ไข้หวัดหมู

ความหมาย ไข้หวัดหมู

ไข้หวัดหมู (Swine Flu) เป็นการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ โดยมักเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอชนิด H1N1 ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ และมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้สูง น้ำมูกไหล เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดหมูส่วนมากไม่สามารถแพร่กระจายไปสู่คนได้ แต่หากมีการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับหมูที่ติดเชื้อก็อาจได้รับเชื้อได้เช่นกัน แต่โรคนี้มักติดต่อจากคนสู่คนมากกว่าการติดเชื้อจากหมูโดยตรง

1693 ไข้หวัดหมู resized

อาการของไข้หวัดหมู

อาการของไข้หวัดหมูนั้นคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยมักแสดงอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 1-3 วัน โดยอาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • มีไข้สูง หนาวสั่น น้ำมูกไหล
  • ตาแดง น้ำตาไหล
  • เจ็บคอ คอแห้ง
  • ไอ จาม
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลีย

อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่แล้วติดเชื้อนี้และมีอาการเพียงเล็กน้อยก็อาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวในขณะตั้งครรภ์หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรังก็ควรไปพบแพทย์ เช่น โรคเบาหวาน โรคหืด โรคหัวใจ เป็นต้น เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากอาการไข้ได้สูง

สาเหตุของไข้หวัดหมู

โรคไข้หวัดหมูเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (Type A Influenza Virus) โดยสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุด คือ H1N1 และสายพันธุ์อื่นที่พบได้ คือ H3N2 โดยระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ที่ระหว่าง 1-4 วัน หรือไปจนถึง 7 วันในผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุ

โดยทั่วไป การติดเชื้อจะเกิดในหมูและมักไม่แพร่กระจายไปสู่คน แต่สัตว์เหล่านี้ก็สามารถแพร่เชื้อแก่คนได้หากมีการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับคน อีกทั้งเชื้อไวรัสนี้ยังสามารถแพร่กระจายจากคนไปสู่คนผ่านทางน้ำลายหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อแล้วทำให้เชื้อเข้าสู่เยื่อบุตาหรือจมูก แต่เชื้อจะไม่ติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุก

แม้โรคนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่บุคคลบางกลุ่มก็อาจเสี่ยงเป็นไข้หวัดหมูได้สูงกว่าปกติ เช่น

  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • หญิงตั้งครรภ์ หรือมีประวัติเคยแท้งบุตร
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหืด โรคตับ หรือโรคไต เป็นต้น
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน โดยมีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 40 ขึ้นไป
  • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี และรับประทานยาแอสไพรินเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการใช้ยาบางชนิดหรือติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีเชื้อไข้หวัดหมูแพร่ระบาด โดยเฉพาะอยู่ในบริเวณที่มีผู้คนจำนวนมาก
  • เกษตรกรที่เลี้ยงหมู หรือสัตวแพทย์ที่ใกล้ชิดและสัมผัสกับหมู

การวินิจฉัยไข้หวัดหมู

หากผู้ป่วยมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคไข้หวัดหมูก็ควรดูแลตนเองและไปพบแพทย์ โดยแพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีดังนี้

  • ซักประวัติ แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เพื่อพิจารณาปัจจัยเสี่ยงและความเป็นไปได้ในการติดเชื้อ เช่น เคยใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดหมูมาก่อนหรือไม่ เคยเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้หรือไม่ เป็นต้น
  • เก็บตัวอย่างเชื้อในระบบทางเดินหายใจ แพทย์จะเก็บตัวอย่างของเหลวภายในจมูกและคอ เพื่อนำไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพราะไข้หวัดหมูนั้นมีอาการใกล้เคียงกับอาการของไข้หวัดใหญ่ การเก็บตัวอย่างเชื้อไปส่งตรวจจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้ทราบชนิดของไวรัสที่ติดเชื้อ

การรักษาไข้หวัดหมู

ผู้ป่วยทั่วไปที่มีอาการไม่รุนแรงนั้นไม่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการดูแลตนเองที่บ้าน แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

การบรรเทาอาการด้วยตนเอง หากผู้ป่วยไม่มีอาการรุนแรงก็อาจดูแลตนเองได้โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และรับประทานยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยา เช่น หากมีไข้อาจรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ หรือในกรณีที่มีอาการไออาจรับประทานยาแก้ไอตามคำแนะนำของเภสัชกร เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์ หากดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงกว่าเดิม ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรับประทานยาต้านไวรัส เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เช่น ยาซานามิเวียร์ ยาโอเซลทามิเวียร์ เป็นต้น โดยมักใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง

ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดหมู

ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงหรือได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมอาจเสี่ยงเผชิญภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ วัยรุ่น รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนอาจรุนแรงกว่าเดิมหากผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือร่างกายอ่อนแอ

โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังป่วยด้วยไข้หวัดหมู ได้แก่

  • ปอดบวม
  • อาการทางประสาท เช่น รู้สึกมึนงงหรือมีอาการชัก เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคหืดอาจมีอาการกำเริบ
  • ภาวะหายใจล้มเหลว

การป้องกันไข้หวัดหมู

การป้องกันไข้หวัดหมูสามารถทำได้ ดังนี้

  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดหมู โดยสามารถเริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วัยเด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ยกเว้นผู้ที่มีข้อยกเว้นอื่น ๆ ซึ่งวัคซีนนี้สามารถป้องกันได้ทั้งไวรัสสายพันธุ์เอและบี อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลและการเกิดโรคดังกล่าวได้ประมาณ 40-60 เปอร์เซ็นต์ และการรับวัคซีนก็เป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ด้วย
  • ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ และรักษาสุขอนามัยพื้นฐานของร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสปาก จมูก และตา โดยเฉพาะหลังจากจับสิ่งสกปรกมา
  • ปิดปากเมื่อไอหรือจาม ซึ่งอาจใช้ทิชชู่แทนการใช้มือ เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนอยู่บนมือ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก อยู่อย่างแออัด หรือพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรค
  • หากป่วยเป็นไข้ ควรพักอยู่บ้านอย่างน้อย 24 ชั่วโมงให้อาการดีขึ้นและให้ไข้ลดลง
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และลดโอกาสในการติดเชื้อ