่วงตั้งครรภ์รุนแรงขึ้น สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร การใช้ยาอาจทำให้สารบางอย่างในยาตกค้างในน้ำนม และทำให้เด็กทารกได้รับสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน

การใช้ยาลดความอ้วนโดยที่ไม่ออกกำลังกาย

การรับประทานยาลดความอ้วนเพียงอย่างเดียวโดยไม่ออกกำลังกายหรือควบคุมอาหารอาจไม่สามารถช่วยให้ลดน้ำหนักได้เพราะยาชนิดนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดน้ำหนักโดยตรง แต่ต้องมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยจึงจะช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ นอกจากนี้ ในกรณีที่น้ำหนักเกินมาก ๆ จนทำให้รูปร่างเปลี่ยน การออกกำลังกายร่วมกับการใช้ยาลดความอ้วน จะช่วยให้รูปร่างกับมากระชับได้ไวขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น หากลดน้ำหนักด้วยยาลดความอ้วน ก็ควรใช้ยาควบคู่กับวิธีอื่นเพื่อให้การลดน้ำหนักเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากสามารถลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมายแล้ว ผู้ใช้ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการหยุดยาและไม่ควรหยุดยาด้วยตนเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างอันตราย 

โดยแพทย์อาจลดปริมาณยาหรือเปลี่ยนยาที่ใช้ และเพิ่มการออกกำลังกาย รวมถึงการควบคุมอาหารอย่างสม่ำเสมอให้มากขึ้นเพื่อป้องกันการกลับมาสู่ภาวะน้ำหนักเกินอีกครั้งในภายหลัง

อันตรายจากยาลดความอ้วนที่ควรระวัง

การใช้ยาลดความอ้วนอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคนเสมอไป เพราะหากใช้อย่างไม่ระมัดระวังก็จะส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ ผลข้างเคียงที่มักพบในการใช้ยาลดความอ้วน ได้แก่

  • อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น
  • ความดันโลหิตสูงขึ้นผิดปกติ
  • นอนไม่หลับ
  • วิตกกังวล
  • ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการอ่อนแรง
  • ลิ้นเปลี่ยนรส หรือรู้สึกถึงรสโลหะภายในปาก
  • ปากแห้ง
  • มีอาการชาตามผิวหนัง
  • คลื่นไส้ ท้องเสีย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร
  • เป็นตะคริวที่ท้อง
  • มีปัญหาที่ตับ

นอกจากนี้ยาลดความอ้วนบางชนิดก็อาจมีผลข้างเคียงเฉพาะซึ่งอาจพบได้ ดังนี้

ยาออร์ลิสแตท (Orlistat)
ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ระบบย่อยอาหาร เช่น อุจจาระมีคราบไขมัน หรือมีอาการคล้ายท้องเสีย เนื่องจากยาชนิดนี้จะบล็อกไขมันจากระบบย่อยอาหาร และกำจัดออกมาทางอุจจาระ ทำให้อุจจาระมีลักษณะที่เปลี่ยนไป 

นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่น ๆ เช่น ท้องอืดหรือลำไส้แปรปรวนได้ จึงทำให้ยาชนิดนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องการดูดซึมสารอาหารของร่างกาย ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือ หรือยาต้านเกล็ดเลือด และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของน้ำดีจากตับ

ยาลอร์คาเซริน (Lorcaserin)
ผลข้างเคียงที่อาจพบคือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ปากแห้ง ท้องผูก ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 10 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน

ยาเฟนเตอมีน (Phentermine)
อาจทำให้เกิดความภาวะความดันโลหิตสูง อัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ นอนไม่หลับ วิตกกังวล อยู่ไม่สุข และอาจเกิดการเสพติดได้หากใช้ในระยะยาว

ยาเฟนเตอมีนและยาโทพิราเมท ชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Phentermine และ Topiramate-extended Release)
อาจมีอาการข้างเคียง เช่น มีอาการเหน็บชาตามปลายมือและเท้า วิงเวียนศีรษะ ลิ้นเปลี่ยนรส นอนไม่หลับ ท้องผูก และปากแห้ง

ทั้งนี้ ยาเฟนเตอร์มีนเป็นยาที่ควรใช้ในระยะสั้นไม่เกิน 12 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายได้ ส่วนยาออร์ลิสแตทสามารถใช้ได้ในระยะยาวหรือจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุด อย่างไรก็ตาม ยาลดความอ้วนที่ไม่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา หรือยาลดความอ้วนที่ขายนอกร้านขายยา อาจทำให้เกิดอาการไม่พึ่งประสงค์ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดีย