โรคเมอร์ส

ความหมาย โรคเมอร์ส

โรคเมอร์ส (MERS) เป็นคำย่อของโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome: MERS) จากการติดเชื้อไวรัส โคโรนาไวรัส (Corona Virus) จึงเรียกได้อีกชื่อว่าโรคเมอร์ส โควี (MERS-CoV) ซึ่งการติดเชื้อครั้งแรกเกิดขึ้นที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเมื่อปี พ.ศ. 2555

โรคเมอร์ส

เชื้อโคโรนาไวรัสมีหลากหลายสายพันธุ์ย่อย บางชนิดอาจไม่เป็นอันตราย แต่บางชนิดก็อาจก่อให้เกิดโรคกับคนตั้งแต่เล็กน้อยไปจนรุนแรงมาก เช่น เชื้อที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัด โรคซาร์สหรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS)

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ตามข้อมูลสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางทั้งสิ้น 3 รายในประเทศไทย ตั้งแต่เกิดการระบาดครั้งแรกมาจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 โดยทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขยังจัดโรคเมอร์สเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความเมื่อพบผู้ป่วย

อาการของโรคเมอร์ส

อาการของโรคจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ความรุนแรงจะมีอยู่หลากหลายระดับ ตั้งแต่ไม่มีอาการไปถึงรุนแรงจนอาจเสียชีวิต โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการ ดังนี้

  • เป็นไข้
  • ไอ หรือไอปนเลือด
  • หายใจได้ลำบาก หายใจตื้น
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • รายที่เป็นรุนแรง มักมีอาการของโรคปอดบวมหรือระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง มักจะพัฒนาอาการของโรคได้รุนแรงมากกว่าคนปกติ ควรพบแพทย์หากเป็นผู้ที่มีอาการข้างต้นภายใน 14 วันหลังกลับจากประเทศที่เป็นแหล่งระบาดของโรคหรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

สาเหตุของโรคเมอร์ส

เมอร์สเป็นโรคติดต่อในกลุ่มระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรงที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะมาจากสัตว์ เพราะมีรายงานพบเชื้อไวรัส โคโรนาไวรัส ในอูฐและค้างคาว ซึ่งเชื้อนี้สามารถแพร่กระจายไปสู่คน และติดต่อไปสู่ผู้อื่นเมื่ออยู่ใกล้ชิดกันหากไม่มีการป้องกัน โดยอยู่ในระยะไม่เกิน 2 เมตร อยู่ภายในห้องหรือบริเวณเดียวกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อ ทั้งนี้ การติดเชื้อไม่ได้ติดต่อกันทั่วไปได้ง่าย ส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ บุคคลในครอบครัว หรือผู้ที่ต้องคลุกคลีกับผู้ป่วยจนสัมผัสโดนสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยผ่านทางการไอหรือจาม  

ยังสรุประยะฟักตัวของโรคได้ไม่แน่นอน ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงประมาณ 2-14 วันหลังการสัมผัสเชื้อไปจนถึงช่วงแสดงอาการ แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5 วัน ซึ่งการแพร่กระจายมักจะอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นหลัก เช่น ซาอุดิอาระเบีย โอมาน กาตาร์ จากนั้นจึงแพร่กระจายไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา ยุโรป เอเชีย และอเมริกา

การวินิจฉัยโรคเมอร์ส

สิ่งสำคัญในการวินิจฉัยโรคเมอร์สจะเป็นการซักประวัติในการสัมผัสโรคของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศในตะวันออกกลางหรือสัมผัสกับผู้ที่มีอาการต้องสงสัยของโรคหลังกลับจากพื้นที่ระบาดภายในช่วง 14 วัน จากนั้นแพทย์มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2 แบบ เพื่อช่วยยืนยันผลการติดเชื้อก่อนการสรุปผล

  • การตรวจสารพันธุกรรมด้วยวิธีพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction: PCR) สามารถตรวจพบเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเก็บตัวอย่างเชื้อจากการส่งตรวจซีรัม (Serum) สารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ หรืออุจจาระ
  • การตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา (Serology) การตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อหรือแอนติบอดีจากตัวอย่างเลือดด้วยวิธี Elisa (Enzyme-linked Immuno Sorbent Assay) เพื่อคัดกรองในครั้งแรก จากนั้นจะทดสอบอีกครั้งด้วยวิธี IFA (Immunofluorescent Assay) เพื่อยืนยันผล หากผู้ป่วยติดเชื้อจะทำให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะเชื้อโคโรนาไวรัส จึงสามารถตรวจพบได้ในสารคัดหลั่งของร่างกาย

การรักษาโรคเมอร์ส

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาเฉพาะสำหรับโรคเมอร์ส แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก และแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาโอเซลทามิเวียร์ในระหว่างช่วงที่รอผลการตรวจ นอกจากนี้ ยังมีการทดลองใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน อัลฟาทูบี ร่วมกับยาไรบาไวรินในบางกลุ่ม แต่ยังไม่ทราบผลที่แน่ชัดและเป็นช่วงกำลังพัฒนาตัวยา

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเมอร์ส

เมอร์สเป็นโรคติดต่อในกลุ่มระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรงที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคปอดบวมและไตวาย รวมไปถึงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในรายที่มีอาการรุนแรง ซึ่งอัตราการเสียชีวิตตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าจะมีผู้ป่วยเสียชีวิต 3-4 คนจากจำนวนผู้ป่วยใน 10 คน โดยมักมีสาเหตุมาจากโรคหรือปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่

การป้องกันโรคเมอร์ส

การป้องกันและควบคุมโรคสามารถทำได้โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำเมื่อจับสิ่งสกปรก ก่อน-หลังการรับประทานอาหาร หรือสิ่งของในที่สาธารณะ
  • ใช้ทิชชู่ปิดปากเมื่อมีการไอหรือจาม
  • หลีกเลี่ยงการนำมือที่สกปรกมาสัมผัสโดนบริเวณตา จมูก ปาก
  • ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกันหรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น ใช้อุปกรณ์การรับประทานอาหาร การจูบ
  • เลือกรับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกหรือฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว
  • ผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่มีการระบาดหรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อควรล้างมือบ่อย ๆ หลังการสัมผัสกับสัตว์หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อ รวมไปถึงเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงให้สุกหรือฆ่าเชื้อก่อน