ไขข้อสงสัย ฟันตกกระเกิดจากอะไร รักษาหรือป้องกันได้หรือไม่

ฟันตกกระ (Dental Fluorosis) เป็นภาวะผิดปกติเกี่ยวกับฟัน โดยลักษณะอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นอยู่กับความรุนแรง หากอาการไม่รุนแรงอาจพบเพียงรอยสีขาวขนาดเล็กกระจายอยู่บนชั้นเคลือบฟันเท่านั้น แต่หากอาการรุนแรงอาจพบรอยสีเหลืองคล้ำ หรือพบรอยหลุมขรุขระบนชั้นเคลือบฟันได้

ฟันตกกระเป็นภาวะที่มักเริ่มเกิดในช่วงวัยที่ร่างกายเริ่มสร้างฟันหรือช่วงอายุก่อน 8 ปี โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะฟันตกกระมักพบอาการเพียงเล็กน้อย และไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ที่รุนแรงต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีลักษณะอาการของภาวะฟันตกกระอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติอื่นที่ควรได้รับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมโดยทันตแพทย์ 

บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับฟันตกกระที่ควรรู้ ทั้งสาเหตุ การรักษา และการป้องกัน มาให้ได้ศึกษาและทำความเข้าใจกัน

ไขข้อสงสัย ฟันตกกระเกิดจากอะไร รักษาหรือป้องกันได้หรือไม่

สาเหตุของฟันตกกระ

ฟันตกกระเป็นภาวะที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณมากเกินพอดีติดต่อกันเป็นระยะเวลานานในช่วงที่ร่างกายกำลังสร้างฟัน ส่งผลให้กระบวนการสร้างชั้นเคลือบฟันผิดปกติจนเกิดเป็นรอยจุดสีขาวบริเวณชั้นเคลือบฟัน หรืออาจเกิดรอยสีน้ำตาลและรอยขรุขระบนผิวฟันในกรณีที่รุนแรง โดยแหล่งของฟลูออไรด์ที่มักได้รับคือ น้ำดื่ม ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก และผลิตภัณฑ์เสริมฟลูออไรด์ 

ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้วฟลูออไรด์จัดเป็นสารที่ดีต่อสุขภาพฟัน ทั้งช่วยป้องกันฟันผุและมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างฟันแท้ของร่างกาย แต่ด้วยปัจจัยบางอย่างอาจส่งผลให้เด็กได้รับปริมาณฟลูออไรด์ที่มากเกินไปได้ เช่น การกลืนยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนผสม การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมฟลูออไรด์ในปริมาณที่เกินความต้องการของร่างกาย หรือการดื่มน้ำดื่มที่มีปริมาณฟลูออไรด์สูง เป็นต้น

ฟันตกกระรักษาได้หรือไม่

ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง ทันตแพทย์มักไม่จำเป็นต้องทำการรักษาภาวะฟันตกกระ หรืออาจเพียงใช้วิธีฟอกสีฟันเท่านั้น ส่วนกรณีรุนแรงที่ทันตแพทย์เห็นว่าต้องทำการรักษา วิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วย เช่น

  • การขัดชั้นเคลือบฟันด้านนอก (Microabrasion) 
  • การใช้สารเคลือบฟัน (MI Paste) ที่มีส่วนผสมของแคลเซียมฟอสเฟตทาบริเวณฟัน
  • การใช้วัสดุเรซินอุดผิวเคลือบฟัน (Dental Bonding)
  • การเคลือบฟันเทียม (Veneer) ฟันหน้า
  • การครอบฟัน (Crowns)

วิธีป้องกันฟันตกกระ

เนื่องจากฟลูออไรด์เป็นสารที่พบได้ในน้ำดื่ม คุณพ่อคุณแม่ควรประเมินปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มที่ลูกดื่ม โดยอาจปรึกษาทันตแพทย์หรือสอบถามสำนักทันตสาธารณสุขเพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร

หากพบว่าในน้ำดื่มมีปริมาณฟลูออไรด์ที่ค่อนข้างสูง ให้ต้มน้ำหรือใช้เครื่องกรองน้ำก่อนนำมาดื่มเพื่อป้องกันไม่ให้บุตรหลานได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป 

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรระวังการได้รับฟลูออไรด์จากยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปากด้วยเช่นกัน เนื่องจากเด็กบางคนมักมีพฤติกรรมกลืนยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก โดยผู้ปกครองอาจเลือกซื้อยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีรสชาติไม่หวาน และคอยให้บุตรหลานบ้วนยาสีฟันทิ้งบ่อย ๆ

ทั้งนี้ แม้ลักษณะอาการอาจจะดูไม่รุนแรง แต่ภาวะฟันตกกระมักส่งผลให้ผิวเคลือบฟันของผู้ป่วยไม่แข็งแรง ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการสูญเสียชั้นเคลือบฟัน เกิดฟันผุได้ง่าย รวมถึงอาจส่งผลเสียต่อกระดูกอย่างรุนแรงได้ในระยะยาว

อีกทั้งอาการต่าง ๆ จากภาวะฟันตกกระยังอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นได้ด้วย ทั้งภาวะขาดวิตามินดี ภาวะขาดวิตามินเอ และภาวะขาดโปรตีน หากพบว่าบุตรหลานหรือตนเองมีลักษณะดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ